ใครที่กำลังสนใจการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นกีฬาที่ไม่มีอุปกรณ์อะไรยุ่งยาก หรือไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะที่ลึกมากนักเมื่อเทียบกับกีฬาอย่างอื่น ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับนักวิ่งมือใหม่ก็คือ "การฝึกซ้อม" ที่หลายคนมักจะมีความคิดหรือพฤติกรรมบางอย่างในการวิ่ง ซึ่งความจริงแล้ว มันเป็นขั้นตอนการฝึกซ้อมที่ผิด!! ลองมาดูกันว่าคุณกำลังทำแบบนี้อยู่หรือไม่ และถ้าใช่ คุณควรจะต้องปรับปรุงขั้นตอนการวิ่งอย่างไรเพื่อให้การออกกำลังกายนี้เกิดผลลัพธ์ที่ดีสำหรับตัวเอง มาดูกันเลย!!
1. ซ้อมหนักและเร่งตัวเองเกินไป
กิจกรรมการวิ่ง ถือเป็นสิ่งที่ใช้ร่างกายหนักพอสมควร ซึ่งการวิ่งให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ปัจจัยทุกอย่างต้องสอดคล้องไปพร้อมๆ กัน ทั้งสภาพร่างกาย การวอร์มอัพที่ถูกต้อง การกำหนดแผนซ้อมที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงการวอร์มดาวน์ และการพักผ่อน นักวิ่งหลายคนมุ่งเป้าไปที่ความต้องการที่จะพัฒนาขึ้นเร็วๆ จนทำให้เร่งรีบซ้อมหนักหรือเร่งรัดตัวเองมากไป อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งทำให้การพัฒนาของนักวิ่งหยุดชะงัก นั่นไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน
2. มองภาพสั้น เน้นแค่การวิ่งให้เร็วขึ้น
แน่นอนว่านักวิ่งสายแข่งขัน ย่อมต้องการฝึกซ้อมให้หนักเพื่อจะทำเวลาในการแข่งให้ได้ผลงานและสถิติที่ดีขึ้น นักวิ่งจึงโฟกัสไปที่การฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มความเร็วเพียงอย่างเดียว แต่การซ้อมวิ่งเร็วนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกสภาพอากาศหรือทุกคน โดยส่วนใหญ่ ถ้าหากเป็นช่วงอากาศร้อน การฝึกวิ่งเร็วจะทำให้เราเหนื่อยง่ายกว่าในวันธรรมดา อีกทั้งถ้าสภาพพื้นที่ฝึกไม่เอื้ออำนวย การวิ่งเร็วของเราก็จะทำได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งกูรูนักวิ่งหลายท่าน ลงความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าเอาความเร็วในการวิ่งเป็นตัวตั้ง แต่ให้ความเร็วเป็นเพียงผลลัพธ์ต่อมาดีกว่า
3. พักไม่เพียงพอในช่วงฟื้นฟูร่างกาย
ต่อให้คุณเป็นมนุษย์เหล็กแค่ไหน ก็ต้องมีวันที่พักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพักจากการซ้อมหนัก หรือพักฟื้นหลังจากผ่านงานวิ่งมาหมาดๆ ก็ตาม แต่หลายๆ คนก็อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า
“เราพักขนาดนี้ ถือว่าพอหรือยัง? ทำไมเพื่อนที่ไปวิ่งงานเดียวกับเรา พักแค่วันสองวันก็มาซ้อมวิ่งต่อได้เลย ถ้าอย่างนั้นเราไปวิ่งได้แล้วสิ?” นั่นถือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะสภาพร่างกายของคนเรานั้นมีหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไป เช่น อายุ กล้ามเนื้อ และระยะเวลาในการที่ร่างกายจะฟื้นตัว โดยให้คุณลองสังเกตสิ่งที่ร่างกายสื่อออกมา เช่น ระหว่างซ้อม ระบบการหายใจของคุณยังไม่เป็นปกติ รู้สึกไม่สบายตัว หรือทำผลงานได้ต่ำลง ก็ไม่มีเหตุผลที่คุณต้องฝืนซ้อมต่อไป นั่นร่างกายฟ้องออกมาแล้วว่าคุณยังพักไม่พอ
4. เพิ่มระยะทางลงแข่งเร็วเกินไป
นี่ก็ถือเป็นความคาดหวังอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนตั้งเป้าหมายไว้ ว่าจะต้องลงวิ่งฟูลมาราธอนให้เร็วที่สุด แต่การวิ่งฟูลมาราธอนนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ถ้าคุณวิ่งระยะฮาล์ฟได้แบบสบายๆ ก็ไม่ผิดที่คุณจะวางแผนว่าครั้งต่อไปจะลงวิ่งฟูลมาราธอน แต่อย่าลืมว่าระยะทางมันห่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งคุณไม่ควรเร่งตัวเองอย่างที่สุด ค่อยๆ ฝึกซ้อมเพิ่มระยะทีละนิด ซึ่งมันอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่การเริ่มต้นและเดินทางอย่างระมัดระวังก็จะให้ผลที่คุ้มค่ากว่ามากแน่นอน
5. จัดตารางซ้อมวิ่งทันทีหลังฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ
บางคนอาจจะคิดว่า แค่เจ็บแค่เล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องพักนานนักก็ได้ แต่นี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง อาการบาดเจ็บของนักกีฬา ถ้าเจ็บในแต่ละครั้งแล้วไม่ได้รับการฟื้นฟูที่ถูกต้อง และยังไม่หายสนิทดีแต่ฝืนมาซ้อมเต็มที่ ก็จะกลายเป็นอาการเจ็บสะสม ซึ่งไม่ส่งผลดีในระยะยาวอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก :
goodsportsthailand.com
www.runnersworld.com