เพราะการนอนหลับ คือช่วงเวลาสำคัญที่เราจะได้หยุดพัก ฟื้นฟู และปรับสมดุลต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งการนอนถือเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี และสมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก ได้กำหนดให้
วันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 2 เต็มสัปดาห์ของเดือนมีนาคมทุกปี เป็น
วันนอนหลับโลก (World Sleep Day) ซึ่งในปี 2561 นี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2560
โดยกิจกรรมวันนอนหลับโลกนี้ถูกจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2008 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนบนโลกหันมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับ ให้ตระหนักถึงการนอนที่เพียงพอ ให้ทุกส่วนในร่างกายได้หยุดพัก ซ่อมแซม ปรับสมดุล และฟื้นฟูส่วนต่างๆ ของร่างกายและสมอง
ใน 1 วัน คนเราควรใช้เวลาในการนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี
อย่างที่เราถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่าต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมฟื้นฟูสมองและร่างกาย แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่ต้องนอนให้ถึง 8 ชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพเพียงพอ ถ้าหากเราอยากรู้ว่าตัวเองนอนหลับเพียงพอหรือไม่ ให้สังเกตจากสิ่งต่อไปนี้
เมื่อตื่นนอนตอนเช้า รู้สึกยังไม่สดชื่น อยากจะนอนต่อไปอีก
ในระหว่างวัน เรามีอาการง่วงเหงาหาวนอนอยู่เรื่อยๆ
ถ้ามีโอกาสได้นอนในตอนกลางวัน ก็อาจหลับได้ภายในเวลา 5 นาทีเท่านั้น
ถ้าใครมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่าเรายังนอนพักผ่อนไม่พอมี ซึ่งทำให้ผลเสียต่อร่างกายอย่างแน่นอน ถ้าเรานอนน้อยไปเพียงหนึ่งวันอาจไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงนัก อย่างมากก็แค่ง่วงซึมบ้างในช่วงกลางวัน แต่ถ้ายังคงอดนอนต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น โดยการอดนอนส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและอารมณ์พร้อมกัน ดังนี้
ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
ทำให้เกิดโรคอ้วน
ทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก
ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ
ทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง
ทำให้เกิดอาการงีบหลับสั้นๆ หรือ “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน”
ทำให้เกิดอาการทางจิต
ซึ่งแนวทางการรักษาเรื่องอดนอนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การนอนให้พอเพียง อาจจะใช้เวลานอนให้มากกว่าปกติในวันก่อนที่รู้ว่าจะต้องอดนอน และเมื่ออดนอนมาแล้วก็ควรหาเวลานอนชดใช้ให้มากพอ ภาวะอดนอนก็จะดีขึ้นได้เองโดยที่ไม่ต้องไปหาการรักษาที่ยุ่งยากอื่น
ที่มา :
thainews.prd.go.th
worldsleepday.org
www.bangkokhospital.com