นักวิจัยของยูเอ็นเตือน อัตราโรคอ้วนในเด็กกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ขณะที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศมีผู้น้ำหนักเกินมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามรายงานของมูลนิธิทอมป์สัน รอยเตอร์
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่น้ำหนักเกินมีจำนวนเพิ่มขึ้น 38% ระหว่างปี 2000-2016 และยังมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ตามข้อมูลจาก นายศรีธาร์ ดาร์มะปุริ เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยทางอาหารและโภชนาการประจำองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ในกรุงเทพฯ
ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีผู้น้ำหนักเกินมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ซามัวร์ ตองกา และนาอูรู เป็นประเทศที่มีปัญหานี้มากที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิก และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโรคอ้วนในผู้มีอายุน้อยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นเรื่องน่ากังวล
เพราะเด็กที่มีน้ำหนักเกินมีความเสี่ยงกว่าผู้ใหญ่ที่จะป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภท 2 ความดันโลหิตสูง และโรคตับ
"อัตราการเติบโตของจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นสูงกว่าในหลายประเทศ" นายดาร์มะปุริ กล่าวกับมูลนิธิทอมป์สัน รอยเตอร์ เขาระบุว่า จำนวนเด็กที่น้ำหนักเกินในเอเชียแปซิฟิกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหลายประเทศในภูมิภาคนับว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดในโลก
ปัจจุบันประเทศที่มีอัตราผู้ป่วยโรคอ้วนสูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และฮังการี ส่วนประเทศที่มีอัตราต่ำสุด คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามรายงานของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วนของประชาชนรวมกันกว่า 166 หมื่นล้านสหรัฐ (ราว 5.19 ล้านล้านบาท) ต่อปี
เพราะอะไรอัตราโรคอ้วนถึงเพิ่มขึ้น?
นักวิจัยกล่าวว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้อัตราโรคอ้วนเพิ่มขึ้น คือ ระดับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยนายมัททีอัส เฮลเบิล นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์พัฒนาธนาคารพัฒนาเอเชีย ในกรุงโตเกียวระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่
"แทบจะไม่มีการสะดุดตลอด 20 ปี" และนั่นทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารได้ในราคาที่ถูกลง
นักวิจัยกล่าวว่า นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนจำนวนมากยังเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งเป็นงานที่มีการขยับตัวน้อยกว่า เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยองค์การสหประชาชาติคาดว่าภายในปีนี้ประชากรในเมืองจะมีจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด
ผู้ใช้ชีวิตและทำงานในเมืองมักใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการเดินทางในแต่ละวัน เพราะโครงสร้างทางคมนาคมที่ไม่เอื้ออำนวย และเมื่อกลับถึงบ้านพวกเขาก็มีเวลาน้อยนิดที่จะทำอาหารเอง ทำให้หลายคนเลือกกินข้าวนอกบ้าน
นักวิจัยบอกว่าไลฟ์สไตล์แบบนี้ทำให้การเติบโตในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งมีปริมาณไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง การบริโภคอาหารเช่นนี้ยังทำให้ขาดสมดุลทางโภชนาการ โดยเฉพาะในหมู่ผักที่ประชาชนมักรับประทานได้น้อยเกินไป
"อาหารส่วนมากมีข้าวเป็นหลัก ในจานของแต่ละคนมีข้าวไปแล้วกว่า 50-70%" นายดาร์มะปุริกล่าว
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อคนมีน้ำหนักเกิน พวกเขามักเสี่ยงเป็นโรคอื่นด้วย และนั่นทำให้ระบบประกันสุขภาพซึ่งเพิ่งก่อตั้งในหลายประเทศต้องรับมือกับแรงกดดันในการบริหารมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคอ้วนมีแนวโน้มขาดงานมากกว่า และมีอายุการทำงานสั้นกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี
การแก้ปัญหานี้น่าจะต้องใช้เวลาหลายปีโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ตามความเห็นของนักวิจัย ซึ่งนับรวมถึง การติดฉลากที่สนับสนุนให้ประชาชนเลือกทานอาหารที่เหมาะสม การให้การศึกษาด้านโภชนาการ ตลอดจนถึงการปรับปรุงอาหารในโรงเรียน
นายเฮลเบิล กล่าวว่า
"การมีน้ำหนักเกินอาจถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง เพราะคุณมีอาหารมากพอที่จะแสดงฐานะว่าคุณมีอาหารจำนวนมากให้รับประทาน" เพราะภาษีน้ำตาลที่ได้ถูกนำมาใช้หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาในประเทศอย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งหนทางในการเปลี่ยนแนวคิดของประชาชน
นอกจากนี้ การสร้างศูนย์กีฬาที่โรงเรียน กำหนดพื้นที่ออกกำลังในการวางผังเมือง และทำให้ประชาชนเดินไปมาในเมืองแทนการนั่งรถได้ ก็นับว่าสำคัญเช่นกัน
นักวิจัยเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกับร้านค้าปลีก เพื่อช่วยกันส่งเสริมความรู้ทางโภชนาการ ตั้งแต่ข้อความบนห่ออาหาร ไปจนถึงการงดวางขนมหวานใกล้จุดชำระเงิน
นายดาร์มะปุริกล่าวด้วยว่า แต่ละประเทศควรหันมาใช้แนวทาง "จากไร่สู่จาน" ที่ส่งเสริมให้ชาวเกษตรกรปลูกพืชผลที่หลากหลายแทนที่จะปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว
"ในบางประเทศที่เป็นเกาะบนมหาสมุทรแปซิกฟิก มันง่ายกว่าที่จะหาซื้อน้ำอัดลมและอาหารแปรรูป เมื่อเทียบกับผักและผลไม้" นายดาร์มะปุริกล่าว
ที่มา :
www.bbc.com