สอบเข้ามหาวิทยาลัย

​สิ่งที่วรรณสิงห์ ประเสริฐกุลเรียนรู้จากมหา’ลัย

UploadImage

นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
รหัสประจำตัวนักศึกษา 4604640971
สาขาเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่เรามักตื่นเต้นกับโปรเจกต์ใหม่ๆ ของเขาเสมอ เพราะผู้ชายคนนี้ลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรมากมายทั้งเป็นพิธีกร นักเขียน นักคิด นักร้อง ทำให้เราอยากชวนเขาย้อนกลับไปยังวันวานเมื่อครั้งยังเป็นลูกแม่โดม และนี่คือสิ่งที่วรรณสิงห์ได้เรียนรู้จาก ‘เศรษฐศาสตร์มหภาค’ รายวิชาที่ยังคงสอนการใช้ชีวิตของเขามาจนถึงทุกวันนี้

“ตอนเข้าไปเรียนก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าเศรษฐศาสตร์มันคืออะไรเหมือนกัน เข้าไปด้วยความงงๆ แต่ว่าพอเรียนแล้วก็รู้สึกว่าสนุก คณะเศรษฐศาสตร์จะมีวิชาเลข วิชาสถิติเยอะ ซึ่งเป็นบรรดาวิชาที่เพื่อนๆ ไม่ค่อยชอบเรียนกัน แต่เรามีวิชาที่ยังติดใจอยู่จนทุกวันนี้คือ วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ชอบที่เราได้ศึกษาภาพรวมของประเทศทั้งหมดในภาพใหญ่มากกว่าที่จะเจาะจงลงไปเป็นรายบุคคล รายบริษัท มันเป็นเรื่องการมองภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศว่าถ้าสิ่งนี้เพิ่มขึ้น สิ่งอื่นจะเป็นอย่างไร เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้วจะกระทบตัวแปรอื่นอย่างไรบ้าง จำได้ว่าตอนที่เรียน เราได้ค้นพบวิธีการอธิบายบางอย่างที่น่าสนใจ เป็นการเอาพฤติกรรมของคนเรามาใส่ในสมการ ซึ่งปกติเรามักเข้าใจกันดีว่าคนอยู่ในสมการไม่ได้ เพราะคนมีตัวแปรเต็มไปหมด แต่วิชาเศรษฐศาสตร์เลือกเอาด้านที่เรียบง่ายและเข้าใจง่ายที่สุดของมนุษย์ ซึ่งก็คือด้านเศรษฐกิจ นำมาใส่ในสมการ แม้เราจะมีความรู้สึก ความซับซ้อนแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือ เรื่องเงิน เช่น มีรายได้มากขึ้นก็จ่ายมากขึ้น หรือว่าถ้าภาษีสูงขึ้นก็ใช้เงินน้อยลง ดอกเบี้ยขึ้นคนก็อยากเอาเงินเข้าธนาคารมากขึ้น ถ้าดอกเบี้ยลดก็อยากเอาเงินไปลงทุนมากขึ้น อะไรก็ว่ากันไป สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่มนุษย์เรามีร่วมกัน ทำให้เราได้มองสังคมมนุษย์ในรูปแบบใหม่ ทำให้เราสนใจพฤติกรรมมนุษย์ในแง่นั้น เราชอบคิดเลขอยู่แล้ว การเขียนสมการ คิดกราฟอะไรก็สนุกไปกับมันได้ง่าย ทำให้ได้เห็นผลกระทบที่สิ่งหนึ่งมีต่ออีกสิ่งต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ”

“เศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งในกระบวนการการเรียนรู้ที่ช่วยให้เราเห็นแง่มุมที่พิเศษขึ้นก็จริง แต่เมื่อโตขึ้นก็ได้เห็นว่ามันเป็นวิชาที่มีมุมมองจำกัดอยู่พอสมควร เพราะเมื่อเรามองว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างเดียว ทำให้ไม่เห็นด้านอื่นของชีวิตว่ามีจิตใจ ความรู้สึก อำนาจ การเมือง การที่มันมีแต่ตัวเลขจึงไม่พอที่จะมองสังคมให้รอบด้าน สำหรับเราเศรษฐศาสตร์เป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่ผ่านมา ไม่ถึงขั้นกำหนดตัวตนของเรา แต่ก็มีประโยชน์ในการทำงาน”

“ทุกวันนี้ผมเป็นนักเขียน เป็นคนทำสื่อ สื่อที่เราทำนั้นแม้ไม่ถึงกับเป็นเชิงวิพากษ์ แต่ก็มีหน้าที่ที่ต้องอธิบายสังคมต่างๆ ให้คนดูเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือรายการสารคดีก็ตาม ต้องทำให้คนเห็นภาพให้ได้ว่าประเทศนี้มีมิติใดบ้าง หากไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์เราก็คงไม่อาจอธิบาย GNH (ความสุขมวลรวมประชาชาติ) ของประเทศภูฏานได้ชัดเจนนัก อาจจะพอเล่าได้บ้างคร่าว ๆ แต่การที่เราเรียนเศรษฐศาสตร์มาก็ทำให้บอกต่อยอดไปได้ว่า เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐศาสตร์ปกติเนี่ยมันต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วต่างกันในเชิงวิชาการอย่างไร ใช้จริงอย่างไร มีอะไรน่าวิจารณ์ น่าสนับสนุนบ้าง วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์ช่วยให้เรามองสังคมได้รอบด้านมากขึ้น แม้จะยังเห็นไม่ได้ครบทุกกระบวนความ เพราะมันก็ต้องเสริมด้วยการศึกษาด้านปรัชญา ด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ไปด้วย การจะอธิบายประเทศใดประเทศหนึ่งเราต้องร่ายยาวไปตั้งแต่ในอดีตว่ามีที่มาอย่างไร อารยธรรมไหนผ่านมาบ้าง นับถือศาสนาอะไร ส่งผลอย่างไรกับคน ระบบเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง มีอะไรเยอะไปหมด”

“ตอนนี้รายละเอียดเรื่องสมการอะไรทั้งหลายนี่ลืมไปหมดแล้วนะครับ แต่ว่าวิธีคิด ความเข้าใจตัวแปรต่างๆ ยังมีอยู่ สิ่งหนึ่งที่จำได้ไม่ลืมเลยคือ ทฤษฎีเส้นความพอใจเท่ากัน (Indifference Curve Theory) เป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดมาก เพราะเป็นเส้นโค้งแสดงถึงความสุขของคนที่จุดต่างๆ คนจะมีความสุขเท่ากันหมดในการเลือกซื้อสินค้าตามแกน x และแกน y ที่แตกต่างกันไป พอเราได้เรียนอันนี้แล้วรู้สึกว่าตลกดีที่เอาความสุขของคนมาทำสมการ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่ามันใช้ได้จริงแค่ไหน แต่พอโตมาแล้วก็พบว่าสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียนมันใช้ไม่ได้จริงขนาดนั้นหรอก มันใช้แค่สำหรับการอธิบายและรองรับสิ่งที่เป็นความคิดปกติสามัญของคนอยู่แล้วแต่เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีก็ต้องทำเป็นสมการขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงใช้คอมมอนเซนส์อธิบายน่าจะง่ายกว่า”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  adaymagazine

 
รู้จักคณะ/สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์  คลิกที่นี่