จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนมกราคม ปี 2559 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นภาวะการแข่งขันสูงของตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยรายงานระบุว่า
ทั่วประเทศมีอัตราการเลิกจ้างและการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 คน และมีผู้ว่างงานทั้งหมดอยู่ที่ 390,000 คน สอดคล้องกับสถิติของเว็บไซต์ JobThai.com (จ๊อบไทยดอทคอม) ที่มีตัวเลขการเข้าใช้งานสูงขึ้นกว่า 30% และในหลายสายงานมีอัตราการค้นหาและสมัครงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในแต่ละปีจะมีบัณฑิตจบใหม่กว่า 4 แสนคนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
และภาวะการแข่งขันในตลาดงานที่มากขึ้นนี้เอง ทำให้น้องๆ บัณฑิตที่จบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับจากองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเข้าทำงาน และเพื่อประโยชน์ในการค้นหาคุณลักษณะที่นักศึกษาจบใหม่ควรมีให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้นั้น
ในบทความนี้เราจึงขอนำเสนอผลการศึกษาวิจัยของ
JobThai.com ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และ บริษัท แคเรียร์วีซ่า (ประเทศไทย) ที่ทำการสำรวจกลุ่มนิสิตและนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากทั่วประเทศ ในหัวข้อ
“ช่องว่างทักษะที่สำคัญในโลกการทำงาน” (Career Readiness Skill Gap Research) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ และได้สรุปผลออกมาเป็น
7 ทักษะที่เด็กจบใหม่ควรมีและสถานศึกษาควรหันมาให้ความสนใจ เพื่อนำไปแนะนำและพัฒนาให้กับนิสิตนักศึกษา ดังนี้
1. มองทุกอย่างคือการเรียนรู้
มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในงานด้วยความทะเยอทะยานที่จะเติบโตและสร้างสรรค์ผลงาน
2. ทำได้ทุกบทบาท
สามารถเป็นได้ทั้งผู้นำ ผู้ตาม และผู้ช่วย ในทุกสถานการณ์ และสามารถเรียนรู้งานอย่างรอบด้านได้รวดเร็ว พร้อมที่จะทำงานที่ท้าทายโดยมองประโยชน์ของทีมและองค์กรมากกว่าประโยชน์ของตนเอง
3. คิดเองได้ ทำเองเป็น
ความเชื่อมั่น คือ ทักษะที่ขาดไม่ได้ของพนักงาน ทุกคนต้องสามารถคิดและทำได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง และเมื่อพบอุปสรรคก็ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นโดยการค้นคว้าด้วยตัวเองได้
4. มีแรงจูงใจ มุ่งมั่น อยากสำเร็จ
มีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานที่จะทำงานให้สำเร็จ และได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้สามารถจูงใจตนเองเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลงานที่ดีออกมาได้ และค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จผ่านการเรียนรู้จากความล้มเหลว
5. ประยุกต์ใช้ทักษะได้
มีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนเข้าสู่การทำงาน เข้าใจถึงลักษณะงาน สามารถตีโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ โดยสามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยหนึ่งจะส่งผลต่ออีกปัจจัยหนึ่งได้อย่างไร นำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหาจากภาพรวมได้
6. มีความเป็นมืออาชีพ
คุณสมบัติของการทำงานแบบมืออาชีพ คือ มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี มีความตรงต่อเวลา รักษามารยาทในการทำงานอยู่เสมอ และมีความอดทนอดกลั้น สามารถแยกแยะเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานออกได้ มุ่งเน้นผลลัพธ์ของการทำงาน
7. สื่อสารโดนใจ ใช้ภาษาเป็น
มีความสามารถในการสื่อสารที่เป็นระบบ รู้จักการลำดับความสำคัญในการสื่อสารให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ในทันที สามารถโน้มน้าวผู้รับสารให้คล้อยตามได้ และมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม
นอกจาก 7 ทักษะข้างต้นแล้ว หัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์ JobThai.com
เสริมว่าผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า
แม้นักศึกษากว่า 86% ยังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง แต่พร้อมที่จะพัฒนาภายใต้การชี้แนะจากผู้มีประสบการณ์
ดังนั้น ภาครัฐและสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ควรมีนโยบายในการพัฒนา 7 ทักษะดังกล่าว โดยสอดแทรกลงในบทเรียนหรือเป็นการแนะแนวนอกเวลาเรียน เพื่อให้เป็นทักษะติดตัวที่นอกเหนือจากวิชาเรียนปกติ และพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงานหลังจบการศึกษา
ที่มา :
www.pptvhd36.com