"นักข่าวออนไลน์" (Online Journalist/Data Journalist/Digital Journalist)
ในยุคที่เปลี่ยนไปโลกขับเคลื่อนด้วยสัมผัสเพียงปลายนิ้ว ทำให้อาชีพต่างๆ ต้องพัฒนาไปตามโลกที่หมุนเร็ว “นักข่าว" ก็เช่นกัน ถือได้ว่าเป็นอีกอาชีพที่จะต้องปรับตัวจาก
"สื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อออนไลน์" เพื่อให้ผู้คนได้อัพเดทข่าวสารที่ถูกต้อง แม่นยำได้วินาทีต่อวินาที
อาชีพนี้สำคัญยังไง?
ในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมมัลติมีเดียเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเว็บไซต์ Statista มีสถิติว่าภายในปี 2020 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะเกินกว่า 2.94 พันล้านราย มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกจะเข้าถึงโซเชียลมีเดียในปี 2021 จำนวน 3.02 พันล้านราย และภายในปี 2022 จะมีเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในโลก ทำให้
“นักข่าวออนไลน์” เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย
แม้ว่าจะเป็นยุคที่นักข่าวอาชีพจะต้องแข่งขันกับนักข่าวมือสมัครเล่นก็ตาม แต่ยิ่งข่าวมีความหวือหวามาเร็วไปเร็วมากเท่าใด นักข่าวมืออาชีพจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมา คนจะหันไปหาสื่อมืออาชีพเพื่อหาคำตอบกับเรื่องที่ต้องการทราบอย่างแน่นอน
ใครเหมาะจะทำอาชีพนี้?
น้องๆ ที่มีคุณสมบัติชอบสังเกตการณ์เกี่ยวกับโลกรอบตัว ช่างสังเกตในรายละเอียดปลีกย่อย มีความรอบคอบ และชอบแบ่งปันให้กับคนอื่น นักข่าวออนไลน์ก็อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะกับตัวเอง
ต้องเรียนคณะ/สาขาอะไร?
สำหรับคณะที่มีหลักสูตรตั้งแต่การฝึกเขียนข่าว ไปจนถึงฝึกจรรยาบรรณความเป็นนักข่าวซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับ “นักข่าวมืออาชีพ” ก็หนีไม่พ้นคณะนิเทศศาสตร์ คณะการสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน หรือสาขาทางด้านสื่อใหม่อย่างเช่น ธุรกิจดิจิทัล หรือ ดิจิทัลมีเดีย ซึ่งคณะเหล่านี้นอกจากจะเน้นวิชาด้านการสื่อสารแล้ว ยังมีวิชาด้านการถ่ายภาพ กราฟิก และการออกแบบเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่นักข่าวรุ่นใหม่จะต้องใช้อย่างแน่นอน
รายได้ ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในสายงาน
ส่วนฐานเงินเดือนสำหรับนักศึกษาที่จบใหม่สายงานนี้นั้น จะเริ่มตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไปพร้อมสวัสดิการต่างๆ แล้วแต่องค์กรที่เข้าไปอยู่ และแน่นอนว่าอาชีพนักข่าวออนไลน์มีโอกาสเติบโตในองค์กรสูงมากเมื่อชำนาญในการหาข่าว สร้างแหล่งข่าว และพัฒนาการทำข่าวจนเป็นที่น่าเชื่อถือ
สามารถเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าข่าว นักข่าวอาวุโส ผู้ช่วยบรรณาธิการ จนถึงบรรณาธิการหรือเลื่อนขึ้นเป็นฝ่ายบริหารจัดการ จนสามารถเลือกทำงานกับสื่อแขนงอื่นๆได้ ตามความสามารถและความต้องการ ขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ และการพัฒนาตนเอง
ตัวอย่างองค์กร รุ่นพี่ในสายงาน
เอม-นภพัฒนจักษ์ อัตตนนท์ (บรรณาธิการข่าวเวิร์คพ้อยท์ออนไลน์)
โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (บรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ The Standard)
จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ผู้คนใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเป็นอีกปัจจัยในการใช้ชีวิต การสื่อสารที่รวดเร็วทันใจทำให้สายงานนักข่าวออนไลน์ก็เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจมากสำหรับใครหลายๆ คน ถ้าน้องๆคนไหนรู้ตัวว่าชอบสายงานด้านนี้ ก็อย่าลืมเลือกคณะและมหาลัยที่เหมาะกับน้องๆ กันนะคะ
ที่มา
https://www.thairath.co.th/content/107376
https://beonair.com/what-is-multimedia-journalism/
https://www.statista.com/topics/1164/social-networks/
https://thestandard.co/podcast/nukreannok17/