ธุรกิจบัณฑิตย์โพล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในกรุงเทพมหานคร เรื่อง “ คุณภาพการศึกษาไทย” จำนวน 1,095 คน เมื่อวันที่ 23 - 24 เม.ย. 59 ผลปรากฏว่า
คนส่วนใหญ่มองว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมีคุณภาพยังอ่อนด้อย โดยคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 51.1 ระดับน้อย ร้อยละ 27.5 ระดับที่ต้องปรับปรุง ร้อยละ 14.8 มีเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้นที่มองว่ามีคุณภาพอยู่ในระดับมาก
เมื่อถามว่าคุณภาพของครูผู้สอนมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 61.0 เห็นว่ามีคุณภาพปานกลาง ร้อยละ 22.7 มีคุณภาพน้อย ร้อยละ 7.7 ต้องปรับปรุง มีเพียงร้อยละ 8.6 อีกเช่นกันที่เห็นว่ามีคุณภาพมาก ในประเด็นความทุ่มเทของครูผู้สอนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษามีประชาชนเพียงร้อยละ 51.5 เห็นว่ามีความทุ่มเทปานกลาง ร้อยละ 29.0 ทุ่มเทน้อย ร้อยละ 8.4 ต้องปรับปรุง มีเพียงร้อยละ 11.1 ที่มองว่าครูผู้สอนมีความทุ่มเทมาก ในขณะที่ผู้บริหารเองก็ถูกมองว่าบริหารเพื่อคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน มีเพียงร้อยละ 9.0 เท่านั้นที่มองว่ามีมาก นอกนั้นอยู่ในระดับน้อยทั้งสิ้น
สำหรับเรื่องที่คนทั่วไปประเมินว่าปัจจัยอะไรจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทยมากที่สุดผลปรากฏว่า เรื่อง มาตรฐานของโรงเรียนไม่เท่ากันเป็นปัญหามากที่สุด ร้อยละ 28.9 รองลงมาคือ ความเลื่อมล้ำทางสังคมฐานะทางการเงิน ร้อยละ 25.4 คุณภาพของครู อาจารย์ ร้อยละ 18.1 คุณภาพการศึกษากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 16.7 ส่วนเรื่องการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยผู้ตอบมองว่าไม่เป็นปัญหามากนัก มีเพียงร้อยละ 4.4 เท่านั้นที่เห็นว่าเป็นปัญหา สิ่งที่ประชาชนเห็นว่าต้องปรับปรุงมากที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับการสอนของครูทั้งสิ้น โดยผลสำรวจพบว่า ควรปรับปรุงคุณภาพของครูผู้สอน ร้อยละ 60.4 ปรับปรุงวิธีการสอนให้เด็กได้พัฒนาความสามารถของตนเอง ร้อยละ 50.0 การเรียนการสอนให้ฝึกปฏิบัติจริงมากขึ้น ร้อยละ 43.0 นโยบายของสถานศึกษา ร้อยละ 41.9
ด้านของรัฐบาลมีประชาชนเห็นว่าให้ความทุ่มเทด้านการศึกษาอยู่ในระดับปานกลางถึงน้อย คือร้อยละ 71.4 มีเพียงร้อยละ 28.6 ที่เห็นว่ารัฐบาลให้ความทุ่มเทมาก โดยประชาชนอยากให้รัฐบาลทำเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น คือ การส่งเสริม พัฒนาครู / ผู้บริหารอย่างจริงจัง (ร้อยละ 72.9) พอๆกับการสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนให้เท่าเทียมกัน (ร้อยละ 71.5) ส่วนการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยนั้นประชาชนไม่เห็นว่าเป็นปัญหาต่อคุณภาพการศึกษา (ร้อยละ 20.28) ส่วนหน่วยงาน “ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ” ที่รัฐบาลตั้งขึ้นใหม่เพื่อปฏิรูปการศึกษานั้นประชาชนมองว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาเพียงปานกลางเท่านั้น ร้อยละ 67.8 ระดับน้อยอยู่ที่ ร้อยละ23.2 เห็นว่ามีมากเพียง ร้อยละ 8.9 เท่านั้น
ส่วนการใช้ชีวิตของนักเรียนในปัจจุบันประชาชนเห็นว่าเด็กเรียนกวดวิชามากเกินไป ร้อยละ 33.5 และเรียนมากเกินไปด้วย ร้อยละ 25.7 อีกทั้งเด็กไม่สนใจสังคม / สิ่งแวดล้อม ร้อยละ22.8 ที่เหลือร้อยละ 18.0 เห็นว่าเด็กมีความเครียดมากเกินไป ทั้งนี้ผู้ปกครองเห็นว่าการเรียนกวดวิชาของเด็กไม่ได้เปรียบกว่าคนที่ไม่ได้เรียนกวดวิชาแต่ประการใด (ร้อยละ 57.9) และเห็นว่าผู้ปกครองเองจะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาบุตรหลานของท่าน (ร้อยละ 59.5) แต่มองว่ามหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพียงระดับปานกลางเท่านั้น มีเพียง ร้อยละ 13.9 เห็นว่าช่วยมาก ที่น่าสนใจคือประชาชนกลุ่มนี้ร้อยละ 57.1 เห็นด้วยกับการเปิดเรียนตามอาเซียน ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 42.9 ให้เหตุผลว่าสภาพอากาศในฤดูร้อนของประเทศไทยไม่เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอน
ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ได้จากการจัดทำโพลยืนยันความเชื่อของนักวิชาการ และประชาชนส่วนใหญ่ว่า คุณภาพการศึกษาของไทยยังอ่อนด้อยอยู่มากถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นต์ปานกลางจะมีมากกว่าข้ออื่น แต่การตอบปานกลางของคนไทยก็คือมองเห็นว่าน้อยนั้นเอง ดังนั้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนโดยเฉพาะในกทม.มองการศึกษาของไทยยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพอย่างมากเกือบจะในทุกส่วน นอกจากนั้นยังมองว่าต้นเหตุหลักจะอยู่กับ ครู และผู้บริหาร เป็นส่วนใหญ่ ทางแก้จึงควรจะเริ่มต้นที่ โรงเรียน คือ ครู และ ผู้บริหาร รวมทั้งผู้ปกครองต้องช่วยกันวางแผน ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะต้องมีนโยบายลงไปสู่โรงเรียนให้ชัดเจน ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบาย เรื่องคุณภาพอย่างกว้างๆและไม่เจาะไปที่สถานศึกษาโดยเฉพาะ ครู และผู้บริหาร แล้วการยกระดับคุณภาพการศึกษาก็จะดำเนินไปตามความถนัด และความสนใจของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งจะไม่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศอย่างแท้จริง