สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ของศึกษาธิการภาค

              พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมร่วมกับศึกษาธิการภาค เพื่อรับฟังปัญหา พร้อมทั้งมอบแนวทางนโยบายในการปฏิบัติงาน เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

               รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อต้องการรับฟังปัญหาและข้อขัดข้องจากการลงพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค รวมทั้งปัญหาในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งศึกษาธิการภาคได้รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอต่าง ๆ จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานที่ผ่านมา

                  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานของ กศจ. ซึ่งพบปัญหาการตีความตามข้อกฎหมายเพื่อใช้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น การตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ด้านต่างๆ อย่างน้อย 3 ด้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น จึงได้มอบให้ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) จดประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้พิจารณาและจัดทำเอกสารคู่มือการปฏิบัติราชการเผยแพร่ให้เกิดความชัดเจนต่อไป

                  นอกจากนี้ มีประเด็นการสอบรรจุครูผู้ช่วยรอบใหม่ เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อ ทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการกระชั้นชิดเกินไป ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน ละเอียดรอบคอบ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การเบิกจ่ายงบประมาณ การมอบอำนาจต่างๆ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยออกไปในช่วงปลายเดือนนี้ แม้อาจจะมีผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนบ้างก็ตาม

                 ส่วนประเด็นอื่นๆ จากการลงพื้นที่ เช่น การประสานการปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัด ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกัน, ผู้แทนหน่วยงานอื่นๆ ภายในจังหวัดของ กศจ. มีบทบาทในการให้ข้อเสนอแนะแก่ กศจ.ค่อนข้างน้อย, ผู้แทน ก.ค.ศ.บางคน ไม่สามารถให้ความเห็นด้านกฎระเบียบหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.ได้, การแต่งตั้งรองศึกษาธิการจังหวัดจากจังหวัดอื่นที่ไม่ตั้งอยู่ในจังหวัด มีการประสานงานไม่ดีเท่าที่ควร, ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนภาคประชาชนใน กศจ. ไม่เข้าใจระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ, แนวทางการปฏิบัติงาน กศจ. ยังไม่ชัดเจน เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งมีผลให้การพิจารณาอาจไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ฯลฯ ได้มอบให้เลขาธิการ ก.ค.ศ. รวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคได้รับทราบและกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนต่อไป

              รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นอกจากประเด็นสภาพของ กศจ. ดังกล่าวแล้ว ได้ขอให้ศึกษาธิการภาคได้พิจารณาติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ตามยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 10 ยุทธศาสตร์ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม คือ ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพดูแลในเรื่องนี้, การรับฟังข้อคิดเห็นจากสภานักเรียน,  การเกลี่ยอัตรากำลังบุคลากรไปปฏิบัติงานในโครงสร้างของศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด, การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการใช้เหตุผลในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งฝากให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปรียบเทียบคะแนนผลสอบรายวิชาต่างๆ ในการสอบ O-NET ของโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กับโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการด้วย

           สำหรับศึกษาธิการภาค ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป.389/2559 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2559 มีดังนี้

1) นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์  ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 1
2) นายอนันต์ ระงับทุกข์  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 2
3) นางจินตนา มีแสงพราว  
รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 3
4) นายกฤตชัย อรุณรัตน์  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 4
5) นายศรีชัย พรประชาธรรม  
รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 5
6) นางเสาวนีย์ พนัสสรณ์ 
 รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 6
7) นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 7
8) นายวีระกุล อรัณยะนาค  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 8
9) นางนิตย์ โรจน์รัตนวาณิชย์  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 9
10) นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 10
11) นายอำนาจ วิชยานุวัติ  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11
12) นายประเสริฐ หอมดี  รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 12
13) นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 13
14) นายอรรถพล ตรึกตรอง  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 14
15) นายประเสริฐ บุญเรือง  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 15
16) นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 
ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 16
17) นายพิษณุ ตุลสุข  
ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 17
18) นางสาวอุษณีย์ ธโนศวรรย์  
รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 18


ที่มา : สำนักข่าวรัฐมนตรี