นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจตัวเลขเพื่อทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ว่า 3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีอัตราการออกกลางคันลดลง จากการสำรวจตัวเลขนักเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษารัฐ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3 รุ่น พบว่า นักเรียนที่เข้าเรียน ปวช.ปี 1 ในปีการศึกษา 2554 เมื่อถึงชั้นปีที่ 3 (ปีการศึกษา 2556) ออกกลางคันรวม 76,441 คน, ปีการศึกษา 2555 (2555-2557) ออกกลางคันรวม 75,608 คน และปีการศึกษา 2556 (2556-2558) ออกกลางคันรวม 61,898 คน เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกพบว่า ปวช.ปี 1 มีตัวเลขออกกลางคันมากกว่า ปวช.ปี 2 อาจเพราะไม่ชอบ หรือไม่ถนัด จึงลาออก ส่วนประดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อยู่ระหว่างสำรวจตัวเลข ส่วนสถาบันอาชีวะเอกชนอยู่ระหว่างสำรวจตัวเลข เท่าที่ดูภาพรวมปีที่ผ่านมา อัตราออกกลางของสถาบันอาชีวะเอกชนจะสูงมากกว่าอาชีวะรัฐ เหตุผลคล้ายกันคือเมื่อเรียนแล้วพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบ ก็ลาออก แต่มีปัจจัยที่แตกต่างคือเด็กบางส่วนเมื่อรู้ว่าไม่สามารถกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ จะลาออก ซึ่งเรื่องนี้สถาบันอาชีวะเอกชนให้ตนประสานกับ กยศ.เพิ่มวงเงินกู้ในส่วนของอาชีวะเอกชนให้มากขึ้น
นายชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจข้อมูลปีการศึกษา 2558 ยังพบว่ามีนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ไม่ได้เรียนต่อระดับที่สูงขึ้นประมาณ 60,000 คน คิดเป็น 7% ของนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ทั้งหมด ลดลงจากปีการศึกษาที่ผ่านมาที่มี 9% จึงต้องดูว่าเด็กกลุ่มนี้ออกนอกระบบการศึกษาแล้วไปอยู่ที่ไหน หากทำงานก็ถือว่าผิดกฎหมาย และยังเข้าเรียน กศน.ไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ 18 ปี หากปล่อยให้อยู่เฉย อาจไปสร้างปัญหาให้สังคม ดังนั้น สอศ.จะเข้าไปเจาะเด็กกลุ่มนี้นำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยอาจจัดห้องเรียนพิเศษ เน้นสอนทักษะทางวิชาชีพ หากไม่เรียนต่อก็ทำงานในสาขาที่เรียนมาได้
ข่าวและภาพจาก : มติชนออนไลน์