สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ผลวิจัยชี้พ่อแม่ยอมเป็นหนี้ดันลูกเรียนต่อมหา’ลัย

UploadImage
 
               “สมพงษ์” เปิดผลวิจัยพบ พ่อแม่ต้องใช้เงินลงทุนดันลูกเข้ามหา’ลัย คนละกว่า 6 หมื่นบาท ชี้ค่าเรียนกวดวิชาเกือบ 2 หมื่น เผยยอมลงทุนกู้ยืมเงินหนุนให้ลูกเรียน แนะตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กจน เปิดโอกาสทางการศึกษา

             วันนี้ (28 เม.ย.) ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลสำรวจเรื่อง “ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย”ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้น ม.ปลาย และผู้ปกครอง พื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวม 2,075 คน เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา สำรวจเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 พบว่า นักเรียนชั้น ม.ปลาย 60% เรียนพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง และค่อนข้างมีฐานะ โดยเด็กลงเรียนกวดวิชาเฉลี่ย 2-3 วิชาต่อปีการศึกษา สูงสุด 7 วิชา ต่ำสุด 1 วิชา มีค่าใช้จ่ายจากการเรียนพิเศษตลอดช่วงชั้น ม.ปลาย เฉลี่ยคนละ 19,748.43 บาท ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องเรียนพิเศษคือ อยากได้เทคนิคการทำข้อสอบ-ได้เกรดดีๆ เพื่อเรียนต่อ 36% และเรียนที่โรงเรียนไม่เข้าใจ/ไม่รู้เรื่อง 33%

            “เมื่อดูรายจ่ายตลอดการเรียนชั้น ม.4-6 ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 61,199 บาท คิดเป็น 6% ของรายได้ในครัวเรือน อาทิ รายจ่ายในโรงเรียน(ค่าเทอม/ค่ารถ/ค่าอาหารกลางวัน) 17,823 บาท รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 22,592 บาท รายจ่ายในการสมัครสอบ (ค่าสมัครสอบ/ค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ์/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 20,040 บาท นอกจากนี้ยังพบว่าค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ์เฉลี่ยอยู่ที่ 10,610 บาท โดยมีการจ่ายเงินค่ามัดจำสูงถึง 91,000 บาท ขณะที่ความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย พบว่า ไม่ว่าผู้ปกครองจะฐานะใดล้วนมีความพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนต่ออุดมศึกษา แม้ว่าจะต้องไปกู้ยืมเงินมาก็ตาม โดยพบสัดส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาในครัวเรือนยากจน 52% ฐานะปานกลาง 27% และค่อนข้างมีฐานะ 19% ทั้งนี้ผมมองว่าควรตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กม.ปลายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เกี่ยวกับรายจ่ายการเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น”

           ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษานั้น พบว่า เด็ก ม.6 ต้องสอบเฉลี่ย 6-7 สนาม โดยนักเรียน 64% สะท้อนว่า การรับตรงของมหาวิทยาลัยทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ส่วนความคิดเห็นต่อการแอดมิชชั่น พบว่า มีการทดสอบมากเกินไป 71% ข้อสอบยากเกินไปไม่เหมาะสมกับเนื้อหาที่โรงเรียนสอน 57% และค่าสมัครสอบแพงมาก 35% ทั้งนี้เด็กอยากให้ลดจำนวนการสอบลง สอนในสิ่งที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย ปรับปรุงคุณภาพครูเพื่อลดการกวดวิชา ขณะที่ผู้ปกครองอยากให้รัฐควบคุมค่าสมัครสอบ เพื่อลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามในเร็วๆ นี้ ตนจะนำผลวิจัยดังกล่าวเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาต่อไป.

 
ที่มา : เดลินิวส์