สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ล้วงใจ ส่องบททดสอบ ชิง 5 ตั๋วเสืออากาศหญิง โอกาส...ไม่ใช่ได้มาฟรี!

             “โตขึ้นอยากเป็นอะไร...?” คำถามที่ผู้ใหญ่มักถามกับเด็ก และเด็กผู้ชายส่วนใหญ่จะตอบว่า ตำรวจ ทหาร ดารา แพทย์ กัปตัน ส่วนเด็กหญิงจะได้คำตอบว่า ครู แอร์โฮสเตส ดารา นางแบบ พยาบาล แต่ในความเป็นจริงน้อยคนนักที่จะทำได้อย่างที่หวัง!?

              ในวันนี้ “อาสาม ไทม์แมชชีน” แห่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ผู้สมัครนักบินหญิงในโครงการของ กองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 18-24 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจหย่อนใบสมัครแหวกฟ้าให้กองทัพ รวม 8 คน จาก 5 ตำแหน่งที่ต้องการ โดยใครจะรอดหรือร่วงนั้น ขึ้นอยู่กับพละกำลังกาย ใจ และมันสมองด้วย เพราะต้องผ่านด่านทดสอบต่อไปอีกหลายขั้น...แต่กว่าจะถึงวันนั้น วันนี้ "อาสาม ไทม์แมชชีน" ขอเปิดใจ สาวหัวใจแกร่ง 2 จาก 8 คน ให้ผู้อ่านแฟนๆ ไทยรัฐ ได้ติดตามกันก่อน!
 

 

              สำหรับผู้สมัครรายแรกที่ได้รับความสนใจจากสปอร์ตไลต์ของสื่อมวลชน คือ เด็กน้อยที่เติบโตใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และสูญเสียพ่อ ซึ่งคือเสาหลักของบ้าน เนื่องจากถูกคนร้ายลอบยิง ซึ่งวันนี้เธอพร้อมหรือไม่ที่จะรับใช้ชาติ ไปฟังจากปากเธอกันเลย..

เด็กหญิงช็อก! เห็นพ่อถูกยิงตายต่อหน้า เสียงพ่อก้อง “ตั้งใจเรียนนะลูก” เรียกคืนสติ

             สาวน้อยวัย 23 ปี น.ส.สุวัฒนา จันทะเลิศ หรือ ใหม่ เกิดและเติบโตในพื้นที่สีแดง จ.ปัตตานี เล่าถึงแรงบันดาลใจที่เดินทางมาสมัครเป็น “เสืออากาศหญิง” คนแรกว่า ครอบครัวอาศัยอยู่ใน อ.มายอ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่สีแดง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2548 ขณะที่เราใช้ชีวิตกันปกติ คุณพ่อขับรถไปส่งลูก 2 คน คือ ใหม่ ตอนอายุ 12 กับ พี่สาว อายุห่างกัน 2 ปีไปโรงเรียน แต่วันนั้นกลับเป็นวันที่เลวร้ายที่สุด เมื่อจู่ๆ ได้มีคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาประกบรถของเรา จากนั้นก็ได้ยิงเข้าใส่คุณพ่อ ซึ่งเชื่อว่ามีเป้าหมายทั้งครอบครัวเพราะข้างทางเป็นเหว แต่คุณพ่อแข็งใจขี่ประคองรถด้วยการดึงเบรกมือ แต่คุณพ่อก็มาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
 

 

               ผู้สมัครนักบินหญิง ทอ.รายแรก เล่าต่อว่า... ตอนนั้น ใหม่ เด็กมาก จำได้ว่า ตัวเองเสียสติไปเลย คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความฝัน ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับครอบครัว เพราะคุณพ่อก็เป็นเพียงนักธุรกิจ มีสวนยาง สวนปาล์ม ไม่ใช่ข้าราชการ ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นกลายเป็นคนซึมเศร้าไปพักหนึ่ง จากนั้นก็กลับมาได้สติ โดยจำคำพูดของคุณพ่อได้ว่า อยากให้ลูกๆ ตั้งใจเรียน ตอนคุณพ่อมีชีวิตก็จะคอยสอนการบ้าน อยากให้ทำอาชีพอะไรก็ได้ขอแค่ว่าลูกอยากจะเป็น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความตั้งใจที่จะเรียน ทำเกรดให้ดี พัฒนาตนเองตามศักยภาพ

‘นกกระดาษ’ กระตุ้นฝัน สยายปีก ‘ขี่นกเหล็ก’

              จากเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต ทางกองทัพจึงจัดเยียวยาฟื้นฟูจิตใจคนในพื้นที่ ในอีก 2 ปีต่อมา กับโครงการ “เยาวชนไทยใต้พื้นแผ่นดินเดียวกัน” ซึ่งเธอก็อยู่ด้วยในวันนั้น และนี่เองคือจุดเริ่มต้นเส้นทางบินของเธอ

              “ในงานวันนั้น ใหม่กับพี่สาวก็มาด้วย ได้มาดูที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ก็รู้สึกว่าอยากจะบิน เป็นนักบิน แล้ววันนั้นเขามีการพับนกกระเรียนกระดาษ เขียนข้อความให้กำลังใจคนภาคใต้ แล้วเขาขับเครื่องบินโปรยลงมาจากท้องฟ้า ตอนนั้นใหม่กับพี่สาววิ่งตามไปเก็บนกกระดาษ ความรู้สึกตอนนั้น แค่เห็นเครื่องบินบินผ่านก็รู้สึกตื่นเต้นมากแล้ว เพราะที่ ปัตตานี แทบไม่เคยมีเครื่องบินผ่านเลย ยิ่งการเป็นนักบินหญิงตอนนั้นคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ แต่นี่ได้นกกระดาษจึงรู้สึกเป็นกำลังใจมาก และตรงนี้เองทำให้พูดได้เต็มปากว่า “รักที่จะเป็นนักบิน” ซึ่งพ่อเองก็คงภูมิใจ หากลูกสาวได้ทำในสิ่งที่รัก”
 

 

            จากวันนั้นเป็นต้นมา ก็ตั้งใจเรียนมาโดยตลอด จบ ม.6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เกรด 3.52 สาวหน้าหวาน หัวใจเหินฟ้า เล่าอย่างเห็นภาพต่อไปว่า มารดาอยากให้เรียนด้านการแพทย์ จึงสอบตรงเข้าที่คณะเภสัช มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ได้เรียนประมาณ 1 ปีแล้วรู้สึกไม่ชอบ จึงขอย้ายคณะมาเรียนที่สถาบันการบินพาณิชย์ ม.รังสิต เช่นเดียวกัน โดยในช่วงปี 1-2 เป็นการเรียนทฤษฎี ส่วนปี 3-4 ได้มีการฝึกบินที่ บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ นครนายก โดยเรียนจบได้เกรดเฉลี่ย 3.93

            “ที่จริง ใหม่ น่าจะได้เกียรตินิยมเหรียญทอง แต่เนื่องจากเราได้ย้ายคณะมาเรียน จึงเรียนเกินปี ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้เหรียญทอง แต่การจบโรงเรียนการบิน ใหม่ ได้รางวัล top of ground ด้านวิชาการ ใหม่ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ซึ่งการทุ่มเทครั้งนี้ ใหม่ทำเพื่อคุณพ่อคุณแม่”
 

นักบินหญิง ทอ.คือโอกาส ไม่ปิดทาง ขับเครื่องบินพาณิชย์

         น.ส.สุวัฒนา เล่าต่อว่า ที่เลือกที่จะมาสมัครนักบินหญิงครั้งนี้ มองว่าเป็นโอกาส เพราะเราจบและได้ Commercial Pilot License (ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี) ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ได้ไปสมัครสายการบินพาณิชย์อื่นไว้หลายที่ เพราะใหม่เองก็เพิ่งจะเรียนจบ ประสบการณ์บินที่ผ่านมา ได้ขับเครื่อง cessna 172 กับ diamond 42 โดยมีชั่วโมงบิน 205 ชั่วโมงครึ่ง โดยตอนขึ้นบินเดี่ยวครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะก่อนหน้านี้เราจะขึ้นบินกับครูฝึก น.ท.พีรวัส ตันไล้ จากนั้นก็ได้เรียนรู้วิชาการบินมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสะสมทักษะ โดยยอมรับว่าแรกๆ ก็ท้อเหมือนกัน เพราะบินไม่ค่อยเก่ง แต่ได้กำลังใจจากเพื่อนๆ บวกกับความกล้าของตนเอง สิ่งสำคัญคือเราต้องเชื่อมั่นตนเอง ชนะใจตนเอง เชื่อมั่นในเครื่องมืออากาศยานของเรา สติ สมาธิ รวมถึงร่างกาย ทุกอย่างรวมกัน มันจะทำให้เราขับเครื่องบินขึ้นลงอย่างปลอดภัย

           กว่าจะเป็นนักบินได้ ต้องผ่านการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตา หู ปาก ทรวงอก เครื่องไฟฟ้าหัวใจ เพราะทุกอย่างต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานของนักบิน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสภาพจิต เรียกว่า จิตวิทยาการบิน โดยเขาจะทดสอบสภาวะจิตใจว่าเหมาะแก่การเป็นนักบินหรือไม่ สำหรับเครื่องบินที่ใหม่อยากขับ คือ เครื่องบินโบอิง เพราะความฝันของใหม่อย่างหนึ่งคือ อยากขับเครื่องบินพาแม่และครอบครัวเป็นผู้โดยสาร และอยากพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดที่เราฝันไว้ เพราะใจจริงขอให้ได้ขับเครื่องบินก็ถือว่าเป็นจุดสูงสุดที่ฝันไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินพาณิชย์ หรือ ทหารก็ตาม
 

         
            นอกจาก “ใหม่” สาวใต้รายแรกแล้ว ทาง ทอ.ยังเปิดรับสมัครต่อเนื่องถึงวันที่ 24 เม.ย. ซึ่ง อาสาม ไทม์แมชชีน ยังได้เปิดใจสาวอีก 1 ราย ที่เดินทางมาสมัคร ในวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา คนนี้เป็นเป็นสาวมาดเท่จากระยอง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร วัย 23 ปี จบจากสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต เช่นกัน ซึ่งเธอเป็นรุ่นพี่ของ “ใหม่” ปัจจุบัน ทำงาน บริษัท Flight Experience ตำแหน่ง Instructor Pilot

เริ่มแรกครอบครัวไม่หนุน แต่ด้วยใจรักและเชื่อมั่น จึงได้เรียน

            สาวระยอง ผู้หย่อนใบสมัครวันที่ 2 ที่เปิดรับสมัคร เล่าแรงบันดาลใจให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า ไอ มีพี่หนึ่งคน ครอบครัวเป็นคน จ.ระยอง สมัยเด็กๆ นั้นเป็นคนที่ชอบความเร็ว แค่ไม่กี่ขวบก็เริ่มเล่น โรลเลอร์เบลด ตั้งแต่อนุบาล 2 และขี่จักรยานยนต์ (แบบเด็ก) เป็นตั้งแต่ตอน ป.1 พอตอน ป.4 ได้เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ก็เลยอยากเป็นนักบินอวกาศ ซึ่งนั่นก็เป็นความคิดแบบเด็กๆ

            ผู้สมัครนักบิน ทอ.สาวคนเดิม เล่าต่อว่า เมื่อเรียนถึงชั้น ม.6 ก็ได้รับรู้ว่า คนทั่วไปก็สามารถเป็นนักบินได้ ก็เลยเลือกที่จะไปเรียนที่ ม.รังสิต ถึงแม้ทางบ้านเองจะไม่สนับสนุนในช่วงแรก เพราะคนในครอบครัวไม่เคยมีใครอยู่ในวงการนี้มาก่อน ทุกคนจึงค่อนข้างเป็นห่วง กลัวว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยที่ ไอ มั่นใจว่าชอบทางด้านนี้ หากได้เรียนจึงเชื่อว่าจะสามารถทำได้ดี กระทั่งเรียนจบก็แสดงให้ครอบครัวเห็นว่า “เราทำได้” นะ
 


 

เป็นคนแรกในรุ่นที่ครูฝึกปล่อยบินเดี่ยว ทั้งที่ผู้ชายในห้องมีมากกว่าหญิง 90%

              “ตอนเรียนปี 1-2 เรียนที่มหาวิทยาลัย แล้วปี 3-4 เรียนที่ บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถเลือกสถานที่เรียนได้ อย่างไรก็ดี ในชั้นเรียนของเราจะมีคนเรียนประมาณ​ 30-40 คน ทั้งที่ในรุ่นมีผู้ชายประมาณ 90% ผู้หญิงเพียง 10% แต่ ไอ กลับได้ขึ้นบินเดี่ยวเป็นคนแรก ซึ่งตรงนี้ครูฝึกเขาวัดจากจิตใจว่ามีความพร้อมหรือไม่ กระทั่งเรียนจบมาด้วย เกียรตินิยมอันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 3.67”

               สาวไฟแรงสูงที่พกความมั่นใจเกินร้อย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาของนักเรียนการบินของ ม.รังสิต ที่ทุกคนต้องเจอคือ เรียนจบการบินมาทั้งที่ยังมีอายุน้อย การที่จะได้ไลเซนส์การบิน เราต้องผ่านการทดสอบ medical pass ซึ่งเป็นการสอบด้านจิตวิทยา เพราะเขาจะหาคำตอบว่า เรามีวุฒิภาวะเพียงพอหรือไม่ เหมาะสมที่จะเป็นนักบินหรือเปล่า แต่ช่วงที่จบแรกๆ อายุเพียง 21-22 ปี

               จากนั้น ก็ได้ไปสมัครงานที่ บริษัท Flight Experience ซึ่งเป็นบริษัท ที่สอนซิมูเลเตอร์ของเครื่องบินใหญ่ โบอิง 737 โดยสอนบุคคลทั่วไปว่า การขับเครื่องบินขนาดใหญ่ต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ก็จะมีนักบินที่มาฝึกบิน เราก็จะไปช่วยเหลือเขาในการเซตอุปกรณ์ให้ และนั่งอยู่กับเขา เราเองก็จะได้ความรู้ในด้านนี้ไปด้วย

 

 

เป็นคนแรกในรุ่นที่ครูฝึกปล่อยบินเดี่ยว ทั้งที่ผู้ชายในห้องมีมากกว่าหญิง 90%

            “ตอนเรียนปี 1-2 เรียนที่มหาวิทยาลัย แล้วปี 3-4 เรียนที่ บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถเลือกสถานที่เรียนได้ อย่างไรก็ดี ในชั้นเรียนของเราจะมีคนเรียนประมาณ​ 30-40 คน ทั้งที่ในรุ่นมีผู้ชายประมาณ 90% ผู้หญิงเพียง 10% แต่ ไอ กลับได้ขึ้นบินเดี่ยวเป็นคนแรก ซึ่งตรงนี้ครูฝึกเขาวัดจากจิตใจว่ามีความพร้อมหรือไม่ กระทั่งเรียนจบมาด้วย เกียรตินิยมอันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 3.67”

             สาวไฟแรงสูงที่พกความมั่นใจเกินร้อย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาของนักเรียนการบินของ ม.รังสิต ที่ทุกคนต้องเจอคือ เรียนจบการบินมาทั้งที่ยังมีอายุน้อย การที่จะได้ไลเซนส์การบิน เราต้องผ่านการทดสอบ medical pass ซึ่งเป็นการสอบด้านจิตวิทยา เพราะเขาจะหาคำตอบว่า เรามีวุฒิภาวะเพียงพอหรือไม่ เหมาะสมที่จะเป็นนักบินหรือเปล่า แต่ช่วงที่จบแรกๆ อายุเพียง 21-22 ปี

           จากนั้น ก็ได้ไปสมัครงานที่ บริษัท Flight Experience ซึ่งเป็นบริษัท ที่สอนซิมูเลเตอร์ของเครื่องบินใหญ่ โบอิง 737 โดยสอนบุคคลทั่วไปว่า การขับเครื่องบินขนาดใหญ่ต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ก็จะมีนักบินที่มาฝึกบิน เราก็จะไปช่วยเหลือเขาในการเซตอุปกรณ์ให้ และนั่งอยู่กับเขา เราเองก็จะได้ความรู้ในด้านนี้ไปด้วย
 

 

สมัครแค่ด่านแรก "บททดสอบหิน" รออยู่...

             ขณะเดียวกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังได้สอบถามไปยัง พล.อ.ท.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหารอากาศ หลังจากปิดรับสมัคร พร้อมกับเปิดเผยว่า ผู้ที่เข้ารับสมัครมีทั้งหมด 8 คน มีผู้ที่คุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ 2 ราย โดย 1 ราย เกรดการศึกษา ปริญญาตรีไม่ตรงตามที่ต้องการ ส่วนอีก 1 ราย จบโรงเรียนการบินจากต่างประเทศ ซึ่งต้องให้ กรมการบินพาณิชย์ คำนวณไลเซนส์ 
ส่วนด่านทดสอบนั้น พรุ่งนี้ (26 เม.ย.) จะมีการสอบ 150 ข้อ โดยมีวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน โดยมีการเรียงลำดับตามผลคะแนน ​นอกจากนี้ จะมีการทดสอบจิตวิทยาการบิน การตรวจร่างกายทางการแพทย์ ทดสอบความถนัดและภาวะวิสัย ส่วนการทดสอบร่างกายนั้นก็มีเป็นปกติ เกณฑ์มาตรฐานการวิ่ง 2.4 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีซิตอัพ กับดันพื้นด้วย ซึ่งเป็นเกณฑ์ทางการแพทย์กำหนด โดยเป็นการวัดผลความสมบูรณ์ทางร่างกาย

             พล.อ.ท.ชวรัตน์ กล่าวต่อว่า จากที่ดูรายชื่อผู้สมัคร ก็ไม่รู้สึกห่วงหรือกังวลใด เพราะแม้ว่าผู้สมัครจะดูเด็ก แต่หากเขาคือผู้ที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่เรากำหนด กองทัพก็พร้อมจะรับไว้ เนื่องจากเกณฑ์ดังกล่าว เราได้พิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว เพียงแต่ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ที่เราเปิดรับสมัครนักบินหญิง ผู้สมัครก็ดูวัยวุฒิน้อย แต่เราต้องให้เขาพิสูจน์ฝีมือ ซึ่งโครงการนี้นับเป็นโครงการ 3 ปี ไม่ได้ทำตลอด ฉะนั้นหลังจากนี้จะมีการประเมินผลว่า จะดำเนินการต่อหรือไม่”

เปิดงบประมาณการฝึก 5 ว่าที่นักบินหญิง คาดใช้เงินคนละ 1 ล้าน มีเซ็นสัญญากับกองทัพ

            นอกจากนี้ รองเสนาธิการทหารอากาศ ยังกล่าวถึงงบประมาณที่จะใช้ในในการฝึกให้กับว่าที่นักบินหญิงทั้ง 5 ว่า หากเป็นนักบินของ ทอ. ที่ต้องฝึกเองตามหลักสูตรจะใช้เงินประมาณ 4-5 ล้านบาท แต่สำหรับนักบิน 5 ตำแหน่ง ที่เปิดรับครั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณคนละ 1 ล้านบาท บวกลบไม่มาก แต่ตัวเลขดังกล่าวจะต้องให้เจ้ากรมยุทธการคำนวณอีกครั้ง เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าเชื้อเพลิง ค่าสึกหรอต่างๆ ที่กองทัพจะต้องจ่าย โดยคิดเป็นรายชั่วโมง โดยเราจะต้องฝึกเพิ่มเติมในหลักสูตรการบินของทหารอีกประมาณ 40 ชั่วโมง เพราะที่ผ่านมาเขาเคยบินในส่วนพลเรือนมาแล้ว

             งบประมาณตรงนี้มาจากงบของกองทัพ ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขไม่สูงมากนัก 5 คน 5 ล้านบาท ทางกองทัพได้มีการเซ็นสัญญากับผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด หากลาออกก่อนกำหนด ในสัญญาก็จะต้องใช้ทุนคืน ส่วนจะต้องทำงานกับกองทัพกี่ปีนั้น อยู่ในขั้นตอนของกรมยุทธการกำลังทำเรื่องขออนุมัติอยู่ ซึ่งถือเป็นระเบียบปฏิบัติทั่วไปของทางราชการ หากลาออกก่อนก็ถือว่าผิดสัญญาก็ต้องคืนเงิน เพราะเงินที่ฝึกมาจากภาษีประชาชน

          “ผู้บัญชาการยืนยันว่า การทำสัญญา หรือการใช้ทุน ดำเนินการไปตามระเบียบ และความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยความยุติธรรม ส่วนถามว่าต้องทำงานกี่ปีนั้น ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าไม่น่าจะนานนัก เนื่องจากวงเงินไม่มาก” พล.อ.ท.ชวรัตน์ กล่าว
 

 

ไม่ห่วงในอนาคตถูก “เอกชน” ดึงตัว ชี้เป็นเรื่องปกติ เชื่อถึงเวลาจำเป็น ทุกคนพร้อมทำเพื่อชาติ 

             เมื่อถามว่าหวั่นถูกซื้อตัวในอนาคตหรือไม่ รองเสนาธิการทหารอากาศ ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะเป็นการเจริญเติบโตปกติ เหมือนกับอดีตนักบินเรา ที่ปัจจุบันก็ไปร่วมงานกับสายการบินเอกชนอื่นเกือบทุกสายการบิน บางคนเติบโตกลายเป็นผู้บริหารในระดับสูง

             “กองทัพเอง ถือว่าได้ร่วมช่วยผลิตบุคลาการเหล่านี้ให้กับประเทศ ขณะเดียวกัน คนในสายธุรกิจการบินก็ยังเข้าใจเรื่องความมั่นคงของประเทศ เพราะเขาเองก็เคยผ่านการเป็นทหารมาก่อน ฉะนั้นในยามที่มีความต้องการ หรือวิกฤติในอนาคต ผู้บริหารเหล่านั้นก็จะเข้าใจ เพราะเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ”

            อย่างไรก็ดี หากการสอบผ่านเกณฑ์ทุกอย่างแล้ว ก็คงต้องรอทำเรื่องบรรจุแต่งตั้งยศ ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ เพราะว่าที่นักบินเหล่านี้ ยังต้องผ่านการฝึกในรูปแบบของทหารเพิ่มเติม แม้จะเคยผ่านการฝึกการบินในรูปแบบพาณิชย์มาแล้ว หากมีการบรรจุยศ ก็จะเริ่มต้นที่เหมือนการทหารสัญญาบัตร คือ “เรืออากาศตรี”

             "อยากให้น้องๆ ทุกคนแสดงออกถึงขีดความสามารถอย่างเต็มที่ ส่วนตัวเชื่อว่า ศักยภาพแต่ละคนนั้นรู้สึกว่าใกล้เคียงกัน ทำให้คณะกรรมการหนักใจมาก เพราะหากมีท่านใดท่านหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ หรือต้องตัดออกไป ก็รู้สึกเสียหาย ดังนั้น เมื่อได้เข้ามาก็อยากให้ทำงานให้กับกองทัพ และประเทศชาติอย่างเต็มที่ ทำภารกิจที่ได้รับมอบอย่างเต็มความสามารถ ทุ่มเทให้สมกับการเป็นทหาร เพราะอย่างน้อยทุกคนก็ทราบแต่แรกแล้วว่า “ค่าตอบแทน” ไม่ใช่เป้าหมายหลักในสิ่งที่หวัง ฉะนั้น จึงมั่นใจว่าทุกท่านได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบอย่างเต็มใจ เพราะเป็นสิ่งที่เลือกแล้ว เพราะกองทัพไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้เท่ากับเอกชน"รองเสนาธิการทหารอากาศ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์