มหาวิทยาลัยกรุงเทพเชื่อมั่นในการแนวทางการสร้างบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจด้วยแนวคิด C+E (Creativity + Entrepreneurial Spirit) หรือคิดอย่างส้างสรรค์+คิดแบบเป็นเจ้าของ ในปีนี้จึงนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จทางธุรกิจของนักศึกษาซึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 4 ที่สามารถสร้างธุรกิจของตนเองและดำเนินกิจการโดยอาศัยความคิดที่แตกต่าง มาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมีอนาคต
นายเกียรติศักดิ์ คำวงษา เจ้าของธุรกิจกาแฟชะมด Blue Gold Coffee เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่เรียนปี 1 ใช้เวลาสองปีเตรียมแผนดำเนินงานโดยเปิดตัวสินค้ากาแฟชะมดจากฟาร์มเลี้ยงแบบเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย สู่ตลาดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ใช้ช่องทางการจำหน่ายออนไลน์และได้ผลตอบรับจากตลาดเกินคาด ส่งผลให้เขาเป็นเจ้าของธุรกิจกาแฟชะมดมูลค่าหลายสิบล้านบาทในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา
นางสาวนวพร ประยุกตินิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจบริการอีเว้นท์การตลาด ใช้ความคิดสร้างสรรค์นำงานอดิเรกที่ชื่นชอบคือการจัดปาร์ตี้มาสร้างมูลค่าทางธุรกิจรับจัดงานอีเว้นท์สร้างรายได้สูงถึงเจ็ดหลักให้กับตนเอง ทั้งสองคนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) ที่พัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการที่เหมาะกับนักศึกษาไทยและถือเป็นหลักสูตรระดับโลกที่ดีที่สุดในขณะนี้ของประเทศไทย
นางสาววลีพร เดี่ยววานิช เจ้าของธุรกิจอีโครีสอร์ท B52 Beach Resort เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี บัณฑิตจบใหม่จากคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว (วิชาเอกการโรงแรม) เป็นตัวแบบความสำเร็จในฐานะเจ้าของกิจการที่ใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และความคิดแบบเจ้าของ เข้ามารับผิดชอบธุรกิจรีสอร์ทของครอบครัวตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 โดยกล้าฉีกแนวการทำธุรกิจรีสอร์ทบนเกาะพะงัน จากฟูลมูนปาร์ตี้รีสอร์ทมาสู่การทำรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ สามารถขยายฐานธุรกิจที่แตกต่างและใหญ่กว่าเดิมได้
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้จัดกิจกรรมต่อยอดการปลูกฝังแนวคิดผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศโดยมอบทุนการศึกษาผู้ประกอบการวัยรุ่น เรียนฟรีจำนวน 5 ทุน มูลค่าประมาณ 400,000 บาทต่อทุน เป็นทุนเรียนฟรีในระดับปริญญาตรี 4 ปี ในคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (School of Entrepreneurship and Management : BUSEM)
พร้อมทุนส่งเสริมกิจกรรมอีกจำนวน 100,000 บาทต่อโรงเรียน เพื่อใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของนักเรียน อาทิ จัดเวิร์คช้อปให้กลุ่มนักเรียนที่สนใจการทำธุรกิจได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ การเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมาย เรียนรู้ศักยภาพและการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อธุรกิจ การสร้างสรรค์แผนการขายและส่งเสริมการขาย รวมทั้งกิจกรรมออกร้านของนักเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านผู้ประกอบการสร้างสรรค์ให้กับนักเรียน หวังผลกระตุ้นให้โรงเรียนได้ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการสร้างผู้ประกอบการในช่วงที่เด็กกำลังมีไฟและเริ่มค้นหาความต้องการด้านอาชีพของตนเองสำหรับอนาคต
อาจารย์เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า แนวคิด C+E ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สร้างความแตกต่างให้กับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกคณะทุกสาขาวิชาเพื่อสร้างอัตลักษณ์เด่นของนักศึกษาให้มีครบทั้งการคิดแบบสร้างสรรค์ (Creativity) และคิดแบบเจ้าของ (Entrepreneurial Spirit) ซึ่งเป็นแนวทางสร้างบุคลากรยุคใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจในปัจจุบัน
แนวคิด C+E ได้ถูกนำไปปรับใช้เพื่อบ่มเพาะความคิดผู้ประกอบการสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษาทุกคน ไม่ว่านักศึกษาจะมีเป้าหมายในการสร้างและบริหารกิจการของตนเอง หรือต้องการทำงานกับองค์กรใด พวกเขาจะเป็นบุคลากรที่มีบุคลิกเด่นในสองเรื่องคือ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความคิดแบบเจ้าของ ทำให้เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์มีความมุ่งมั่นตั้งใจกับภารกิจและพร้อมพัฒนาตนเองและพัฒนางานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ข่าวและภาพจาก :
มติชนออนไลน์