โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) ของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public – Private Steering Committee) ประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ของคณะทำงานดังกล่าว เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559 ที่ห้อง Platinum โดยมี นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนคณะทำงานกลุ่มย่อยจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมหารือ
สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ เป็นการรายงานความก้าวหน้าของคณะทำงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มย่อยที่ 1 : คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา และการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล(Transparency, Monitoring, Evaluation, Digital Infrastructure and Media High Standard Education Accessibility)
คณะทำงานได้นำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว คือ การดึงข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนจากระบบ DMC ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่แล้วมานำเสนอบนเว็บไซต์ และรวบรวมข้อมูลพิกัดโรงเรียนพร้อมทั้งเก็บข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแต่ละโรงเรียน ตลอดจนสร้างเว็บไซต์โรงเรียนประชารัฐ
ส่วนสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การจัดทำแบบสอบถามออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งที่โรงเรียนต้องการพัฒนา, กำหนด Username และ Password ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ และพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ สู่สาธารณชน นอกจากนี้ คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 1 มีกำหนดลงพื้นที่โรงเรียนในโครงการประชารัฐ เพื่อศึกษาแนวทางการวางโครงสร้างพื้นฐานด้วย
กลุ่มย่อยที่ 2 : คณะทำงานพัฒนาหลักสูตร ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (Curriculum, Teaching Technique and Manual, English Language Capability, Health, Heart and Ethics)
ภายหลังจากการแจกแบบสอบถามไปยังโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐแล้ว ขณะนี้ได้รับแบบสอบถามกลับมากว่าร้อยละ 60 ซึ่งผลการสำรวจพบว่า รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ รูปแบบที่ 2 : การนำการเรียนการสอนบางรายวิชาของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาปรับใช้ (ร้อยละ 40) ในขณะที่ร้อยละ 27 ต้องการผสมผสานทั้งสามรูปแบบได้แก่ รูปแบบที่ 1 : การเรียนการสอนตามแนวทางของ สพฐ., รูปแบบที่ 2:การเรียนการสอนบางรายวิชาของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และรูปแบบที่ 3 : การเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา
อย่างไรก็ตามทั้ง 3 รูปแบบนี้จะนำมาใช้กับบางวิชาเท่านั้น เพราะทุกสถานศึกษาจะยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ซึ่งเป็นตัวกำหนดหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ อยู่แล้ว อีกทั้งจะเพิ่มหลักสูตรโรงเรียนคุณธรรม โดยจะทำการอบรมครูวิทยากรเป็นระยะเวลา 2 วัน จำนวน 120 -150 คนต่อ 1 รุ่น ซึ่งจะมีการจัดอบรมประมาณ 4 -5 รุ่น และครูวิทยากรเหล่านี้จะขยายผลไปยังโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,342 แห่งต่อไป รวมทั้งจะมีศึกษานิเทศก์ลงพื้นที่ติดตามและรายงานความก้าวหน้าของแต่ละพื้นที่
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น จะมีการเสริมรายวิชาภาษาอังกฤษและพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในทุกชั้นปีด้วย
กลุ่มย่อยที่ 3 : คณะทำงานด้านพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน (Market Mechanism, Engagement Parents and Community, Funds, High Quality Principles and Teachers Leadership)
คณะทำงานได้นำเสนอหัวข้อในการจัดอบรม เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้บริหารและครูผู้สอน ดังนี้
- หัวข้อการอบรมผู้บริหารสถานศึกษา : การบริหารสถานศึกษายุคดิจิทัล, ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม, กลยุทธ์การตลาดสำหรับสถานศึกษา, กลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษา, การบริหารความเสี่ยงสำหรับสถานศึกษา, การบริหารงานคุณภาพของสถานศึกษา และกลยุทธ์การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน
- หัวข้อการอบรมครูผู้สอน : เทคโนโลยีการศึกษา, การจัดการชั้นเรียนยุคดิจิทัล, แนะแนวและให้คำปรึกษาอย่างครูมืออาชีพ จากครูผู้สอนสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้, การใช้ ICT ในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน และเทคนิคการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนการสอน
จากนี้ คณะทำงานจะส่งหัวข้อการอบรมให้ผู้เข้ารับการอบรมศึกษาก่อน และหากผู้เข้ารับการอบรมมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีคณะทำงานตอบคำถามให้ รวมทั้งจะเร่งชี้แจงแนวทางโรงเรียนประชารัฐให้ผู้บริหารศึกษาและครูทำความเข้าใจก่อนเข้ารับการอบรม
กลุ่มย่อยที่ 4 : คณะทำงานด้านพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ (Local and International Teachers, University Partnership and Incentive)
คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 4 มีแนวทางในการพัฒนากลไกเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการศึกษาใน 3 แนวทาง คือ
1) การเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อระดมการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาทิ การบริจาคเงินของทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา, การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาโครงการประชารัฐ และการระดมการสนับสนุนผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นต้น
2) พัฒนาต้นแบบการศึกษาที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในโครงการประชารัฐ ด้วยการลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนเพื่อศึกษาแนวทางการนำชุมชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำโรงเรียนต้นแบบที่ดี (Best Practice) และจัดทำ Guideline ในรูปแบบของวิดีโอเพื่อเผยแพร่ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชน
3) พัฒนาความร่วมมือและกลไกการสร้างแรงจูงใจ ระหว่างองค์กรหรือสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศด้วยการกำหนดมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจ
กลุ่มย่อยที่ 5 : คณะทำงานพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค(Technology Mega Trends Hub R&D and Young Leadership Development)
คณะทำงานฯ ได้เสนอแนวทางบูรณาการเชื่อมโยง LCI Program (Leadership, Change Management, Innovation) สู่ R&D Hub ที่มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อตอบปัญหาสังคมและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อความเป็นเลิศ โดยมีแนวทางการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านของ Mega trends ได้แก่ Robotics, Nanotechnology, Biotechnology และ Digital Technology พร้อมทั้งสร้างนักวิจัยที่มีความรู้ใน 4 ด้านนี้
อีกทั้งมีแนวทางในการสร้าง National University, National Lab, Private University และ Private Lab และมีแนวคิดเสนอทางเลือกให้เด็กที่เรียนและจบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์มีทางเลือกในสายอาชีพมากกว่าการเป็นครูหรืออาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ เช่น อาจจะส่งคนเหล่านี้มาร่วมทำการวิจัยต่อยอดกับภาคเอกชนได้
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะทำให้สามารถสร้างนักวิจัยที่มีความเป็นเลิศได้ และเพิ่มจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีทักษะและความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย
สำหรับแนวทางการพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคนี้ ได้มีการเสนอให้รัฐบาลลงทุน 30% และเอกชนร่วมลงทุน 70% ซึ่งคณะทำงานฯ จะนำไปพิจารณาต่อไป
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ จะรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้จัดทำรูปแบบการนำเสนอเป็นวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานทั้งหมดของคณะทำงานฯ ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ โครงการปฏิรูปการศึกษาตามยุทธศาสตร์ 10 ด้านสู่มาตรฐานสากล, โรงเรียนประชารัฐครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ และการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา (Educational Hub) ของอาเซียน
สำหรับโครงการ CONNEXTEd School Partner Leadership Program ที่จะใช้เป็นแผนงาน (Platform) ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น จะมี School Partners จำนวน 1,000 คนจากภาคเอกชน ในการดูแลและให้ความช่วยเหลือโรงเรียนประชารัฐ และมี School Sponsor จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐด้วย ในเบื้องต้นจะจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างองค์กรภาคเอกชนจำนวน10 องค์กรที่เป็นสมาชิกของคณะทำงานฯ และในอนาคตจะเปิดรับองค์กรภายนอกที่มีความสนใจในการสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐด้วย
ในส่วนของการอบรมผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนนั้น ขอให้คณะทำงานพิจารณาองค์ประกอบการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนให้คนเหล่านี้สร้างแผนงานในการปรับเปลี่ยนขึ้นมาด้วยตนเอง จนกระทั่งสามารถสร้าง KPIs เพื่อประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะทำงานใกล้ชิดกับผู้นำรุ่นใหม่ของภาคเอกชนที่จะมีการผลัดใบไปเรื่อย ๆ เนื่องจากอาสาสมัครผู้นำของภาคเอกชน 1 รุ่นจะมีวาระการทำงาน 12 เดือน
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทุนโรงเรียน ซึ่งภาคเอกชนสามารถระดมเงินผ่านกองทุนดังกล่าวได้ หากการดำเนินงานกองทุนโรงเรียนประสบผลสำเร็จด้วยดีก็จะสามารถพัฒนาไปเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น กองทุนโรงเรียนประชารัฐได้
ส่วนการพัฒนา R&D ในประเทศไทย พบว่า อำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการยังคาบเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นว่า ควรจัดทำโครงสร้างการพัฒนา R&D ให้มีความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะระบุได้อย่างชัดเจนว่าการพัฒนา R&D จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงใด
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
ที่มา : สำนักรัฐมนตรี