จากที่หลายๆ มหาวิทยาลัยหลายแห่งตอบรับนโยบายภาครัฐ ให้เปิด – ปิด ภาคเรียนตามอาเซียน ดูเหมือนตอนนี้จะหมดช่วงทดลอง และผลออกมาไม่ดีอย่างที่คิด ปัญหาที่ตามมาไม่ใช่แค่อากาศที่ร้อนในช่วงเดือน เมษายนถึงพฤษภาคม แต่ยังส่งผลไปถึงสมาธิในการเรียน และประสิทธิภาพในการสอน ไปจนกระทั้งภัยแล้งในช่วงนี้ก็ส่งผลต่อการทดลองเพาะปลูกของคณะเกษตร ขณะเดียวกันที่โรงเรียนมัธยมศึกษาไม่ได้เปิด – ปิด ตามอาเซียน ก็ส่งผลกับการฝึกสอนของนักศึกษาสายครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ด้วย
จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เปิด - ปิดภาคเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 โดยภาคเรียนที่ 1 เปิดเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม และปิดภาคเรียนเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม นั้น รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปฏิบัติตาม มติ ทปอ. ซึ่งผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนการเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิด - ปิดภาคเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ได้ทำให้สถาบันอุดมศึกษาดีขึ้นเลย มีแต่ทำให้นิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษาเดือนร้อน โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม อากาศร้อนมาก เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน อาจารย์ก็ไม่มีอารมณ์สอน ขณะที่เด็กเกษตรก็ไม่มีน้ำใช้ในการทดลอง ขณะเดียวกันการเปิดปิดภาคเรียนของโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งอาชีวศึกษา ก็ไม่ได้เลื่อนเปิดเทอมตามอาเซียนทำให้มีปัญหาในการเรียนการสอน โดยเฉพาะในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ที่โรงเรียนเปิดปีการศึกษาใหม่ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาสายครู จะต้องออกไปฝึกสอนกับโรงเรียนประถม มัธยม ซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดเทอม นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการจ่ายงบประมาณไม่สอดคล้องกับปีงบประมาณ คือส่วนราชการงบประมาณจะเริ่มต้น 1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน แต่ในทางปฏิบัติ พอถึงเดือนสิงหาคมทุกหน่วยงานจะต้องรีบใช้และคืนงบประมาณทั้งหมด แต่มหาวิทยาลัยเพิ่งเปิดเทอมและใช้งบประมาณหมดแล้วทำให้ไม่มีเงินไปทำกิจกรรมต่างๆ ให้แก่นิสิตนักศึกษา
"ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม นอกจากอากาศร้อนจนตับแลบ ส่งผลไปถึงสมาธิของทั้งผู้เรียนและผู้สอนแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีวันหยุดค่อนข้างเยอะ ส่งผลกระทบกับเวลาที่ใช้ในการเรียนน้อยลง ทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับมติของ ทปอ. และทางที่ประชุมประธานอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้ทำแบบสำรวจคณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และ นักศึกษาใน 17 มหาวิทยาลัยรัฐ ช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน 2558 ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิด - ปิดภาคเรียนตามอาเซียน คิดเป็นคณาจารย์ร้อยละ 73.2 บุคลากรสายสนับสนุนร้อยละ 63 และนักศึกษาร้อยละ 60 นอกจากนี้ทราบว่าขณะนี้มีมหาวิทยาลัยอีกหลายกำลังแห่งจะกลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม ดังนั้น ผมอยากให้ ทปอ.ได้ทบทวนมติดังกล่าวและกลับไปเปิดปิดภาคเรียนตามเดิม ที่สำคัญทปอ.ไม่ต้องกลัวเสียหน้า ขอให้นึกถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดกับเด็กและคนอุดมศึกษาเป็นหลัก อย่าเห็นแก่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่ง” รศ.ดร.วีรชัยกล่าว
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า ทปสท.กำลังทำแบบสำรวจบุคลากร นิสิต นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และเห็นด้วยที่จะกลับไปเปิดปิดภาคเรียนตามเดิมหรือไม่ คาดว่าผลสำรวจจะเสร็จกลางเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะเสนอ ทปอ.พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบขณะนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) หลายแห่งกลับมาเปิดปิดภาคเรียนตามเดิม เนื่องจากเห็นว่าการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนไม่ได้เกิดผลดีเลย เช่น มรภ.ธนบุรี กลับมาเปิด - ปิดภาคเรียนเหมือนเดิมตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ส่วน มรภ.สุรินทร์ มรภ.ศรีสะเกษ และ มรภ.ภัฏร้อยเอ็ด ได้ประกาศเป็นนโยบายแล้วว่าจะกลับมาเปิดปิดภาคเรียนตามเดิมในปีการศึกษา 2559 แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ไม่ได้เปลี่ยนเวลาเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนเลย
ข่าวจาก : เดลินิวส์