สอบเข้ามหาวิทยาลัย

อย่าผลักดันให้ลูกแค่เรียนเก่งแต่ต้องมีความสุขกับการเรียนรู้

            UploadImage

 

            “พ่อแม่มีหน้าที่เป็นโค้ชให้ลูก ส่งเสริมให้ลูกค้นหาตัวเองด้วยการทำกิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียนที่หลากหลายนอกเหนือจากการเรียนพิเศษไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในที่ต่างๆ การเข้าค่ายโครงการต่างๆ รวมทั้งการทำงานพิเศษ หรือการมอบหมายให้เด็กที่มีหน้าที่รับผิดชอบของเขาเองภายในบ้านเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้เขาได้เรียนรู้และค้นหาตัวเองได้  ยิ่งเด็กค้นหาตัวเองได้เร็วที่สุดยิ่งเป็นผลดีสำหรับเขา สิ่งเหล่านี้พ่อแม่สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆเป็นการส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาการตามวัย ไม่ต้องรอให้ลูกโตแล้วค่อยลงมือทำ” อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
 

             หมอโอ๋ ร่วมกับพลอย มัลลิกะมาส (คุณแม่พลอย) นักเขียนอิสระ อาจารย์เภสัชกรหญิงหรรษา มหามงคล อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  (คุณแม่ขิม) สร้างเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” เขียนเรื่องราวการเลี้ยงลูกนอกบ้านรวมทั้งประสบการณ์ตรงจากอาชีพ บอกเล่าให้ผู้อ่านได้รับรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้จนทำให้มีแฟนเพจติดตามมากมายภายในระยะเวลาไม่นาน
 

             ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณแม่พลอย เจอข้อมูลจาก http://www.mamaexpert.com/topic/2708 เกี่ยวกับจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ Imagination is more important than knowledge ได้นำมาถ่ายทอดให้ฟังถึงประโยชน์ของการเล่านิทานให้ลูกฟังไว้อย่างน่าสนใจว่า จากผลการวิจัยหนึ่ง ระบุว่า เด็กเล็กในช่วงวัย 3-4 ปี เป็นช่วงที่ชื่นชอบการฟังนิทานอย่างที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนนอน ที่เด็กๆ รู้สึกว่า การได้ฟังนิทานก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
 
             เด็กๆ ในอังกฤษที่อายุระหว่าง 3-8 ปีจำนวน 500 คน แสดงให้เห็นว่า การฟังนิทานเป็นกิจกรรมยามว่างที่โปรดปรานของเด็ก แซงหน้ากิจกรรมบันเทิงอื่น ไม่ว่าจะเป็นการชมโทรทัศน์ หรือเล่นวิดีโอเกม โดยนักเล่านิทานที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ คือ “คุณแม่” เพราะคุณแม่ที่่ใช้เสียงตลก โทนเสียงที่แตกต่างในการเล่าเรื่อง รวมทั้งการใช้เสียงประหลาดเพื่อเป็นเอฟเฟกท์ประกอบการดำเนินเรื่อง

 

             ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ และนักคิดคนสำคัญของโลก เคยกล่าวไว้ว่า Imagination is more important than knowledge. Knowledge is limited. Imagination encircles the world. จินตนาการสำคัญกว่าความรู้เพราะความรู้นั้นมีจำกัด แต่จินตนาการมีอยู่ทุกพื้นที่บนโลก พลอยเขียนว่า บางครั้งบางคราว การเรียนเก่งในห้องเรียนหรือคะแนนที่สูงที่สุดไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต หากแต่การยอมรับในสิ่งที่ลูกชอบ และเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ได้ค้นพบความรักและความสุข ในงานที่ชอบ ให้เขาได้มีสิทธิเลือกใช้ชีวิตที่ใช่ ในโลกกว้างใบใหญ่น่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับลูกอย่างแท้จริง
 

             พร้อมยกตัวอย่างของการทำหน้าที่เป็นโค้ชของพ่อแม่ที่เห็นผลชัดเจนคือ กรณีที่ บอย โกสิยพงษ์ สนับสนุนลูกไปถึงฝั่งฝันที่ต้องการทำ “ดีใจ” ลูกสาววัย 17 ปี ศิลปินคนล่าสุด (ที่มีอายุน้อยที่สุด) ของแกลเลอรี่ระดับโลก เยลโล คอร์เนอร์ ที่มีแกลเลอรี่ใน 50 ประเทศทั่วโลกได้รับการเซ็นสัญญาเป็นศิลปินถ่ายภาพจากเยลโล คอร์เนอร์ ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 5 ปี โดยผลงานภาพถ่ายจะถูกแสดงขายในเยลโล คอร์เนอร์ทุกสาขาทั่วโลก
 

             ก่อนหน้านี้ น้องดีใจสับสนและยังหาตัวตนของตัวเองไม่เจอลังเลระหว่างการเรียนต่อด้านการช่วยเหลือเด็กพิเศษที่สนใจ ขณะเดียวกันก็ชื่นชอบการถ่ายภาพ จนกระทั่งเมื่อปิดเทอมฤดูร้อนปีที่แล้ว  มีโอกาสได้ลงเรียนคลาสเรียนถ่ายรูปคลาสหนึ่ง ที่ชื่อว่า Street Photography เป็นการถ่ายคนบนถนนที่เรียกว่า Street Portrait ซึ่งเป็นบทเรียนที่ชอบมาก พาตัวเองออกจาก “My Comfort Zone” (พื้นที่ปลอดภัย) ทำให้มีโอกาสได้ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น พูดคุยกับผู้คนหลากหลายประเภท ที่เดินผ่านอยู่บนถนน.. คลาสเรียนนี้ได้ลองอะไรใหม่ๆ ..เป็นฤดูร้อนที่เป็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) ในชีวิต
 

             ผลงาน Culture Identity หนึ่งใน Final Project (โปรเจกท์สุดท้ายก่อนเรียนจบชั้นมัธยมปลาย) ที่นำเสนอที่โรงเรียน ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวอย่างงาน เพื่อยื่นเรียนต่อให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังทำให้ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นหนึ่งในศิลปินของเยลโล คอร์เนอร์ แกลเลอรี่ชื่อดังระดับโลกด้วย

             หมอโอ๋อธิบายว่า แบบนี้เขาเรียกว่าแนวคิดทางการศึกษาพวกฝรั่งเรียกว่า “ปีหนึ่งระหว่าง” (Gap Year) ที่เปิดโอกาสให้เด็กที่เพิ่งจบมัธยมปลาย หยุดเรียนหนึ่งปี เพื่อ “ตามหาและทำความรู้จักตัวเอง” ด้วยการออกเดินทางท่องโลก ทำงานเป็นอาสาสมัครในประเทศโลกที่สาม เรียนคอร์สอะไรก็ได้ที่ตนเองสนใจ ลองทำงานในสาขาที่ตนกำลังคิดว่าจะเรียนต่อ โดยยังไม่จำเป็นต้องตรงดิ่งเข้ามหาวิทยาลัยในทันทีที่เรียนจบมัธยมปลาย เพราะพ่อแม่หวังว่า ภายในระยะเวลาหนึ่งปีในช่วง Gap Year ที่ลูกไม่ต้องถูกจำกัดด้วยระบบการศึกษานี้ เด็กๆ จะได้ทำความรู้จักตัวเองและรู้จักโลกมากขึ้น เพื่อกลับมาตัดสินใจเลือกเรียนต่อในสาขาอาชีพที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด

 

             “พ่อแม่หลายคนมีเป้าหมายในใจว่าทำยังไงให้ “ลูกเรียนเก่ง” หลายคนเชื่อสุดใจว่าการเรียนดี จะนำมาซึ่งอนาคตที่ช่างสดใส หลายคนจึงทำทุกอย่าง เพื่อให้วิชาการของลูกดีเลิศ ฝึกลูกให้ต้องอ่านได้แม้จะก่อนเข้าวัยอนุบาล พาลูกเรียนพิเศษจนตารางแน่น ไม่อนุญาตให้ลูกใช้เวลาแม้แต่น้อยนิดไปกับเรื่อง “ไร้สาระ” หลายคนอัดการเรียน... จนลูกเกลียดการเรียน แต่บางทีมันไม่ได้ประสบผลสำเร็จเสมอไป เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องช่วยให้ลูกได้ค้นหาตัวเองให้พบให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าต้องเริ่มทำตั้งแต่อายุเท่าไหร่ และจะเห็นเมื่อลูกอายุเท่าไหร่ รู้แต่ว่าค้นหาได้เองได้เมื่อไหร่เป็นดีที่สุดไม่ว่าช้าหรือเร็วก็ต้องเจอ”
 

             หมอโอ๋ บอกว่า ไม่มีคำว่าสายเมื่อทุกคนค้นหาตัวเองเจอ อย่างเช่นเรื่องราวของ “ฝน วีระสุนทร” หนึ่งในนักวาดการ์ตูนแอนิเมชั่น ของวอลท์ดิสนีย์ “Zootopia” และหนึ่งในนักวาดภาพแอนิเมชั่นเจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง “Frozen” เป็นคนไทย ที่ได้ทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ “วอลท์ดิสนีย์”
 

             ฝนเรียนจบเตรียมอุดมศึกษา และเคยเป็นนักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ลำดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่เมื่อค้นพบว่าตัวเองรักการวาดรูปและมีความถนัดในการวาดรูปอย่างจริงจัง  จึงติดต่อคนที่ทำงานในบริษัทของวอลท์ดิสนีย์ และส่งผลงานของตัวเองไปให้ดู คนที่นั่นแนะนำให้เรียนต่อทางด้านการวาดรูปจริงจัง ฝนจึงตัดสินใจจบชีวิตนักศึกษาแพทย์ ตอนปี 1 เพื่อเดินตาม “ความฝัน” ของตัวเอง
 

             “เคยมีการทำสำรวจ พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายของคณะแพทย์แห่งหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกมีความสุขกับการมาเป็นแพทย์ หลายคนมาเรียนเพราะพ่อแม่ปูทางให้ หลายคนมาเรียนเพราะเรียนดี เกือบครึ่งหนึ่งไม่แน่ใจว่าชีวิตที่จะใช้ข้างหน้าจะเป็นชีวิตที่มีความสุข ที่คลินิกวัยรุ่นของหมอ มีเด็กเรียนเก่งหลายคนที่อยู่กับความเครียด ความกดดัน และไม่รู้จัก “ความฝัน” พ่อแม่ อย่าผลักดันให้ลูกแค่เรียนเก่งแต่จงทำให้ลูกเป็นคน “มีความสุขกับการเรียนรู้” ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพของตัวเองที่ดี”  หมอโอ๋ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : คมชัดลึก