สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ชี้เด็กไทยก้าวร้าวไฮเปอร์ เสี่ยง"ฆ่าตัวตาย"ตอนโต!!

UploadImage

             จิตแพทย์ เผยคนไทย "กระหายความสำเร็จ-กลัวเสียหน้า-สังคมขี้นินทา" ต้นเหตุฆ่าตัวตาย ชี้เด็กประถมปลาย-ม.ต้น มีปัญหาซึมเศร้า ก้าวร้าว ไฮเปอร์ เสี่ยงฆ่าตัวตายตอนโต แนะเพิ่มหลักสูตรด้านจิตเป็นวิชาบังคับในชั้นเรียน
            เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวในงานเสวนา “ฆ่าตัวตาย สุขภาวะคนไทยบนปากเหว” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 57 ของโลก อัตราการอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 3,000 คนต่อปี แต่เชื่อว่าน่าจะมีการฆ่าตัวตายมากกว่านั้น เพราะยังพบว่ามีการปกปิดข้อมูลตรงนี้อยู่ เช่น กรณีคนที่ทำประกันชีวิตฆ่าตัวตายแล้วญาติจะปกปิดสาเหตุที่แท้จริงเอาไว้ เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าทุกๆ 1 ใน 4 คนเคยมีปัญหาความทุกข์ ความกังวลจนทำให้สูญเสียการดำเนินชีวิตอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แต่มีปัญหาด้านจิตเวชจริงๆ ร้อยละ 1 
           “ตอนนี้ค่านิยมที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายคือค่านิยมต้องการความสำเร็จเร็ว ความต้องการทางด้านวัตถุมากจนทำให้เกิดความเครียด และคิดว่าทำผิดนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความสำเร็จก็พอ การเกื้อกูลกันหายไป ขาดการช่วยเหลือของภาครัฐ และค่านิยมการรักษาหน้า เมื่อมีปัญหาก็ไม่ขอรับการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในสังคมที่มีการซุบซิบนินทานั้น เมื่อเกิดปัญหาทำให้ยากต่อการแก้ปัญหาคนฆ่าตัวตาย”นพ.ประเวช กล่าว
           ด้านนางพัชรี คำธิตา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการด้านจิตเวช โรงพยาบาลแม่ทา จ.ลำพูน กล่าวว่า การรักษาหน้า การซุบซิบนินทา เป็นเหตุผลเร่งให้คนฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะใน อ.แม่ทา ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสุขมากที่สุดในประเทศ แต่เป็น 1 ใน 8 อำเภอที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดในจังหวัด และเคยมีสถิติสูงสุดในประเทศด้วย โดยอัตราอยู่ที่ 34.51 ต่อแสนประชากร หรือปีละ 20 คน ซึ่งสาเหตุมาจากการการกลัวเสียหน้า กับการซุบซิบนินทา ใครที่เดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลสวนปรุงเมื่อกลับมาจะถูกนินทา ถูกตีตรา ทำให้คนไม่เข้าสู่ระบบบริการ ดังนั้นจึงเลือกที่จะปกปิดไม่ไปรับบริการ ต่อเมื่ออาการรุนแรง ปลีกตัว เก็บตัว ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ญาติจึงต้องพาตัวส่งโรงพยาบาล แต่หลังกลับจากรักษาตัวกลับมาที่ชุมชนก็ถูกตีตราอีกกลายเป็นปัญหาไปเรื่อยๆ ดังนั้นกระทรวงจึงให้พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนไปศึกษาต่อด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแห่งละ 1 คน พร้อมกับมีการปรับทัศนคติของชุมชนใหม่ โดยใช้แกนนำชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มพระสงฆ์ มาร่วมให้ข้อมูลความรู้ เกิดเป็นโครงการบิณฑบาตความทุกข์ และขอความร่วมมือจากร้านค้าห้ามจำหน่ายสุราในวันพระ งานศพ ล่าสุดอัตราการฆ่าตัวตายของพื้นที่ อ.แม่ทาดีขึ้น อยู่ที่ 7 ต่อแสนประชากร
            ขณะที่นางรัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า จำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นด้วย โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งพบปัญหา 2 กลุ่มอาการคือ 1.อาการไม่คลุกคลีกับใคร ซึมเศร้า ไม่เข้าสังคม ไม่สดใส 2.อาการก้าวร้าว ไฮเปอร์ ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นเด็กเกเร แต่ที่จริงอาการนี้จะทำให้เด็กโตไปมีภาวะซึมเศร้า หรืออาจฆ่าตัวตายได้ ที่ผ่านมาเคยเจอ 1 รายที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ดังนั้นทางแก้ควรจะบรรจุการเรียนรู้เรื่องโรคทางจิตเวช อยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค รู้จักวิธีสังเกตโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตเวชในเด็กเป็นอย่างไร สามารถเข้าสู่การรักษาได้โดยไม่ต้องอายใคร หรือกลัวว่าสังคมจะรังเกียจ

 
ที่มา : เดลินิวส์