สอบเข้ามหาวิทยาลัย

วิกฤตรุนแรง คาด 4 ปี ขาดแคลนพยาบาลสูงถึง 5 หมื่นคน

           นักวิชาการไทย วิจัยปัญหาระบบสุขภาพ พบความเสี่ยงขาดแคลนพยาบาลนับหมื่นคน เสนอ ๔ แนวทางแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกนักศึกษา  ปรับปรุงหลักสูตร  พัฒนาอาจารย์   ให้ทุนการศึกษา และการกระจายพยาบาลวิชาชีพสู่ภาคชนบท 

nurse27

          ในการประชุมวิชาการเกี่ยวกับ บทบาทของสถาบันการศึกษาภาคเอกชนในการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพ (Role of private sector training institutions In Human Resources for Health: training and beyond) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแพทย์และพยาบาลทั้งในและต่างประเทศกว่า ๕๐ คน มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานการวิจัยโครงการ Resilient and Responsive Health Systems (RESYST) Consortium ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ๗ ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เคนยา ไนจีเรีย อินเดีย เวียดนาม และไทย ภายใต้การสนับสนุนของวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine, University of London) 

            นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ในฐานะนักวิจัยหลักในโครงการ RESYST กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ในประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาพยาบาลที่จบการศึกษาจากสถาบันของรัฐ ส่วนใหญ่มีความประสงค์ที่จะทำงานในหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่นักศึกษาจากสถาบันเอกชนส่วนใหญ่ต้องการทำงานในหน่วยงานเอกชน เพราะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า สามารถชดเชยกับภาระค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนและค่าเล่าเรียนที่แพงกว่าสถาบันของรัฐได้ ส่งผลให้จำนวนพยาบาลกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ ไม่กระจายไปยังหน่วยงานของรัฐที่ในชนบทห่างไกล ขณะที่ทัศนคติของนักศึกษาส่วนใหญ่พอใจที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเดิมในชนบท 

นพ.วิโรจน์ กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายจากการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหา ใน ๔ ด้านหลัก ได้แก่  

         ๑) นโยบายด้านการคัดเลือกและการรับเข้าศึกษา โดยสถาบันการศึกษาพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนควรดำเนินนโยบายการคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบทต่อไป และกระจายสถาบันการศึกษาเพื่อจัดการศึกษาในพื้นที่ให้มากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานในบ้านเกิด ช่วยส่งเสริมการธำรงรักษาพยาบาลไว้ในชนบท 

          ๒) การพัฒนาหลักสูตร ควรเน้นให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานในชนบท และควรมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนโดยเพิ่มเนื้อหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพให้มากขึ้น เช่น ความเสมอภาคทางด้านสุขภาพ นโยบายสุขภาพ ความเข้าใจความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติงานเข้าไปในหลักสูตร 

         ๓) การพัฒนาอาจารย์ ควรกำหนดให้การมีประสบการณ์ทำงานในชนบทเป็นเกณฑ์หนึ่งในการคัดเลือกเข้าทำงาน ควรพัฒนาคุณภาพอาจารย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา และการวางแผนพัฒนากำลังคนพยาบาลเพื่อรับมือกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและอัตราการขาดแคลนพยาบาล ที่คาดว่าจะสูงขึ้นอย่างมากในช่วง ๕-๑๐ ปีข้างหน้า 

        ๔) กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลหรือโรงพยาบาลในชนบทควรให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสการกลับไปทำงานยังบ้านเกิดภายหลังจบการศึกษา และเพิ่มอัตราการคงอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ต้องการกำลังคนพยาบาลในการดูแลสุขภาพ และแสวงหาความร่วมมือทั้งจากสถาบันการศึกษาภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนการผลิตพยาบาลให้เพียงพอกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

           ด้านดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาพยาบาลคนที่ ๒ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยในโครงการ RESYST กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ความต้องการพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกอบกับการเพิ่มของประชากรสูงอายุและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งในอนาคตจะเป็นปัญหาวิกฤตรุนแรงหากไม่มีการแก้ไข โดยสภาการพยาบาลไทยคาดว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีการขาดแคลนพยาบาลประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน 

           ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาด้านพยาบาลทั้งสิ้น ๘๕ แห่ง แบ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ ๕๒ แห่ง และสถาบันศึกษาเอกชน ๒๓ แห่ง  สามารถผลิตพยาบาลรวมได้ปีละประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน โดยหากมีความร่วมมือกันระหว่างสถาบันของรัฐและเอกชนในการให้ทุนการศึกษา การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก จูงใจให้มีการเรียนพยาบาล คาดว่าจะสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ ๑๒,๐๐๐  คน

          “สำหรับค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายในเรียนพยาบาลตลอดระยะเวลา ๔ ปี อยู่ที่ประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ บาท/คน หากเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐจะมีงบประมาณสนับสนุนให้ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับสถาบันของเอกชนนักศึกษาต้องจ่ายเองทั้งหมด ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร ดังนั้นหากมีการสนับสนุนนักศึกษาในสถาบันเอกชน โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตพยาบาลและกระจายกำลังคนกลับไปทำงานที่พื้นที่ของตนเองได้มากขึ้น”

ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการวางแผนกำลังคน คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาด้านพยาบาลภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการผลิตกำลังคนพยาบาลของประเทศ จึงควรมีการส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาภาคเอกชนผลิตกำลังคนด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน 

 

ที่มาภาพ:http://www.trang.psu.ac.th/asean/?p=417

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา