1. จับเวลา
อย่ามัวแต่จดจ้องอยู่กับข้อสอบ แต่ควรจับเวลาในการทำข้อสอบด้วย การสอบแต่ละสนาม ใช้เวลาไม่เท่ากัน จำให้ขึ้นใจเลยก็ดีนะว่าสอบอะไรใช้เวลาเท่าไหร่ หยิบนาฬิกามาตั้งไว้หน้าโต๊ะเลย แรกๆ ตั้งจับเวลาไปก่อนก็ได้ จะได้ไม่เสียสมาธิหันไปดูนาฬิกาบ่อยๆ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่ต้องจับเวลา ให้เราควบคุมเวลาด้วยตัวเอง การทำข้อสอบแบบกำหนดเวลาจริงแบบนี้ จะทำให้เราคุ้นกับช่วงเวลาในการทำข้อสอบ วิชาไหนต้องคิดเยอะ วิชาไหนต้องเน้นอ่านไว เราจะได้รู้ด้วยตัวเอง
2. จำลองสถานการณ์
วิธีการจำลองสถานการณ์
- ตรวจสอบเวลา จำนวนชั่วโมงในการสอบจริงของแต่ละวิชาว่าใช้เวลาเท่าไหร่
- กำหนดตารางเวลาไว้ในปฏิทิน แล้วห้ามเบี้ยวนะ! คิดเหมือนนับถอยหลังวันสอบจริง
- หากเป็นไปได้ จัดเวลาให้ตรงกับที่ต้องสอบจริงๆ
- เตรียมข้อสอบเก่า กระดาษคำตอบเหมือนจริง บัตรประจำตัว เตรียมทุกอย่างให้เหมือนวันสอบ
- อย่าลืมบอกผู้ปกครองให้เข้าใจ ท่านจะได้ไม่รบกวนเวลาจำลองสถานการณ์
- จากนั้นทำข้อสอบเก่าให้เต็มที่สุดความสามารถที่มี
- วัดผลตัวเอง ข้อไหนทำได้ ข้อไหนทำไม่ได้ บทไหนถนัด บทไหนอ่อน
- ถ้าบทไหนถนัด และออกเยอะ ให้เอาเนื้อหาส่วนนี้ให้แม่น
- ถ้าบทไหนไม่ถนัด และออกน้อย หากเวลากระชั้นชิดมาก อาจต้องปล่อยไป
- บทไหนไม่ถนัด ออกเยอะ อาจต้องทุ่มเวลาสักหน่อย เพื่อให้เก็บส่วนนี้ให้ได้
3. ปริ้นกระดาษคำตอบให้เหมือนจริง
นอกจากตัวข้อสอบที่ควรปริ้นท์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็ปริ้นตัวกระดาษคำตอบมาด้วยเลย เว็บ สทศ. มีมาให้โหลดทุกปี อย่าลืมเช็กรูปแบบกระดาษคำตอบกับตัวคำถามด้วยว่าเหมือนกันหรือเปล่า แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ หรือ เป็นข้อสอบของสถาบันกวดวิชาหรือของโรงเรียน ก็ทำกระดาษคำตอบขึ้นมาเองได้ แบบเขียนตอบ ไล่ 1-100 ตามจำนวนข้อก็ได้ อย่าลืมเขียนชื่อวิชา และ ชื่อ สกุล เลขบัตรประชาชนของเราไว้ด้วยนะ เอาให้เหมือนกับสอบจริงเลย
4. จำลองบรรยากาศให้เหมือนวันสอบจริง
หลายๆ คนพลาดก็เพราะยังทำตามใจตัวเองอยู่ เช่น นอนทำข้อสอบ, วิ่งไปเข้าห้องน้ำ, สอบไปกินขนมไป ฯลฯ มาถึงขั้นนี้แล้ว อดทนอีกนิดเพื่อให้บรรยากาศเหมือนการสอบมากที่สุด
- เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนเริ่มสอบ
- นั่งทำบนโต๊ะ เคลียร์โต๊ะให้เรียบร้อย
- เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เท่าที่จำเป็น
- ไม่ต่อรองเวลา ไม่อู้ ง่วงก็ไปนอนไม่ได้ ทำไม่ทันก็ห้ามต่อเวลา
- ปิดล็อกห้อง ปิดมือถือ
5. วงกลมหน้าข้อเอาไว้ ในเรื่องที่เราไม่คุ้นเลย
มาถึงขั้นตอนทำข้อสอบบ้าง ให้นึกเสมอว่าเราอยู่ในห้องสอบ ทำข้อสอบจริงอยู่ ข้อไหนที่ทำไม่ได้ให้ข้ามไปก่อน แนะนำเพิ่มเติมคือ ให้วงกลมหน้าข้อที่ทำไม่ได้เอาไว้ก่อน ไม่ใช่แค่เพื่อกลับมาทำทีหลัง แต่เอาไว้หลังสอบ จะได้กลับมาดูว่าคำถามแนวไหน เรื่องไหน ที่เราตอบไม่ได้ จะได้มีเวลากลับไปอ่านทวนอีกรอบ
6. อย่าโกงตัวเอง
มันจะไปมีประโยชน์อะไร ถ้าเราโกงตัวเอง เพราะในห้องสอบถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้ ไม่มั่นใจก็คือไม่มั่นใจ ไม่มีโอกาสเปิดเฉลย ทำตามกติกาให้ครบทุกอย่าง ไม่มั่นใจข้อไหนก็ดึงสัญชาตญาณตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด
7. อ่านและทวน ส่วนที่พลาดไป
ถ้ามีเฉลยอยู่ในมือ ให้กลับมาดูหลังจากทำข้อสอบเสร็จและตรวจเรียบร้อยแล้ว หลังทำเสร็จให้กลับไปอ่านเนื้อหาเรื่องนั้นอีกรอบ การที่เราไม่มั่นใจแสดงว่าเรายังไม่เป๊ะพอนั่นเอง และข้อไหนที่ตอบผิดก็ดูเฉลยว่าทำไมถึงผิด ผิดเพราะสะเพร่า หรือ เข้าใจผิด และแก้ไขให้ตรงจุด อย่าลืมกลับมาทำอีกรอบด้วยนะ
8. จดสถิติทุกวิชา
อาจจะดูวุ่นวายไปหน่อย แต่เชื่อเถอะว่า ทำแล้วเห็นผล ทำข้อสอบเสร็จแต่ละวิชา จดไว้ว่าใช้เวลาไปเท่าไหร่ เฉลี่ยข้อละกี่นาที จดไว้เพื่อเป็นสถิติของตัวเอง บางครั้งเราทำข้อสอบหลายฉบับ เวลาอาจจะไม่เท่ากัน ถ้าเป็นวิชาเดียวกัน แต่รอบหลังใช้เวลามากกว่า จะได้ดูได้ว่าเราช้าเพราะอะไร ยากขึ้นหรือเปล่า จะได้เป็นมาตรฐานของตัวเองต่อไปว่า ถ้าข้อสอบยาก-ง่าย จะใช้เวลาประมาณไหน
9. ทำให้เป็นนิสัย
ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนมาเน้นทำโจทย์สัปดาห์สุดท้ายด้วยเหตุผลยอดฮิตคือ อ่านไม่ทันแล้ว! การทำโจทย์เป็นทางลัดในการเตรียมตัวสอบก็จริง แต่มันจะได้ประโยชน์มากที่สุดก็ต่อเมื่อ เราฝึกทำโจทย์ตอนเราพร้อมและมีความรู้ เราควรอ่านหนังสือควบคู่ไปกับการทำโจทย์ และควรทำให้เป็นนิสัย ฝึกเรื่อยๆ ข้อสอบ 1 ชุด สามารถทำได้ 2-3 รอบเลย เสร็จ 1 รอบ ดูเฉลย กลับไปอ่านทบทวนเรื่องที่ยังไม่เก็ท แล้วค่อยกลับมาสอบใหม่
10. คนเดียวมันเหงา เอามาด้วย
จัดสอบทั้งที ให้ได้บรรยากาศเพิ่มเติม อาจจะจัดสอบกันทุกอาทิตย์ก็ได้ถ้าฟิตพอ นัดแนะกับเพื่อนให้เรียบร้อยว่าวันหยุดนี้จะสอบวิชาไหน บ้านใคร จัดสถานที่สอบให้เหมือนที่บอกในข้อ 1-5 การมีเพื่อนสอบ ทำให้เราซึมซับบรรยากาศได้อีกแบบ ซึ่งจะเสมือนจริงมากกว่า ต้องควบคุมสมาธิของตัวเองมากกว่าเดิมด้วย