1. สายหลักก็คือสายออกแบบ
เป็นสถาปนิกทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม แต่อย่าได้คิดว่าเรียนจบมาแล้วจะได้ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม มีผลงานเจ๋งๆได้เลย ทันทีที่ท่านรับปริญญา ก้าวเท้าออกจากมหาวิทยาลัยเข้าสู่สำนักงานออกแบบแล้วเริ่มเข้าประจำตำแหน่งทำงานออกแบบ น้องๆ จะได้รู้ว่าที่เรียนผ่านมา 5 ปีแทบไม่ช่วยให้ทำงานออกแบบจริงๆได้เลย ที่เรียนมาตลอด 5 ปีนั้นเป็นเป็นเพียงความรู้พื้นฐาน เบื้องต้นมากๆ ประมาณ 1 ใน 50 ส่วนขอความรู้ที่ใช้ทำงานจริง
น้องๆ จะต้องเรียนรู้วิธีที่จะเป็นสถาปนิกที่แท้จริง โดยต้องทำงานเป็นผู้ช่วยพี่ๆ สถาปนิกรุ่นโตในสำนักงานออกแบบอีกประมาณ 3-5 ปี จึงจะมีความรู้เพียงพอที่จะสามารถทำงานออกแบบได้เอง หลังจากนั้นจึงจะเลือกวิถีทางของตัวเองต่อไปว่าจะเน้นทำงานในแนวทางไหน จะอยู่กับสำนักงานขนาดใหญ่หรือเล็ก หรือเลือกที่จะเปิดสำนักงานของตัวเอง
2. สายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
หลายคนเมื่อเรียนจบแล้วได้ทำงานไปซักพักอาจจะพบความสนใจพิเศษของตัวเอง อาจจะเลือกเรียนต่อ ปริญญาโท ปริญญาเอก ในสาขาเฉพาะซึ่งมีให้เลือกหลายหลาย เช่นสาขาอนุรักษ์, เทคโนโลยีอาคาร, การประหยัดพลังงาน, การออกแบบแสง, การออกแบบเสียง, อสังหาริมทรัพย์, วัสดุศาสตร์ และอื่นๆ
3. สายอาจารย์มหาวิทยาลัย
เป็นทางเลือกย่อยจากข้อ 2 สำหรับคนที่เรียนต่อแล้วสนใจเบนเข็มมาทางสายวิชาการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดความรู้ต่อ
4. สายค้าขาย
หลายคนทำงานออกแบบไปซักพักแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็ไม่ได้ผิดอะไร ยังมีงานสายการขาย เป็นเซลล์ หรือ designner ในบริษัทขายวัสดุ อุปกรณ์ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือเทคโนโลยีอาคาร ตัวงานไม่ได้ด้อยกว่าการเป็นสถาปนิกจริงๆเลย แถมยังมีข้อได้เปรียบคือรายได้ดีกว่า เนื่อจากมีรายได้หลักเป็นค่า commission และเป็นงานที่สร้างโอกาสทางธุรกิจมากกว่าอีกด้วย
5. สายอสังหาฯ หรือ Real Estate
คือการเข้าเป็นสถาปนิกร่วมทีมในบริษัทอสังหาฯ ซึ่งอาจจะต้องมีประสบการณ์การออกแบบงานโครงการ หรือเรียนต่อปริญญาโทสาขาที่เกี่ยวข้องอสังหาริมทรัพย์ น้องๆ จะได้ทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่แต่ละที่ว่ามีศักยภาพแค่ไหน ควรสร้างโครงการอะไร เกรดไหน ราคาขายเท่าไหร่ ต้อง design ประมาณไหนจึงจะตอบโจทย์ลูกค้า สายนี้ก็รายได้ดีกว่าสายออกแบบ
6. สายจัดการงานก่อสร้าง หรือสาย CM (Construction Management)
ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ลำพังผู้ออกแบบกับผู้รับเหมาไม่สามารถทำงานก่อสร้างอาคารให้ออกมาดีได้ จำเป็นต้องมีผู้จัดการการก่อสร้างหน้างานเพื่อควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น และได้คุณภาพดี เสร็จทันเวลา ซึ่งเป็นงานที่มีรูปแบบเฉพาะ จัดเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง คนที่จะทำงานนี้ได้ต้องเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรที่มีประสบการณ์การออกแบบและการตรวจหน้างานมามากพอ แล้วก็เช่นเดียวกัน งานสายนี้รายได้ดีกว่าสายออกแบบ
7. สายออกแบบข้ามสาย
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาปนิกเมื่อทำงานไปสักพักจะมีบางคนที่เริ่มทำงานข้ามสาย เช่น นักออกแบบภายในทำงานสถาปัตย์ สถาปนิกข้ามไปทำงานภูมิสถาปัตย์ สถาปนิกไปเป็น Graphic Designer หรือ Fashion Designer ก็มีให้เห็นได้บ่อยๆ เนื่องจากการออกแบบทุสาขามีพื้นฐานและจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าเหนือสิ่งธรรมดาสามัญ แล้วจึงแสดงออกมาเป็นสิ่งต่างๆในรูปแบบต่างๆกัน แยกออกเป็นสาขาต่างๆ
8. สายธุรกิจ
เนื่องจากสถาปนิกเป็นการรวมองค์ความรู้ที่หลากหลายมาใช้สร้างงาน และต้องมี sense ในการแก้ปัญหา การจัดการ และยังมีความสามารถในการเป็นผู้นำทีม จึงไม่แปลกหากจะมีสถาปนิกบางคนใช้สิ่งที่เรียนรู้ฝึกหัดเหล่านี้มาใช้ในการทำธุรกิจ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในการสร้างงานที่ดี ตอบสนองคุณค่าทางใจ มาเป็นการตอบสนองทางธุรกิจ จุดนี้ต้องระวังมากๆ เพราะมีสถาปนิกหลายรายที่ทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวเพราะไม่สามารถออกจากความเคยชิน ที่จะต้องทำงานให้ดีที่สุด สถาปนิกที่จะเบนเข็มมาทางธุรกิจ ต้องระวังจุดนี้ให้ดี
9. สายศิลปะ
งานออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการเล่นกับการรับรู้และประสบการณ์ของคนในแง่มุมต่างๆ นี่เป็นส่วนที่งานออกแบบเหมือนกับงานศิลปะ เพียงแต่งานออกแบบมักจะตอบสนองโจทย์ของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของงานตัวจริง หรือไม่ก็เน้นการแก้ปัญหาบางอย่างเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าสิ่งเดิมๆที่เคยมีมา ในขณะที่งานศิลปะมักเกิดจากประเด็นที่ตัวผู้สร้างงานต้องการสื่อออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีสถาปนิกบางคนทำงานไปเรื่อยๆแล้วเกิดมีประเด็นบางอย่างในใจที่ตัวเองอินกับมันมากๆจนอยากจะทำงานที่สื่อถึงมันออกมาโดยไม่มีคนจ้างให้ทำ แล้วค่อยๆเบนไปสู่การเป็นศิลปินเต็มตัว และจริงๆก็มีน้องๆหลายคนที่ชอบวาดรูป ชอบทำงานศิลปะ แต่เลือกเรียนสถาปัตย์ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางอาชีพ หรืออิทธิพลจากคนในครอบครัว แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็หนีตัวตนของตัวเองไม่พ้น ก็ย้อนกลับมาทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง
ข้อมูลจาก : viridian-academy.com