สาขาการบริหารงานยุติธรรมและความปลอดภัย หรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่า อาชญวิทยา เป็นหลักสูตรเฉพาะทางที่ผสมผสานระหว่างความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน
โดยส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และเป็นสาขาที่อยู่ในคณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม และปัจจุบันก็มีหลักสูตรในระดับปริญญาตรีอยู่ 1 สถาบัน และสาขาอาชญวิทยามีรายวิชาเรียนหลักๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
- การบูรณาการอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์
- การพิสูจน์หลักฐาน
- การบริหารจัดการและตรวจสถานที่เกิดเหตุ
- หลักสิทธิมนุษยชน คุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล
- กฎหมายธุรกิจเบื้องต้นกับอาชญากรรม
- หลักกฎหมายอาญากับอาชญากรรม
- จิตวิทยากับกระบวนการยุติธรรม
- อาชญากรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี
- เด็กและเยาวชนกับอาชญากรรม
- เหยื่อวิทยา
อีกสึ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเรื่องของงานหรืออาชีพที่สามารถทำได้ เมื่อจบมาจะได้ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เป็นลักษณะงาน เช่น การทำคดี การตรวจวัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการอ้างอิงในชั้นศาล เพราะฉะนั้นมีส่วนช่วยในกระบวนการยุติธรรมในประชาชน
ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนที่จบสาขาอาชญวิทยามักจะประกอบอาชีพรับราชการอยู่แล้ว จึงมาเรียนต่อเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น ตำรวจ นักทัณฑวิทยา อัยการ ศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้คุมประพฤติ ในสถานพินิจ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ อาจารย์สอนวิชาอาชญาวิทยา เป็นต้น ผู้ประกอบอาชีพนี้มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของหน่วยงานในภาครัฐและองค์การพัฒนาเอกชนมากขึ้น
สรุปว่าอาชีพหรือสายงานหลักที่สามารถทำได้เมื่อสำเร็จการศึกษาคือ
- นักวิชาการอาชญาวิทยา (ภาครัฐ, ภาคเอกชน, องค์กรอิสระ)
- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกระบวนการยุติธรรม
- นักวิชาการยุติธรรมในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม
- นักวิจัยในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม (ภาครัฐ, ภาคเอกชน, องค์กรอิสระ)
ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักอาชญาวิทยา ส่วนมากจะอยู่ในสายงานของกระบวนการยุติธรรม จึงมีโอกาส ในการเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน และถ้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจก็จะได้รับการเลื่อนยศตามระเบียบของทางราชการ และมีโอกาสก้าวหน้าไปตามสายงานในอาชีพตามลำดับ
ตัวอย่างสถาบันการศึกษาที่มีสอนหลักสูตร สาขาการบริหารงานยุติธรรมและความปลอดภัย (อาชญวิทยา)
• มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม (หลักสูตร ป.โท)
• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สาขาวิชาการบริหารงานยุติธรรม (หลักสูตร ป.โท , ป.เอก)
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม (หลักสูตร ป.โท , ป.เอก)
• มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม (หลักสูตร ป.โท)
• มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาศาสตร์ สาขานิติวิทยาศาสตร์ (หลักสูตร ป.โท , ป.เอก)
• มหาวิทยาลัยบูรพา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สาขาวิชาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม (หลักสูตร ป.โท)
• มหาวิทยาลัยรังสิต คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม สาขาวิชาอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ (หลักสูตร ป.ตรี , ป.โท , ป.เอก)
• โรงเรียนนายร้อยตำรวจ วิชาเอกอาชญาวิทยา (หลักสูตร ป.โท)
อ่านบทความเพิ่มเติมของอาชีพ นักวิชาการอาชญาวิทยา