สมศ. เปิดผลประเมินคุณภาพฯรอบสาม 26 สถาบันที่เปิดสอนด้านการบินในไทย เผยอยู่ในระดับดี-ดีมาก ระบุขณะนี้มีการเปิดหลักสูตรการบินเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ห่วงเรื่องคุณภาพ
สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ). แถลงข่าวมาตรฐานสถานศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินในประเทศว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน 26 แห่ง เป็นการสอนในรูปแบบสถาบันการบินและคณะการบิน 5 แห่ง ในจำนวนนี้มี 3 แห่ง คือ สถาบันการบินพลเรือน มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และมหาวิทยาลัยรังสิต มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามอยู่ในระดับดี ส่วนอีก 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี เพิ่งเริ่มจัดการเรียนการสอนจึงยังไม่ได้เข้ารับการประเมิน สำหรับอีก 21 แห่ง เปิดสอนหลักสูตรหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินก็ล้วนมีผลการประเมินอยู่ในระดับดีและดีมาก “3 ปีที่ผ่านมามีสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน และสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของอาเซียน อย่างไรก็ตามเวลานี้การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรด้านการบินของสถาบันอุดมศึกษาไทยยังมีแนวโน้มที่ดี แต่หากขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าห่วงเรื่องคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องดูแลอย่างเข้มข้น เพราะบุคลากรด้านนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต และความปลอดภัยของผู้คน
ผอ.สมศ.กล่าว ด้าน น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีนักบิน 2,500-3,000 คน แต่ละปีธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400-500 คน ซึ่งสถาบันการบินพลเรือนสามารถผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินได้กว่า 1,800 คน เฉพาะนักบินผลิตได้ 100-120คน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
เดลินิวส์