ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่สายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินกะทันหันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 9 เที่ยวบิน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ประกาศยกเลิกอีก 20 เที่ยวบิน และในวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมามีการประกาศยกเลิกเที่ยวบินไปอีก 61 เที่ยวบิน ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละวันสายการบินนกแอร์มีการยกเลิกเที่ยวบินประมาณ 10 เที่ยวบิน/วัน
แม้การยกเลิกเที่ยวบินในระยะหลังจะมีการแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า แต่สะท้อนให้เห็นว่าสายการบินยังไม่สามารถหาจำนวนนักบินให้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ไม่สามารถทำการบินได้ตามตาราง ปัจจุบันสายการบินนกแอร์แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการใช้สายการบินอื่นร่วมทำการบินแทน อาทิ สายการบินไทยแอร์เชีย, สายการบินไลอ้อนแอร์, สายการบินนกสกู๊ต และสายการบินไทยสมายล์
แหล่งในแวดวงการบินระบุว่า สายการบินนกแอร์มีเครื่องบินอยู่ 30 ลำ โดยเครื่องบินแต่ละลำต้องใช้นักบินไม่ต่ำกว่า 10 คน รวมแล้วสายการบินนกแอร์ต้องใช้นักบิน 300 คน แต่ปัจจุบันมีนักบินอยู่เพียง 190 คน หากรวมกับที่จะว่าจ้างนักบินต่างชาติอีก 10 คนก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
“ในทางปฏิบัติ การบันทึกการบินของนักบิน ทางสายการบินจะเป็นผู้กำหนดชั่วโมงบินให้ โดยกำหนดผ่านตารางบิน เนื่องจากเครื่องบินจอดไม่ได้ เฉพาะในประเทศต้องทำการบินตลอดเวลา 16 ชั่วโมง ช่วงกลางคืนที่ไม่มีเที่ยวบินนักบินจะได้พัก แต่นักบินแต่ละชุดจะต้องสลับกันทำงาน อาทิ การบินไทยมีเครื่องบิน 6 ตัวใช้นักบิน 60 คน โดย 1 วันทำการบิน ไป-กลับ ใช้นักบินประมาณ 4 คน เมื่อทำการบินในวันนี้อีกวันหนึ่งต้องหยุดพัก สลับเป็นนักบินอีกชุด แต่หากเป็นการบินระหว่างประเทศเครื่องบินไม่มีการพัก ก็ต้องใช้นักบินเพิ่มขึ้นอีก”
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อไปว่า ก่อนเกิดปัญหาการยกเลิกเที่ยวบิน สายการบินนกแอร์มีการประกาศรับสมัครนักบินเพิ่มตามโซเชียลมีเดีย ซึ่งในหมู่นักบินมีการแชร์ประกาศดังกล่าวพร้อมอัตราเงินเดือนส่งต่อกันทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยทางนกแอร์เสนอให้รายได้แก่นักบินระดับผู้ช่วยที่ยังไม่มีประสบการณ์สูงสุด 183,000 บาท/เดือน หากมีประสบการณ์จ่ายสูงสุด 238,000บาท/เดือน ส่วนนักบินระดับกัปตันนกแอร์ทุ่มจ่ายถึง 380,000 บาท/เดือน ซึ่งเบี้ยเลี้ยงเต็มจำนวนจะได้เฉพาะคนที่ทำการบินถึง 80 ชั่วโมง อัตรานี้เสี่ยงต่อการทำผิดข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานนักบิน
“ชั่วโมงบินตามตารางกับสภาพความจริงมีความต่างกัน เพราะกว่าจะได้บินจริงต้องมีการตรวจเช็คเครื่องและเอกสาร เมื่อลงจอดก็ต้องทำการตรวจเช็คอีกครั้ง เมื่อนับรวมส่วนนี้เวลาพักผ่อนของนักบินจะไม่พอตามข้อกำหนด หากมีการให้ทำการบินเต็มอัตรา 80 ชั่วโมง ในช่วงที่ผ่านมาสำหรับนกแอร์จำนวนนักบินที่มีต่อจำนวนเครื่องจึงเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีการใช้นักบินเกินอัตราข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานนักบิน”
นักบินการบินไทยถูกแย่ง ค่าตัวสูงลิ่ว
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักบินที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการบินรวมจำนวน 6,072 คน แบ่งเป็นนักบินที่ทำการบินในเครื่องบินพาณิชย์จำนวน 5,555 คน ในจำนวนนี้เป็นนักบินพาณิชย์ตรี 3,179 คน เป็นนักบินพาณิชย์เอก 2,376 คน ที่เหลือเป็นนักบินที่ทำการบินในเฮลิคอปเตอร์ โดยกว่า 70% ของนักบินทั้งหมดเป็นส่วนที่สมองไหลมาจากภาคราชการ อาทิ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กรมตำรวจ และกรมการบินพลเรือนในอดีต
มีการยืนยันจากบุคคลในวงการการบินหลายรายตั้งแต่ปลายปี 2557 ว่า ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบิน สำหรับประเทศไทยวิกฤติดังกล่าวปะทุตัวจากการกว้านซื้อตัวนักบินของสายการบินชั้นประหยัดในประเทศ และสายการบินในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม เฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสั่งซื้อเครื่องบินจาก Airbus ไปแล้วกว่า 200 ลำ ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนนักบิน ยังรวมไปถึงช่างเทคนิคด้านอากาศยานนั้นไม่ใช่สายการบินนกแอร์เพียงสายการบินเดียวที่ต้องเผชิญ
ในขณะที่หลายค่ายกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบิน โดยเฉพาะนักบินระดับกัปตัน แต่การบินไทยมีจำนวนนักบินระดับกัปตันเกินความต้องการถึง 200 คน (มีจำนวนกัปตัน 500 คน ขณะที่ความต้องการเพียง 300 คน) ขณะที่ขาดนักบินระดับผู้ช่วยอยู่ 200 คน เช่นกัน (มีจำนวนผู้ช่วยนักบิน 1,000 คน ขณะที่มีความต้องการ 1,200 คน) ทำให้ทุกวันนี้กัปตันต้องทำการบินคู่กัน ซึ่งค่าใช้จ่ายของสายการบินไทยจึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงมาก
เนื่องจากมีการซื้อตัวนักบินเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อจูงใจนักบิน ทางสายการบินจึงสร้างแรงจูงใจด้วยการ ยื่นข้อเสนอให้นักบินผู้ช่วย ซึ่งเป็นนักบินพาณิชย์ตรี สอบนักบินพาณิชย์เอก เพื่อรอเลื่อนตำแหน่งเป็นกัปตัน ซึ่งต้องรอตามลำดับอาวุโส และการไต่ตามระบบเส้นสายอีกไม่น้อยกว่า 5-8 ปี ภายในการบินไทยมีผู้ช่วยนักบินที่จ่อคิวขึ้นตำแหน่งกัปตันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นักบินในส่วนนี้ของการบินไทยถูกสายการบินชั้นประหยัดซื้อตัวไปเป็นจำนวนมาก
“นักบินจากการบินไทย โดยเฉพาะนักบินผู้ช่วย (Co–Pilot และ Senior Co-Pilot) ประมาณ 300 คน ลาออกไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนนี้จะมีสายการบินชั้นประหยัดทำการซื้อตัวโดยเสนอตำแหน่งกัปตันให้ เนื่องจากเงินเดือนดีขึ้น อีกประการสภาวะการบินไทยเองก็น่าเป็นห่วง ไม่มีโบนัสให้กับพนักงาน ไปอยู่ที่ใหม่ได้โบนัส สำหรับนักบินที่ลาออกไปอยู่สายการบินตะวันออกกลาง ก็เนื่องจากค่าตอบแทนที่สูง และแรงจูงใจอื่นๆ อีกมาก นักบินจากการบินไทยที่ย้ายไปประจำสายการบินเอทิฮัด ปีหนึ่งๆ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หากไม่มีการยกเลิกเส้นทางการบิน ปัจจุบันการบินไทยคงเผชิญปัญหาหนัก” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนาวาอากาศเอก จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า สบพ. มีขีดความสามารถในการผลิตนักบินได้เพียง 100 คน/ปี เนื่องจากครูฝึกนักบิน ชั่วโมงการฝึกบินของครูการบินจะต้องไม่เกิน 900 ชั่วโมง/ปี ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ซึ่งหากต้องการให้มีการผลิตนักบินเพิ่มขึ้นจะต้องเพิ่มทั้งจำนวนครู และอุปกรณ์ และตามข้อมูลระบุว่าสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรนักบินทั่วประเทศสามารถผลิตนักบินได้ไม่เกิน 300 คน/ปี
ไม่เพียงแต่จำนวนครูการบินที่จำกัด ระยะเวลาในการก้าวขึ้นเป็นนักบินที่สามารถทำการบินได้จริง ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านบาท และกว่าที่นักบินจะก้าวจากนักบินผู้ช่วยสู่ระดับกัปตันต้องมีชั่วโมงบินไม่ต่ำกว่า 5,000 ชั่วโมง ทำให้ตอนนี้อาจเรียกได้ว่าการบินไทยกลายเป็นแหล่งผลิตนักบินระดับกัปตันป้อนสู่ตลาดอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaipublica.org