การบอกว่า “การจดโน้ตเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการทำเกรดให้ได้ดี” เป็นความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย แม้ว่าตัวเราจะไม่ชอบการเขียนแค่ไหน ต้องยอมรับก่อนว่า ‘การเขียน’ มีผลเป็นอย่างมากต่อการเรียน โดยเฉพาะการจดโน้ต เมื่อยอมรับได้แล้ว ก็ไปสู่เทคนิคการเขียนต่อเลย
เริ่มก่อนได้เปรียบ
ก่อนเริ่มเรียน ลองเริ่มจากการเปิดหนังสือวิชานั้นๆ ดูก่อน สำหรับบทต่อๆ ไป ไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านอย่างคร่ำเคร่ง อาจจะเป็นการเปิดอ่านผ่านๆ คร่าวๆ ให้ผ่านตา วิธีนี้จะทำให้เราเริ่มกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่เรากำลังจะเรียนมากขึ้น และเป็นการจับประเด็นเรื่องที่จะเรียนคร่าวๆ ได้ก่อนเริ่มเรียน
หลักการการจดโน้ต
ในระหว่างการฟัง ลองใช้วิธีสังเกตเนื้อหาที่ครูกำลังพูดถึง หากคำไหนปรากฏขึ้นมาบ่อยๆ จดคำนั้นลงไปพร้อมกับวงกลมหรือขีดเส้นใต้ไว้ เพราะคำนั้นจะต้องสำคัญต่อเรื่องนั้นๆ อย่างแน่นอน
โครงสร้างการจดโน้ต
เริ่มต้นโดยการแบ่งประเด็นออกเป็น 4-5 ประเด็น พร้อมจดประเด็นรองหรือหัวข้อย่อยตาม พร้อมเว้นที่สำหรับเนื้อหาหากต้องการใส่ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง การทำแบบนี้จะเป็นการทำให้เราสามารถโฟกัสกับการเรียนไปพร้อมการจดโน้ตได้ แถมเกิดความเข้าใจอีกด้วย
เสริมสร้างจินตนาการ
หลายๆ คนอาจจะชอบวิธีนี้ เพราะเป็นการผ่อนคลายไปในตัว โดยเริ่มด้วยการจดโน้ตออกเป็นหัวข้อ พร้อมวาดรูปหรือตกแต่งด้วยภาพที่เชื่อมโยงกับหัวข้อนั้นๆ และอาจจะใช้สีเพื่อสร้างความแตกต่างในแต่ละประเด็น วิธีนี้จะเป็นการทำให้เกิดการจำข้อมูลแบบภาพ อีกทั้งยังง่ายต่อการกลับมาทบทวนอีกด้วย
การวาง mind map
วิธีการวาง mind map นั้นเหมาะสำหรับวิชาที่มีความซับซ้อน มีหัวข้อหลัก หัวข้อรองเยอะ เพื่อแตกประเด็นออกไป ใช้สำหรับการดูว่าหัวข้อในแต่ละเรื่องมีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร อย่างไรก็ตาม mind map ควรเป็นวิธีที่นำมาใช้หลังการจดโน้ตแล้ว เพื่อเป็นการทบทวนหรือเรียบเรียงความคิดอีกครั้งหลังการจดโน้ต
สุดท้ายเป็นวกกลับมาเรื่องของวิธีคิด เพราะสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมเรื่องที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นทั้งหมด หมั่นรักษาหรือเริ่มต้นการมองโลกในแง่บวก อย่ากดดันตัวเอง ยิ่งเมื่อเราทำวิชานั้นๆ ได้ไม่ดี อย่าตีความว่าเราไม่เก่งเรื่องนั้นๆ กลับมาเริ่มต้นการจดโน้ตใหม่ เรียบเรียงความคิดใหม่ เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้นเอง
ที่มา :
collegeinfogeek.com