บทความนี้เราขอร่วมให้กำลังใจและช่วยแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัว จัดการปัญหาและชี้ทางแก้ให้น้องๆ หรือเพื่อนๆ แคนไหนก็ตามที่กำลังเผชิญปัญหาหรือมีแนวโน้มจะเจอปัญหานี้ นี่คือแนวทางและวิธีรับมือการโดนบูลลี่เบื้องต้น จากประสบการณ์ตรงของพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เคยผ่านเรื่องแบบนี้มา รวมทั้งแนวทางจากนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญมาฝากทุกคน ลองเอาไปปรับใช้กันดูเลย
1 ไม่โทษตัวเอง ปรับความคิด เราไม่ใช่คนผิด
เริ่มที่เราต้องบอกตัวเองหรือคนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ว่า เราไม่ผิดที่เป็นตัวเอง เราแค่อาจมีอะไรบางอย่างไม่เหมือนคนอื่น แต่มันคือเรื่องธรรมดาของสังคม ไม่มีใครสมควรโดนแกล้งหรือยินยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและมันเป็นเรื่องปกติถ้าเราจะรู้สึกแย่กับการโดนแกล้ง
2 วางเฉย ไม่โต้ตอบ ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่ส่งต่อการบูลลี่
ไม่โต้ตอบหรือมีอารมณ์ร่วม ไม่ส่งต่อการบูลลี่ด้วยวิธีเดียวกัน ข้อนี้อาจจะฟังดูยาก แต่เป็นการปกป้องตัวเราได้อีกทางหนึ่ง เพราะการทื่เราไม่แสดงอาการหรือแสดงออกว่ารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปตามการโดนบูลลี่ ก็จะทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าเราไม่เล่นหรือไม่สนใจเรื่องประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถทำอะไรเราได้ อาจจะเป็นเรื่องน่าเจ็บใจ แต่ขอให้น้องๆ คิดถึงผลที่ตามมาโดยเฉพาะกับตัวเราเอง เพราะถ้าเรายิ่งคิดแค้นหรือหาทางเอาคืน ก็จะยิ่งทำให้ตัวเองหมกมุ่น ไม่สามารถมีสมาธิกับเรื่องอื่นๆ ได้
3 พยายามทำความเข้าใจและเห็นใจกลับไป
นอกจากการบอกหรือปรับความคิดของตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมที่จะพยายามทำความเข้าใจหรืออย่างน้อยให้ความเห็นใจคนที่บูลลี่ด้วยว่า พวกเขาอาจเป็นคนที่มีปัญหาทางใจหรือมีปมด้อยอะไรอยู่มากกว่าเรา ซึ่งเขาต่างหากที่น่าสงสาร เพราะไม่มีทางระบายความคิดหรือความรู้สึกนั้นออกมา จนต้องมาลงกับเรา เราอาจไม่สามารถให้อภัยกับสิ่งที่เขาทำได้ แต่ถ้าอยากให้ใจเราสบาย ก็ลองเป็นนางเอกหรือพระเอกที่เราชอบดูซักครั้ง พยามยามเข้าใจโจ๊กเกอร์หรือเห็นใจคนที่แกล้งเราก็อาจช่วยได้
4 ปฏิเสธ แสดงออกหรือบอกไปตรงๆ ว่า ไม่ชอบ! ไม่โอเค!
ถ้าเป็นเรื่องที่ทนไม่ไหวหรือเป็นเรื่องล้อเล่นรุนแรงเกินกว่าจะรับได้ การแสดงความชัดเจนด้วยคำพูดและท่าทาง รวมทั้งพูดคุยสอบถามไปตรงๆ ก็จะดีกว่า เช่น ถามไปเลยว่าทำไมต้องแกล้งเรา ทำแล้วชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร? จริงๆ แล้วเราไม่ชอบ ไม่อยากให้ทำแบบนี้ หรือพูดจริงจังไปเลยว่าอย่าทำแบบนี้อีก มันไม่ตลก ไม่สนุก ไม่ดีสำหรับใครเลย คนอื่นจะได้เข้าใจว่าเราไม่โอเค และไม่ทำเรื่องนั้นอีก
5 ไม่แก้แค้น ไม่โต้กลับ แต่เก็บหลักฐานกรณีโดน Cyberbullying
อาจจะเป็นเรื่องน่าเจ็บใจ แต่ขอให้น้องๆ คิดถึงผลที่ตามมาโดยเฉพาะกับตัวเราเอง เพราะถ้าเรายิ่งคิดแค้นหรือหาทางเอาคืน ก็จะยิ่งทำให้ตัวเองหมกมุ่น ไม่สามารถมีสมาธิกับเรื่องอื่นๆ ได้ อย่าไปให้ค่าหรือเสียเวลา และถ้าหากใครถูกรังแกทาง social media ก็อย่าลืมเก็บหลักฐานเหล่านั้นไว้ เผื่อในกรณีที่เราต้องการบอกผู้ปกครองหรือแจ้งครูอาจารย์ให้ช่วยจัดการ
6 เชิ่ดใส่ สร้างอำนาจต่อรอง เสริมความมั่นใจและภูมิใจในตัวเองให้มาก
ตั้งใจเรียนหรือทำกิจกรรมที่ชอบ ทุ่มเทความสนใจโฟกัสแต่สิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตและอนาคตเรา รวมถึงสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเอง เช่น ขยันเรียนให้ได้คะแนนดีๆ ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาจนได้รับรางวัล หรือทำแต่กิจกรรมที่ดีและเกิดประโยชน์กับชีวิตเรา แต่แม้ว่าจะไม่มีผลงานอะไรมากก็ขอให้น้องๆ บอกตัวเองเอาไว้เสมอว่า เราทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เราสามารถเป็นตัวของเราเองในแบบที่ดีและเราภูมิใจได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรือมาให้การยอมรับก็ได้
7 บอก ระบาย หาคนช่วย ให้ความสนใจแต่เพื่อนหรือคนที่ดีกับเรา
ในกรณีที่ร้ายแรงมากให้รีบแจ้งครูที่ดูแล หรือผู้ปกครองให้ทราบ อย่าให้ใครมองว่าเป็นเรื่องเล่นๆ และแม้จะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เป็นการกลั่นแกล้งที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ การเล่าเรื่องต่างๆ ให้เพื่อนหรือคนที่ไว้ใจรับฟังก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น และอย่าลืมว่าเรายังมีเพื่อนที่รักเราและคนอื่นที่พร้อมจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อเราอีกมาก ให้ความสนใจคนเหล่านั้นไว้ก็พอ
ถ้าน้องๆ กำลังโดนกลั่นแกล้งและคุกคามจนทำให้เสียความมั่นใจ ลองเอาวิธีเหล่านี้ไปลองใช้กันดูสิ รับรองเลยว่าน้องๆ จะ Strong และสดใสไม่แคร์การโดนบูลลี่อีกต่อไป และเชื่อเถอะว่าเรื่องแบบนี้พอเราผ่านมันไปได้ เราจะโตขึ้นและไม่ให้ความสำคัญกับมันอีกเลย เผลอๆ ถ้าเปลี่ยนการโดนรังแกให้เป็นแรงผลักดัน เปลี่ยนปรับตัวเองให้เก่งขึ้น อนาคตเราจะเข้มแข็งขึ้นและประสบความสำเร็จได้ด้วยแรงขับเหล่านั้นก็ได้นะ ร่วมกันเป็นกำลังใจและร่วมมือกันสร้างสังคมที่เราอยากอยู่กันดีกว่า
ที่มา :
ngthai.com/cultures/14740/why-do-people-bully/
www.pobpad.com/bully-
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
thepotential.org