ใกล้เข้ามาแล้วกับการสมัคร TCAS ที่เป็นด่านแรกในการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่มาคู่กันนั้นคือการสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ รวมถึง กสพท ด้วย ซึ่งมีเกณฑ์การใช้และอายุของคะแนนที่แตกต่างกัน ดังนั้นวันนี้ พี่AdmissionPremium จึงได้นำเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ที่ควรรู้ไว้มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย!!
O-NET (Ordinary National Educational Test)
O-NET มีชื่อเต็มๆ ว่า Ordinary National Education Test เป็นการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานที่จัดสอบขึ้นโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. เพื่อชี้วัดคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาของนักเรียนและโรงเรียนในระดับชั้นป.6 ม.3 และ ม.6 โดยคะแนน O-NET นั้นจะติดตัวน้องๆ ไปตลอดชีวิต และสามารถสอบได้เพียงครั้งเดียว หากขาดสอบ หรือไม่ได้เข้าสอบวิชาใดวิชาหนึ่ง ก็อาจจะไม่มีสิทธิ์ในการสมัครแอดมิชชั่น ดังนั้นพี่บอกได้เลยว่า O-NET เป็นการสอบที่น้องๆ หนีไม่พ้นอย่าแน่นอน และที่สำคัญอย่าเทเป็นอันขาด เพราะมีผลทั้งกับตัวเราและโรงเรียนอีกด้วย
วิชาที่ต้องสอบ
- สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
- คณิตศาสตร์
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาไทย
- วิทยาศาสตร์
TCAS รอบที่ใช้
- TCAS รอบที่ 2 การรับแบบโควตา (ขั่นต่ำ บางโครงการ)
- TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน + กสพท (ขั่นต่ำบางโครงการ และ กสพท)
- TCAS รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชัน
- TCAS รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ
GAT (General Aptitude Test), PAT (Professional and Academic Aptitude Test)
การสอบ GAT/PAT นี้แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ นั้นคือการสอบ GAT และ PAT ซึ่งวันนี้พี่จะมาอธิบายเป็นส่วนๆ พอให้น้องๆ ได้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเริ่มที่ GAT
GAT (General Aptitude Test) เป็นการทดสอบความพร้อมก่อนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ภาษาไทยหรือที่เราเรียกกันว่า GAT เชื่อมโยงในด้านนี้เป็นการวัดความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดเชิงวิเคราะห์ และการแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งคะแนนในส่วนนี้เต็ม 150 คะแนน หากตอบผิดหรือเชื่อมโยงผิดก็จะถูกหักคะแนน ส่วนที่ 2 ภาษาอังกฤษ หรือที่เราเรียกว่า GAT ENG เป็นการวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษมีทั้ง Speaking and /Conversation/Vocabulary/Structure and Writing/Reading Comprehension ในส่วนนี้คะแนนเต็ม 150 คะแนน รวมกันสองส่วนนี้เป็น 300 คะแนนเต็ม
PAT (Professional and Academic Aptitude Test) เป็นการทดสอบความถนัดทางด้านวิชาการและวิชาชีพ หรือเป็นการวัดความรู้พื้นฐานและศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้นๆ เพื่อดูนักเรียนว่ามีแววที่จะเข้าสู่เส้นทางอาชีพในคณะที่เลือกไหม โดยมี 7 สาขาวิชาตามกลุ่มวิชาชีพดังนี้คือ
PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์
PAT 2 คือ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
PAT 3 คือ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 คือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 คือ ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 คือ ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส
PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน
PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น
PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน
PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ
PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี
ในการสอบนั้นทุกคนมีสิทธิสอบทั้ง ม.6 เด็กซิ่ว และ สายอาชีพคน สมัครกี่ครั้งก็ได้(แต่ในหนึ่งปีการศึกษาจะมีการจัดสอบแค่ 2 ครั้ง) โดยอายุของคะแนนสอบ GAT/PAT นั้นอยู่ได้ 2 ปี นั่นหมายความว่าหากเราเข้าไปเรียนแล้วมันไม่ใช่เราก็สามารถใช้คะแนนปีที่แล้วได้ด้วย โดยในการสมัครแอดมิชชั่นกลางจะมีระบุไว้ว่าใช้รอบใดได้บ้าง ซึ่งบางทีในรับตรงบางคณะ จะกำหนดไว้ว่าใช้คะแนนรอบไหนได้บ้าง ดังนั้นน้องๆควรศึกษาเกณฑ์ของการรับเข้าให้รอบคอบก่อนที่จะลงมือสมัครสอบหรือซิ่ว
วิชาสอบ
1. GAT (General Aptitude Tests)
เป็นแบบทดสอบความถนัดทั่วไป แบ่งเป็น 2 ส่วน คือความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ และแก้โจทย์ปัญหา 50% ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ 50%
2.PAT (Professional and Academic Aptitude Test)
เป็นความรู้พื้นฐานและศักยภาพที่จะใช้สำหรับเรียนต่อในวิชาชีพ แบ่งออกเป็น 7 ส่วน คือ
PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ (มีทั้งหมด 7 ภาษา)
หมายเหตุ : เกณฑ์ สัดส่วน คะแนนการใช้สมัครสอบในแต่ละรอบแตกต่างกัน น้องๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เลือกสอบตามเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยที่น้องๆ ต้องการสมัคร
TCAS รอบที่ใช้
- TCAS รอบที่ 2 การรับแบบโควตา
- TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
- TCAS รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชัน
- TCAS รอบที่ 5 การรับตรงอิสระ
9 วิชาสามัญ
เป็นการจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. เพื่อนำคะแนนมาใช้ในการรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย โดยเดิมมีการสอบเพียง 7 วิชา แต่เพื่อให้ครอบคลุมกับเนื้อหาของสายศิลป์ จึงได้มีการเพิ่มเข้าไปอีก 2 วิชา รวมเป็น 9 วิชา (ทำการเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2559)
ถามว่าจำเป็นต้องสอบไหมพี่ขอตอบว่าจำเป็น เพราะควรมีคะแนนเหล่านี้เก็บไว้ในมือ แต่อาจจะไม่ต้องสอบให้ครบทั้ง 9 วิชา เพราะว่าการใช้คะแนนในส่วนต่างๆ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย หรือคณะที่น้องๆ อยากจะเข้าเรียน ดังนั้นน้องๆ ควรหาข้อมูลหาและรายละเอียดในการรับสมัครจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัย/คณะที่น้องๆ อยากจะเข้า หรือตามสื่อต่างๆ โดยข้อสอบทั้ง 9 วิชามีดังนี้
วิชาสอบ
- วิชาภาษาไทย
- วิชาสังคมศึกษา
- วิชาภาษาอังกฤษ
- วิชาคณิตศาสตร์ 1 (เลือกสมัคร คณิตศาสาตร์ 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับแต่ละ คณะ/สาขา มหาวิทยาลัย กำหนด)
- วิชาคณิตศาสตร์ 2 (เลือกสมัคร คณิตศาสาตร์ 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับแต่ละ คณะ/สาขา มหาวิทยาลัย กำหนด)
- วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
- วิชาฟิสิกส์
- วิชาเคมี
- วิชาชีววิทยา
หมายเหตุ : เกณฑ์ สัดส่วน คะแนนการใช้สมัครสอบในแต่ละรอบแตกต่างกัน น้องๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เลือกสอบตามเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยที่น้องๆ ต้องการสมัคร
TCAS รอบที่ใช้
- TCAS รอบที่ 2 การรับแบบโควตา
- TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
- TCAS รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชัน (ใช้สำหรับ กลุ่มแพทย์ศาสตร์ที่ใช้เกณฑ์เดียวกับ กสพท)
วิชาเฉพาะแพทย์ (กสพท)
กสพท. คือชื่อย่อของ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งปีการศึกษา 2562 จะเป็นการรวมกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ 16 สถาบัน คณะทันตแพทยศาสตร์ 8 สถาบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน และคณะเภสัชศาสตร์ 10 สถาบัน โดยปีนี้โครงการ กสพท จะเข้าร่วมกับระบบ TCAS ในรอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน โดยมีเกณฑ์การใช้สัดส่วนของคะแนนทั้งหมด 3 ส่วนได้แก่
เกณฑ์การคัดเลือกสัดส่วนคะแนน
1. วิชาเฉพาะ กสพท 30%
ข้อสอบแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.1 ด้านเชาว์ปัญญา ความสามารถในการคำนวณ การจับใจความ เน้นไปที่คณิตศาสตร์เบื้องต้น ตรรกศาสตร์ อนุกรม การจับคู่ ความสัมพันธ์ ฯลฯ และแนวภาษาไทยที่เป็นรูปแบบบทความ ให้อ่านเพื่อจับใจความ แล้ววิเคราะห์
1.2 ด้านจริยธรรมแพทย์ เน้นไปเรื่องคุณธรรม จริยธรรม
1.3 ด้านเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล
2. 9 วิชาสามัญ (7 วิชา) 70%
แต่ละกลุ่มสาระวิชามีค่าน้ำหนักไม่เท่ากัน และที่สำคัญแต่ละกลุ่มต้องไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน
- วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์, เคมี และ ชีววิทยา) ค่าน้ำหนัก 40%
- คณิตศาสตร์ 1 ค่าน้ำหนัก 20%
- ภาษาอังกฤษ ค่าน้ำหนัก 20%
- ภาษาไทย ค่าน้ำหนัก 10%
- สังคมศึกษา ค่าน้ำหนัก 10%
**เกณฑ์ขั้นต่ำ 30 คะแนนขึ้นไป วิทย์รวม 3 วิชา ต้องได้ 90 ขึ้นไป นอกนั้นวิชาละ 30 ขึ้นไป
**บางสถาบันมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น แพทย์ พระมุงกฎ ต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อเป็นแพทย์ทหาร หรือ เภสัช มหิดล ขอคะแนนวิชาสามัญวิทยาศาสตร์แยกรายวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แต่ละวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 30 คะแนน ควรเช็คคุณสมบัติกับสถาบันที่จะสมัครอย่างละเอียดอีกครั้ง
3. O-NET ม. 6 คะแนนรวม 60 %
กสพท ไม่ได้ใช้คะแนนมาคำนวณ แต่ใช้เป็นเกณฑ์ผ่านคุณสมบัติ เฉพาะ ม. 6 และนักเรียนเทียบเท่า ปีการศึกษาปัจจุบันเท่านั้น เด็กซิ่วไม่ต้องใช้เกณฑ์นี้ (ไม่ต้องใช้ O-NET เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ) เช่น ม. 6 ปีการศึกษา 2562 สอบ O-NET ปีการศึกษา 2562 ส่วนน้อง ๆ เทียบเท่า อย่าง นานาชาติในประเทศ, กศน., ปวช. สามารถสมัครสอบ O-NET เองได้ในปีที่จบการศึกษา
TCAS รอบที่ใช้
- TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
- TCAS รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชัน (ใช้สำหรับ กลุ่มแพทย์ศาสตร์ที่ใช้เกณฑ์เดียวกับ กสพท)
* โดยที่คะแนนสอบ O-NET ของน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม.6 ต้องมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่า 60% และเด็กซิ่วนั้นไม่ต้องใช้คะแนนสอบ O-Net แต่น้อง ๆ ยังคงต้องสอบวิชาเฉพาะแพทย์ และ 9 วิชาสามัญใหม่เหมือนเดิม (เพราะคะแนนของทั้ง 2 วิชานี้ใช้คะแนนปีต่อปี)
ข้อมูลที่พี่Admission Premium นำมาฝากน้องๆ นั้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งของการจัดสอบทั้งหมด โดยเป็นข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฏาคม 2562 ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังยังไงพี่ก็อยากขอให้น้องๆ ศึกษารายละเอียดอีกครั้งก่อนสมัครสอบ และในทุกๆการสอบนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้เราได้ที่เรียนแล้วก็ไม่ควรเทสักวิชา เพราะวันข้างหน้าเราอาจจะจำเป็นต้องใช้คะแนนเหล่านั้นก็ได้