ต้องยอมรับว่าบุคลากรด้านการบินในไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่ง สบพ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ผลิตบุคลากรด้านการบินแบบครบวงจรเพียงแห่งเดียวในไทย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินในไทยมีขนาดใหญ่มาก มีมูลค่าอยู่ประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท มีบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินกว่า 1 แสนคน และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังจากมีผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมีผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินในประเทศราวปีละ 80-90 ล้านคน รวมถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์เข้า-ออก กว่า 1,300,000 ตัน/ปี
แม้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ผลิตบุคลากรด้านการบินมากว่า 50 ปี ภายใต้มาตรฐาน และคุณภาพที่เข้มงวดด้านการบิน จึงผลิตบุคลากรได้อย่างจำกัด
ปีที่ผ่านมา สบพ. ผลิตบุคลากรได้ 1,601 คน ใน 7 หลักสูตร ประกอบด้วย กลุ่มวิชาการฝึกบิน, กลุ่มหลักสูตร English and Ground–Based Aviation Course, กลุ่มวิชาปฏิบัติ, กลุ่มบริหารการบิน, กลุ่มวิชาช่างอากาศยาน, กลุ่มวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์การบิน และศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการบิน นาวาอากาศเอก จิรพล เกื้อด้วง
ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า บุคลากรด้านการบินโดยเฉพาะนักบิน และช่างเทคนิคขาดแคลนเป็นจำนวนมาก วันนี้ในเอเชียแปซิฟิกยังขาดแคลนบุคลากรด้านการบินเป็นหลักล้านคน ซึ่งในกลุ่มนักบิน สถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี สามารถผลิตบุคลากรได้เพียงปีละ 200-300 คน ในขณะที่ตลาดแรงงานต้องการปีละ 400-500 คน ส่วนบุคลากรในกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยานขาดแคลนเกือบ 2 เท่า จากปัจจุบันที่ผลิตได้เพียงปีละ 200 คน
ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าบุคลากรด้านการบินในไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่ง สบพ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ผลิตบุคลากรด้านการบินแบบครบวงจรเพียงแห่งเดียวในไทย ส่วนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ผลิตบุคลากรด้านการบินอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลมีนโยบายจะทำนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่สนามบินอู่ตะเภา ทำให้ยิ่งต้องการบุคลากรทางด้านเทคนิคอีกมาก ขณะที่บุคลากรด้านการบินในด้านอื่น ๆ ก็ยังขาดแคลน เช่น นักบิน เนื่องจากการผลิตนักบินไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ๆ เพราะการผลิตนักบินจาก สบพ. มีกฎเกณฑ์และมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดไว้ชัดเจนจึงไม่สามารถผลิตนักบินได้ในปริมาณมาก แต่ต้องเน้นคุณภาพและมาตรฐานของนักบินเป็นสำคัญ
ในปี 2559-2567 สบพ.มีแผนพัฒนาและปรับปรุงองค์กรในหลาย ๆ ด้านเพื่อยกระดับการเป็นสถาบันการบินในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ จะนำเกณฑ์การวัดผลการทดสอบภาษาอังกฤษ (TOEIC) เป็นการรับนักศึกษาหลักสูตรภาคพื้นระดับปริญญาตรีและอนุปริญญา รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย
ขณะที่แผนระยะยาวจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกของ สบพ. เพื่อรองรับการขยายตัวในการให้บริการแบบครบวงจร นาวาอากาศเอก จิรพล กล่าวต่อว่า แม้วันนี้จะมีสถาบันการศึกษาให้ความสนใจเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการบินเพิ่มมากขึ้น แต่ สบพ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักของประเทศในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน และเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการบินที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลักสูตรการเรียนการสอนมากที่สุด โดยได้รับรองมาตรฐานจาก ICAO, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ส่วนการแข่งขันด้านการผลิตบุคลากรการบินกับสถาบันการศึกษาในระดับอาเซียนเพื่อส่งบุคลากรด้านการบินเข้าตลาดแรงงานนั้น สบพ.เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินในอาเซียนที่ผ่านการประเมินจาก ICAOและได้รับการรับรองเป็นสมาชิกประเภท เต็มรูปแบบ Full Member, Trainair Plus Programme ซึ่งในอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศที่ได้คือ ไทย และอินโดนีเซีย
“ความสามารถในการผลิตบุคลากรด้านการบินของ สบพ.วันนี้เต็มที่แล้ว ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่เคยขยายพื้นที่อาคารเพื่อรองรับปริมาณการผลิตบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นภายในปีงบประมาณ 2560 มีแผนที่จะสร้างอาคารเรียนศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน อาคารอำนวยการ และสิ่งปลูกสร้างประกอบ เป็นอาคารสูง 18 ชั้น ในงบประมาณ 1,890.46 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปีในการสร้าง ซึ่งจะรองรับการผลิตบุคลากรด้านการบินได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากปัจจุบัน " นาวาอากาศเอก จิรพล กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เดลินิวส์