สอบเข้ามหาวิทยาลัย

โพลเผยคนไทยใช้สื่อโซเชียล เฉลี่ย 1-2 ชม./วัน ส่วนใหญ่บนเตียงนอน

UploadImage

   “นิด้าโพล” เผยคนไทยส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ บนเตียงนอน พูดคุยกับคนรู้จักผ่านสื่อโซเชียล มองปัญหาสังคมก้มหน้ารุนแรงปานกลาง หวั่นมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ แนะรณรงค์เล่นมือถือให้เหมาะสมกับเวลา-สถานที่...

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนต่อผลกระทบจาก “สังคมก้มหน้า” จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 4,819 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ ร้อยละ 88.94 และไม่ใช้อุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ ร้อยละ 11.06  และใช้มือถือ (Smartphone) เป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.94  รองลงมาแท็บเล็ต (Tablet) ร้อยละ 3.51 และไอแพด (I-pad) ร้อยละ 2.56

เมื่อถามต่อไปว่าส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ช่วงเวลาใดมากที่สุดและใช้ระยะเวลาเท่าใด พบว่า ส่วนใหญ่ใช้บนเตียงนอน (ก่อนนอน/ตื่นนอน) ร้อยละ 35.28 รองลงมาระหว่างทำงาน ร้อยละ 17.44 และระหว่างการเดินทาง ร้อยละ 12.27 และส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 24.74 รองลงมา 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 19.24 และน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 19.17

เหตุผลที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อันดับแรก คือ พูดคุย/ติดต่อกับบุคคลที่รู้จัก ร้อยละ 90.60 อันดับที่ 2 คือ หาข้อมูล/แลกเปลี่ยนข้อมูล ร้อยละ 46.55 และ อันดับที่ 3 คือ โพสต์ข้อความ/รูปภาพ ร้อยละ 39.25

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับความรุนแรง “ปัญหาสังคมก้มหน้า” ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงปานกลาง ร้อยละ 36.65 รองลงมาเป็นปัญหาที่รุนแรงค่อนข้างมาก ร้อยละ 29.39 และรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 22.47 ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 6.69 ซึ่งปัญหาที่รุนแรงในระดับค่อนข้างมาก และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  2.321

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสังคมก้มหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าสังคมก้มหน้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะมัวสนใจอยู่แต่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ร้อยละ 55.78 รองลงมาทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลงไป ร้อยละ 51.16 และเสี่ยงต่อการที่จะมีพฤติกรรมเสพติดด้านอื่นๆ เช่น ติดเกม Social Network ร้อยละ 39.34 และเมื่อถามว่าตัวท่านเองคิดว่าตนเองจัดอยู่ในกลุ่มประเภทของ “สังคมก้มหน้า” ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า เป็นบ้างในระดับหนึ่ง ร้อยละ 59.35 รองลงมาไม่เป็นเลย ร้อยละ 34.24 และเป็นมาก ร้อยละ 6.41

ท้ายที่สุดประชาชนให้ข้อเสนอแนะ หรือวิธีแก้ปัญหาในเรื่องสังคมก้มหน้า อันดับแรก คือ รณรงค์ในการเล่นมือถือให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่ ร้อยละ 36.36 อันดับที่ 2 ทำกิจกรรมภายในครอบครัวและคนรอบข้างให้มากขึ้น เช่น พูดคุย ไปเที่ยว ร้อยละ 14.55 และอันดับที่ 3 เยาวชนควรได้รับการควบคุมในการเล่นมือถือจากผู้ปกครอง ร้อยละ 12.61

ขอบคุณข้อมูลจาก :  ไทยรัฐออนไลน์