สอบเข้ามหาวิทยาลัย

สังคมสงเคราะห์ VS สังคมวิทยา คือพี่น้องกันหรือไม่?



          ระหว่างที่พี่ศึกษา ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะ กระบวนการ ทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์ และความโชคดีของพี่คือ พี่มีความสนใจและเลือกศึกษาในวิชาโทที่เป็นวิชาโทนอกคณะซึ่งวิชาโทดังกล่าวคือ “สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดังนั้นในบทความนี้พี่จะขอตั้งประเด็นที่พี่เคยคิดไว้สมัยตอนที่พี่ตัดสินใจและศึกษาคือ สังคมสงเคราะห์ VS สังคมวิทยา คือพี่น้องกันหรือไม่? เผื่อเป็นแนวทางในการค้นหาตัวตนสำหรับคนที่คิดจะเข้า 2 คณะนี้หรือคณะที่ใกล้เคียงกัน



          พี่ขอตั้ง 2 คำถามไปพร้อมๆกันคือ เรียนอะไร ? และ เกี่ยวกันอย่างไร ?  สำหรับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ พี่เคยอธิบายไปในบทความก่อนหน้านี้ แต่ถ้าจะให้อธิบายโดยย่อ เราขออธิบายว่า คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นคณะที่ศึกษาเพื่อที่จะทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ดังที่เราให้คำนิยามว่า “นักสังคมสงเคราะห์เปรียบเสมือนวิศวกรทางสังคมที่คอยออกแบบติดตามและพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้เครื่องมือที่เรียกว่าสวัสดิการสังคม” โดยที่ผู้คนสามารถเลือกได้ว่า จะรับ หรือ ไม่รับ หรืออาจจะมองอีกนัยหนึ่งว่า งานสังคมสงเคราะห์เปรียบเสมือน กำแพง ที่ให้ผู้คนพึ่งพิงทั้งยามสุขและยามประสบปัญหา

 

          แล้วคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เรียนเกี่ยวกับอะไร? พี่ขอเกริ่นก่อนว่า พี่จะอธิบายโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและทำให้เห็นภาพ ซึ่งน้องที่สนใจสามารถที่จะไปศึกษาเพิ่มเติมได้ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้น เป็นการศึกษาเกี่ยว สังคม และ วัฒนธรรม โดยมีการอิงทฤษฎี พฤติกรรม ปรากฏการณ์ทางสังคม และ งานวิชาการ มาอธิบายความเป็นไปของสังคมที่เปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปัจเจกและเชิงโครงสร้าง ดังนั้นหากให้เข้าใจโดยง่าย สังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้นจะมี  Key Word ที่น่าสนใจคือ พฤติกรรม วิถีชีวิต และ ความเป็นจริง ที่มีการอธิบายและบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม

          หากได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการก่อตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสมัยก่อนนั้นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา        เป็นส่วนหนึ่งของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในลักษณะที่เป็นแผนกวิชาก่อนที่จะแยกมาเปิดเป็นคณะของตนเอง ในปัจจุบันการเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้นมีการเปิดสอนเป็นภาควิชาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ถ้าต้องการเรียนแล้วได้รับปริญญา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคำตอบสำหรับผู้สนใจ ซึ่งในปัจจุบัน    คณะดังกล่าวได้รับความนิยมในการเลือกเข้าศึกษาต่อด้วยคะแนนการสอบเข้าศึกษาต่อ (รอบแอดมิชชั่น) มีคะแนนที่ค่อนข้างสูงพอๆกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่มีอัตรา      การแข่งขันที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พี่อยากถามก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นต่อไปคือ เราชอบทำงานวิจัยหรือการทำงานเชิงปฏิบัติการมากกว่ากัน”


            พี่ขอวางคำถามให้กับแต่ละคนในการค้นหาตัวเองก่อนว่าเราชอบทำงานวิจัยหรือการทำงานเชิงปฏิบัติการมากกว่ากัน คำถามนี้แม้จะดูเหมือนเป็นคำถามที่ต้องเลือกระหว่างการทำวิจัยหรือการลงมือทำกับผู้คน แท้จริงแล้วทั้งสองคณะนี้แม้ลักษณะหรือแนวทางในการศึกษาอาจจะแตกต่างกันไปบ้างในรูปแบบของเนื้องาน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการผสมผสานการทำงานและการเรียนรู้ได้อย่างลงตัว ลองนึกจากสิ่งรอบข้างว่า     ถ้าโลกใบนี้ไม่มีชุดความรู้/ความคิดให้คนทดลองทำตาม แล้วเราจะสามารถขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไรบ้าง เฉกเช่นเดียวกับสองคณะนี้ที่พี่กำลังสื่อให้เห็นว่า แม้รูปแบบและแนวทางในการศึกษาเรียนรู้อาจจะแตกต่างและเข้มข้นไปในแต่ละสาย แต่เชื่อว่าสองสิ่งนี้คือส่วนผสมที่ลงตัวทั้งในภาควิชาการและการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตัวองค์กร ตัวบุคคล และ ตัวผู้ปฏิบัติงานเอง
 


          ย้อนกลับไปยังคำถามที่ว่า สองคณะนี้เรียนอะไรแล้วเรียนมีความเกี่ยวกันอย่างไร คำตอบสำหรับพี่ พี่คิดว่าการศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเปรียบเสมือน การหากุญแจทางปัญญา ภายใต้ชุดความคิดและทฤษฎีที่มีคนคิดไว้ให้อย่างมากมาย และเมื่อนำมาบูรณาการร่วมกับการเรียนเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ ราวกับว่า เป็นการเติมเต็ม ทฤษฎีความรู้และ กระบวนการต่างๆภายใต้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมาย ระบบสวัสดิการ และ ทางเลือกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดีที่สุดและสามารถตรวจสอบได้ภายใต้กฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆที่จะมาเป็นกลไกร่วมกันต่อไปในอนาคต
 


          จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พี่ต้องการสื่อสารให้เป็นรูปธรรมและชวนให้คุณผู้อ่านได้ลองถามใจตนเองและตัดสินใจว่า ตัวเราชอบอะไร เรามีขอบเขตในการทำงานในอนาคตหรือไม่ หรือว่าเราสามารถที่จะบูรณาการสิ่งที่ใกล้เคียงกันแม้ว่าจะมีความแตกต่างบ้าง       แต่เราก็สามารถที่จะผสมกลมกลืนและพัฒนาตนเองเพราะอย่างน้อย พี่เชื่อว่าคนเรามีฝัน        มีเป้าหมาย และ แรงบันดาลใจเฉกเช่นเดียวกับการนำความรู้ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ในปัจจุบันผู้อ่านหลายคนกำลังมองว่า สองคณะนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ใจลึกๆพี่อยากให้เราลองถามใจตนเองว่าเรารักในสิ่งที่ตัวเองเป็นและเราพร้อมที่จะ “เข้าใจ เรียน และ เปลี่ยนแปลง” ภายใต้ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาควบคู่กับการเรียนรู้และฝึกฝนการทำงานร่วมกับมนุษย์ภายใต้กระบวนการสังคมสงเคราะห์ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าคิดว่า ใช่ เราชอบ พี่เชื่อว่า เราจะต้องทำได้ … แม้ชื่อคณะและวุฒิบัณฑิตจะแตกต่างกัน แต่พี่เชื่อว่า สังวิทย์ และ สังเคราะห์ เป็นพี่น้องที่รักกันและเข้าใจกันได้เสมอ
 



พบกันใหม่ตอนหน้านะครับ  From P’Jun (เพจสรุปสังคม ม.ปลาย 4.0 By P’Jun)