พี่ขอตั้งคำถามคุณผู้อ่าน 1 ข้อก่อนอ่านบทความนี้คือ “คุณเห็นภาพกับคำว่าสังคมสงเคราะห์อย่างไรบ้าง” เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่บางคนก็ยังมีภาพจำเดิมเกี่ยวกับการทำงานเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์ที่หลากหลายเช่น ทำงานมูลนิธิ, แจกของให้คนอื่น, ช่วยฉุกเฉิน, ช่วยคนจน
จากภาพสะท้อนให้เห็นถึงกรอบคิดและแรงบันดาลใจในการวางแผนตนเองเพื่อเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แม้จะดูสวยหรูและเรียบง่ายแต่เส้นทางนี้ไม่ได้หมายความว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความเข้าใจของผู้คนที่ยังมีคำถามและความสงสัยว่าเราเรียนคณะนี้ไปทำไม และทำไมถึงคิดว่าจำเป็นต้องเรียนคณะนี้ โดยขออธิบายจากภาพเช่นกัน
จากภาพที่ 2 ที่กำลังอธิบายอยู่นี้คือการที่ผู้คนให้คุณค่าและมุมมองเดิมเกี่ยวกับคำว่าการเรียนสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เราเรียนไปเพื่ออะไร? จากคำกล่าวทั้งหลายเหล่านี้พี่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าหรือนิยามนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพียงแค่ยังไม่มีโอกาสได้เปิดใจหรือเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมให้มากพอเกี่ยวกับคำว่า
“สังคมสงเคราะห์” ที่มีเพียงแค่ความหมายและคำนิยามที่เกิดจากภาพจำของผู้คนมากกว่าการสัมผัสอย่างเป็นรูปธรรมที่คุณค่าของมนุษย์มีความสำคัญและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างรอบด้าน เพียงแต่ว่าสภาพสังคม การแข่งขัน และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งที่ยังปิดอีกมุมหนึ่งของงานสังคมสงเคราะห์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กับอาชีพอื่น แต่คนเรามองเพียงภาพกว้างที่ยังไม่ได้ตัดสินใจข้างในแต่อย่างใด
สังคมสงเคราะห์ คือ การดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลให้สามารถช่วยตนเองได้ (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา , ออนไลน์) จากคำนิยามดังกล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะท้อนให้เห็นถึงความหมายและเป้าหมายที่แท้จริงของการมีงานสังคมสงเคราะห์ในสังคม ดูเหมือนเป็นความหมายที่สวยงามและราบเรียบ แต่แท้จริงนั้นการเดินทางและขับเคลื่อนเส้นทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่ทราบกันดีว่า สังคมมีความหลากหลายทั้งในแง่ผู้คน วัฒนธรรม ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้คนได้รับความช่วยเหลือตามสมควร อย่างที่เห็นกันคือ งานสังคมสงเคราะห์มักถูกนิยามให้คู่กับ
“คนที่มีรายได้น้อย” ที่คิดว่าต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวและกลายเป็นว่า “คนกลุ่มนี้มีความผิด”
ทั้งที่จริงแล้วงานสังคมสงเคราะห์เป็นสิ่งที่ทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมืองสามารถเข้าถึงได้ด้วยสิทธิตามกฎหมายภายใต้คำว่า “สวัสดิการ” หรือ “สิทธิประโยชน์” เพื่อให้พลเมืองสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
จะเห็นได้ว่า “สังคมสงเคราะห์” ในภาพจำของคนส่วนใหญ่ยังยึดติดและตีตราให้คุณค่าแค่คนบางกลุ่มทั้งที่จริงแล้วงานสังคมสงเคราะห์เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตามกฎกติกาและสิทธิที่พึงได้ เพียงแค่ว่า ผู้คนจะให้คุณค่าและความหมายอย่างไรแล้วจะนำไปใช้ในทางที่ถูกหรือไม่ หากให้พี่นิยามมิติความหมายของงานสังคมสงเคราะห์ พี่ขอให้นิยามว่าเป็น
“วิศวกรทางสังคม” (Social Engineering) เพราะหากให้เทียบกับการสร้างบ้านยังต้องมีสถาปนิกและวิศวกรในการออกแบบให้บ้านมีความแข็งแรงและน่าอยู่อาศัย เช่นเดียวกับสังคมที่ต้องมีการออกแบบทั้งโครงสร้างพื้นฐาน รูปแบบสิ่งแวดล้อม รวมถึงสวัสดิการสังคมที่สามารถจับต้องได้และเหมาะสมกับรูปแบบสังคม หากคุณคิดแบบนั้น คุณอาจจะมีคำตอบที่ซ่อนอยู่มากกว่าคำว่า “จ่าย-แจก-จบ” เพียงอย่างเดียว
พบกันใหม่ตอนหน้านะครับ … สวัสดีครับ
บทความโดย : ปพน จูน คิมูระ (พี่จูน) ผู้ก่อตั้งเพจ "
สรุปสังคม ม.ปลาย 4.0 By P’Jun"