ใครจะเชื่อว่าวันนึงจะมีอาชีพเน็ตไอดอล รับรีวิวของใช้ ของกิน คิดค่ารีวิวแสนแพง เมื่อสิบปีก่อนก็คงไม่มีใครเชื่อว่าวัยรุ่นอายุน้อยจะสามารถตั้งตัวได้ด้วยการเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพ (Start Up) ทำรายได้มหาศาลเพียงแค่มีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาแอปพลิเคชันตอบโจทย์ผู้ใช้ และก็คงไม่มีใครคาดคิดว่าวันนี้หลากหลายอาชีพที่คุณปู่ คุณย่า พูดเสมอว่า “เรียนเถอะไม่ตกงานแน่นอน” อาทิ นักกฎหมาย เภสัชกรและนักบัญชี จะเริ่มตกงานจากการพัฒนาของหุ่นยนต์
วันเวลาที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยี ย่อมส่งผลให้หลากหลายอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และสิ่งหนึ่งที่ตามมาดั่งเงาตามตัวคือการหายสาบสูญของบางอาชีพ แต่ในทางกลับกันก็ยังคงมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นและเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน อย่าง 5 อาชีพจาก
หลักสูตรพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องบอกเลยว่าเรียนจบเมื่อไหร่ทุกองค์กรต้องแย่งตัวแน่นอน จะมีอาชีพอะไรบ้างมาดูกัน
“ตำรวจไซเบอร์ ตำรวจยุคใหม่ไม่ต้องพกปืน พร้อมรายได้หลักสืบล้านต่อปี”
หลักสูตรนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล จากวิทยาลัยนวัตกรรม
จากสถานการณ์ของโลกปัจจุบันเรามักเห็นกรณีหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศถูกเจาะเข้าระบบจากแฮกเกอร์ (Hacker) เพื่อนำข้อมูลขององค์กรไปเผยแพร่หรือสร้างความเสียหายให้กับองค์กรเหล่านั้น จึงเป็นที่มาของอาชีพผู้รักษาความปลอดภัยระบบดิจิทัล (Cyber Security) หรือ อาชีพที่คอยตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมินระบบออนไลน์ขององค์กร เพื่ออุดช่องโหว่ ลดโอกาสการโดนแฮกจากบุคคลภายนอก โดยปัจจุบันยังมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ไม่มากนัก ส่งผลให้อาชีพผู้รักษาความปลอดภัยระบบดิจิทัล จึงมีรายได้สูงสุดถึง 14 ล้านบาทต่อปีในสหรัฐอเมริกาเลย โดยผู้ที่มีโอกาสได้เรียนใน
หลักสูตรนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรม มธ. จะได้ไปศึกษาในสถานประกอบการจริงกับบริษัทชั้นนำอาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จะเสริมสร้างให้บัณฑิตทุกคนมีศักยภาพ มีความเข้าใจในกระบวนการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อความรู้เท่าทันการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี สามารถเป็นผู้รักษาความปลอดภัยระบบดิจิทัลและอาชีพที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“วิศวกรสุดล้ำ พัฒนายานยนต์แห่งอนาคต”
หลักสูตรวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์
ในอนาคตอันใกล้ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric Vehicle) จะเข้ามาทดแทนที่การใช้น้ำมันอย่างแน่นอน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า หรือจะเป็นการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือกอื่นๆ จากหลากหลายแบรนด์รถยนต์ทั่วโลก อาทิ รถยนต์ไฮโดรเจน ดังนั้นอาชีพวิศวกรยานยนต์แบบเดิมๆ จึงอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอุตสาหกรรมการผลิตยานพาหนะในยุคใหม่ได้ อาชีพวิศวกรยานยนต์สมัยใหม่ จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากจากฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่มีบริษัทผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์รวมกว่า 1,500 แห่ง ซึ่ง
การเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และได้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติจริงในองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ อาทิ บริษัท สยามกลการ จำกัดและบริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จํากัด จะเป็นตัวพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตด้านวิศวกรรมให้สามารถปรับตัวเพื่อทันต่อตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวไปสู่การเป็นวิศวกรยานยนต์สมัยใหม่แถวหน้าของประเทศ
“นักเทคโนโลยีชีวภาพ ตอบโจทย์พลังงานลดโลกร้อน”
หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าประเทศไทยคือประเทศแห่งเกษตรกรรม แต่นอกจากการผลผลิตด้านการเกษตรที่สามารถนำมาบริโภคแล้วนั้น ยังมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนอุตสาหกรรมการเกษตรนั่นคือ กากเหลือทางการเกษตร อาทิ แกลบ ชานอ้อยและกะลามะพร้าว รวมทั้งสารอินทรีย์จากการปศุสัตว์ อาทิ มูลสัตว์ต่าง ๆ ในสายตาของหลายคนสิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นของไร้ค่ารอการกำจัด แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนพลังงาน อาทิ น้ำมัน ที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน นอกจากนี้พลังงานชีวภาพสามารถเป็นหนึ่งในวิธีการอันยั่งยืนในการแก้ปัญหาโลกร้อนอีกด้วย ดังนั้นอาชีพนักเทคโนโลยีชีวภาพจึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมของโลก โดยการเรียนใน
หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุกคนจะได้เรียนรู้แบบประยุกต์จากศาสตร์วิชาอันหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และวิศวกรรม รวมถึงการได้ไปฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการจริง กับองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อาทิ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัดและบริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) เพื่อสร้างนักเทคโนโลยีชีวภาพที่มีสมรรถภาพสูง สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพของประเทศไทย
“นักวิจัยอาหารสุดว้าว ก้าวสู่โลกแห่งนวัตกรรมอาหาร”
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แม้อาหารจะมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ด้วยพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปก่อนทาน ความหิวที่มาตอนดึกหรือความต้องการสารอาหารบางประเภท ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารต้องมีการปรับตัว ด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน อาหารหน้าตาดีเหมาะแก่การถ่ายรูป อาหารแปรรูปเพื่อการส่งออก รวมทั้งอาหารเสริมต่าง ๆ นักวิจัยอาหารที่มีความรู้ด้านและมีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมย่อมเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมอาหารยุคใหม่ ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) รุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจอาหารของตนเองให้มีความโดดเด่น ซึ่งการเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝึกฝนประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานชื่อดัง อาทิ กรมสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานักวิจัยด้านนวัตกรรมทางอาหารที่สามารถผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และยังสามารถพัฒนากระบวนการคิดเพื่อนำมาต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบใหม่และทักษะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจอาหารอีกด้วย
“นักบิ๊กเดต้า เปลี่ยนข้อมูลมหาศาล เป็นทรัพยากรอันล้ำค่าทางธุรกิจ”
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือยุคแห่งการแข่งขันทางด้านธุรกิจอย่างแท้จริง การตัดสินใจลงทุนแต่ละทีก็ต้องทำอย่างรอบคอบเพราะหากตัดสินใจพลาดแล้ว ธุรกิจอาจเจ๊งได้ !! สิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจเกือบทุกองค์กรนั่นคือ ข้อมูลทางสถิติต่างๆ อาทิ ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ดังนั้นหากใครก็ตามที่มีความสามารถด้านการจัดการข้อมูลหรือที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล สามารถนำข้อมูลตัวเลขที่มีอยู่มากมาย นำมาใช้เพื่อยกระดับธุรกิจและลดความเสี่ยงด้านการตัดสินใจขององค์กรแล้วหละก็ เตรียมตัวมีงานทำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบได้เลย ซึ่งการเรียนใน
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และร่วมหาประสบการณ์จากปัญหาและความต้องการของธุรกิจในองค์กรชั้นนำด้านข้อมูลอาทิ กลุ่มบริษัทในสมาคมประกันวินาศภัยและกรมบังคับคดี จะส่งผลให้บัณฑิตทุกคนเป็น นักบิ๊กเดต้า หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ และ นวัตกรรม และสามารถนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ให้เป็นทรัพยากรอันล้ำค่าในยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ อาชีพทั้ง 5 ข้างต้นนั้นมาจาก
5 หลักสูตรพันธุ์ใหม่ ของ มธ. ซึ่งไม่เพียงเป็นการผลิตบัณฑิตที่รองรับกับตำแหน่งงานที่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรืออุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังคงออกแบบหลักสูตรให้บัณฑิตสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับสามารถนำมาปรับตัวและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในอนาคตอีกด้วย โดยทั้ง 5 หลักสูตร จะเปิดรับนักศึกษาในระบบ TCAS ประจำปี 2561 รอบ 4 และ 5 สำหรับผู้ที่สนใจในโครงการหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์
www.tu.ac.th