…“ฉันไม่ใช่เด็กเรียบร้อย แต่ก็ไม่ถึงกับเกเร เพียงเป็นคนเฮไหนเฮนั่น รักเพื่อนฝูง ใครชวนไปไหนฉันไปหมด นั่นทำให้ฉันโดดเรียนบ่อย ๆ เมื่ออายุ 12 พออายุ 15 ฉันก็เลิกเรียน เวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ฉันเริ่มติดเกม และที่สุดเมื่ออายุ 17 ก็เริ่มติดเหล้า ฉันมีเรื่องเตะต่อยกับใครต่อใครไปทั่ว ที่จริงก็ไม่ชอบใช้กำลังหรอก แต่ทนเห็นความอยุติธรรมบนโลกนี้ไม่ได้จริง ๆ
พ่อกับแม่โกรธฉันมาก ทั้งคู่เริ่มทะเลาะกันหนักขึ้นทุกวัน ฉันไม่เข้าใจว่า เหตุใดพ่อแม่ต้องโกรธและหงุดหงิด รำคาญมาก ๆ เวลาเห็นทั้งคู่ทะเลาะกัน มันไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ฉันเพียงไม่ได้ทำตามอย่างที่พวกเขาต้องการเท่านั้นเอง แต่ฉันไม่ผิดสักหน่อย ฉันมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีสิทธิ์เลือก มีสิทธิ์คิดและตัดสินใจ--หากฉันมองเห็น นี่อาจเป็นประวัติช่วงหนึ่งของฉันก็ได้ ใครจะรู้จริงไหม แต่เปล่า ความจริงก็คือ ฉันโชคดีที่มีชีวิตขณะปิดตา”...
นี่คือเรื่องราวที่ร้อยเรียงความรู้สึกเกี่ยวกับผู้เขียน
"พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์" เจ้าของผลงานไดอารีผู้พิการทางสายตาเรื่อง “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” ที่จะเปิดตัวในวันที่ 5 มีนาคม 2559 ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากเด็กหญิงผู้พิการทางสายตาตั้งแต่ 3 เดือน แต่กระนั้นก็ไม่ท้อถอย แม้ว่าขีดความสามารถจะจำกัด แต่ก็เพียรพยายามทำทุกสิ่งอย่างจนประสบความสำเร็จทั้งเรื่องเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 และการงานในตำแหน่งบรรณาธิการฝึกหัดของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
และล่าสุดเธอกำลังได้รับรางวัล ยุวสตรีพิการดีเด่น ประจำปี 2559 ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ด้วย
อะไรนำทางเธอแม้ว่าจะมองไม่เห็น
การฟันฝ่าโลกมืดให้กลับมาสว่างจะเป็นเช่นไร
คงไม่มีใครล่วงรู้ภายใต้ภาวการณ์อย่างนี้ได้ดีเท่ากับ...เธอ
และนี่คือเรื่องราวของผู้เขียน “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” ที่จะทำให้เราเติบโตไปพร้อมๆ กัน...
มะเร็งในดวงตาบนวันเวลาของสาวน้อยนักสู้
“คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่า
พอคลอดออกมาประมาณเดือนหนึ่งได้ ก็สังเกตเห็นว่ามีจุดใสๆ อยู่ในลูกนัยน์ตา ท่านจึงพาไปตรวจ ผลปรากฏว่าเป็นมะเร็งที่จอประสาทตา ซึ่งวิธีการรักษาคือต้องเอาลูกตาออก ตอนนั้นก็ยังเหมือนตัดสินใจไม่ได้ เลยไปปรึกษาและสอบถามที่โรงพยาบาลอื่นๆ อีกหลายที่มากว่าจะทำอย่างไรดี มันใช่หรือเปล่า หรือถ้าไม่ใช่ อาจจะเป็นอย่างอื่นได้ไหม เพราะว่าถ้าเกิดเอาลูกตาออกทั้ง 2 ข้าง ก็คือจะมองไม่เห็นเลย”
เด็กสาวเบื้องหน้าถ่ายทอดเรื่องราวห้วงวินาทีนั้น ซึ่งผู้เป็นพ่อแม่ได้แต่ภาวนา อย่าให้เป็นความจริง ขณะที่มองดูใบหน้าทารกน้อยวัยแบเบาะ--ที่ซึ่งคงยิ้ม—และคงพยายามเพ่งมองดูโลกอย่างไร้เดียงสา...แต่กระนั้น โชคก็ไม่เข้าข้าง แสงสุดท้ายเบื้องหน้าที่เคยสว่างก็พลันมืดมิดจนถึงวันนี้
“ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างการวินิจฉัย ปล่อยไว้ไม่ได้ ก็เลยให้เอาออกไปก่อน 1 ข้าง อีกข้างก็ใช้วิธีการรักษาโดยการจี้ทำคีโม แล้วก็ใช้การฉายแสง เผื่อว่ามันจะหาย ก็ยังดีมองเห็นอยู่ข้างหนึ่ง แต่ปรากฏว่ามันไม่หาย ก็เลยกลายเป็นว่า พอประมาณ 2-3 ขวบ ก็เอาออกไปอีกข้างหนึ่ง”
แม้อาจจะฟังเหมือนทุกอย่างพังสูญ...เธอกลับขยักยักรอยยิ้มที่มุมปากเมื่อเอ่ยถึง
“ก็นับว่าโชคดีนะคะ เพราะทำให้เลือกโรงเรียนได้ทัน ไม่เหมือนคนอื่นที่ไปพบเจอตอนโตแล้วต้องมองไม่เห็น” เธอว่า
“ก็ได้ไปเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ (Ei) แต่เรียนได้แป๊บเดียว เพราะว่าเป็นศูนย์รวม ก็โดนเพื่อนแกล้งบ้างตามประสาเด็ก ๆ โดนเพื่อนล้อ ก็ออกมา
เรียนที่ศูนย์พิเศษโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ก็ได้เริ่มเรียนอักษรเบรลล์ พอจำลางๆ ได้ว่าคุณแม่มาเฝ้าทุกวัน คุณครูใจดี เพื่อนๆ ดี ได้ทำสิ่งที่เด็กวัยเดียวกันได้ทำ ก็สนุกดีค่ะ
“พอ 5 ขวบ ก็ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ระดับชั้นประถม ตอนแรกก็แอบกังวล แอบกลัวเหมือนกัน เพราะต้องห่างจากคุณแม่แล้ว คุณแม่ต้องไปค้าขาย ไม่ได้มาเฝ้า ส่วนคุณพ่อจะคอยมารับส่งอยู่ แต่ก็ทำให้เราได้ลองทำเองในหลายๆ อย่าง อะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง”
เรียนสูตรคูณเหมือนพี่สาว ตื่นเต้นกับการเรียนวิชาการและงานฝีมือ ไล่เรื่อยไปจนถึงสันทนาการ 'ซน' กับเพื่อนในห้องจึงอาจจะเรียกว่า “โชคดี” อย่างที่เธอว่า เพราะนั่นทำให้เธอมีพัฒนาการเทียบเท่าได้ทันตามเกณฑ์ และไม่ทำให้รู้สึกว่าความพิการทางสายตา ทำให้เธอแปลกแยกแตกต่างและใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่ได้
“คือเราได้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้ พบเพื่อน รู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดที่เพื่อนทำได้แล้วเราทำไม่ได้ ตอนนั้นก็เรียนทุกอย่างทันเท่าเด็กตามเกณฑ์คนปกติ เกรดที่ได้ก็ถือว่าค่อนข้างสูง วิชาที่ทำคะแนนได้ดีสมัยประถมก็จะเป็นวิชาภาษาไทย เพราะชอบตอนที่คุณครูให้แต่งกลอนหรือเขียนเรื่องอะไรก็ได้ มันรู้สึกเหมือนเราได้นั่งฟังเสียงตัวเอง ความรู้สึกของตัวเอง อีกวิชาก็มีภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ก็ด้วย แต่จะอ่อนวิชา สปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต)
“เท่าที่จำได้...แล้วตอนนั้นพอจะจบชั้น ป.6 ทางโรงเรียนก็ให้เลือกว่าเราจะเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ หนูเลือกเรียนต่อ ถามว่าทำไม คำตอบคือมันหลายอย่าง หนึ่งเพราะว่าพี่น้องหนูเรียนกันหมด พี่หนูเรียนต่อ หนูก็อยากเรียนต่อตามพี่ (พี่สาวเป็นคนช่วยดูแลเรื่องการเรียน) คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เราเรียนต่อ ที่โรงเรียนเขาก็เห็นว่าเราค่อนข้างเกรดดี คือถ้าคนไหนเกรดค่อนข้างดี ใช้ได้ หรือว่าเราเรียนตามทัน เขาก็สนับสนุน
“สำหรับตัวเองก็คิดว่าการที่จะไปฝึกวิชาชีพ ยังไม่รู้ว่าฝึกอะไร
เพราะส่วนใหญ่เขาก็จะเป็นพวกงานฝีมือต่างๆ แล้วก็เรียนนวด หรือไม่ก็เล่นดนตรี เพราะตอน ป.3 ขอคุณพ่อเรียนเปียโน ตอนนั้นก็เลยยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรยังไง แต่เรารู้สึกและคิดว่ายังมีหลายอย่างที่เรายังอยากรู้ในวิชาเหล่านี้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก็เลยเรียนต่อดีกว่า
“เราก็คิดว่าไม่น่าจะมีอุปสรรคอะไร แค่เราเข้าใจวิชาที่เราเรียน”
โดยที่ไม่รู้ว่าเส้นทางการศึกษาข้างหน้าจะหนักขึ้น ทั้งวิชาและการปรับตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับการก้าวไปสู่โลกกว้าง
“พอตัดสินใจเลือกที่จะเรียน
เขาเลือกโรงเรียนให้ ติดต่อให้ ก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เรียนรวมกับเพื่อนนักเรียนปกติ ตอนนั้นก็กังวลเหมือนกัน เพราะไปกับเพื่อน 2 คน ไม่มีรุ่นพี่ก่อนหน้าเรา คือถ้าเป็นโรงเรียนอื่นที่เพื่อนๆ เข้าไปเรียนอย่างโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนศรีวิทยาสันติราช ที่เขารับเข้าไปประจำ ก็จะมีรุ่นพี่เข้าไปทุก ๆ ปี แต่ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ รุ่นสุดท้ายที่เด็กพิการทางสายตาแบบเราเข้าไปเรียนก็เกือบ 50 ปีที่แล้ว
“พอเข้าไป ด้วยความที่มันเหมือนเป็นรุ่นแรก ไม่มีคนอื่นก่อนหน้า ก็เลยทำให้ยังไม่มีห้องหรืออุปกรณ์การผลิตสื่อการเรียนการสอนทางด้านนี้โดยเฉพาะ”
นั่นเท่ากับเป็นความท้าทาย...
"เราก็ต้องปรับตัว
วิธีการเรียน คุณครูก็ต้องช่วยเยอะมาก อย่างเรื่องเอกสารการเรียนก็ต้องส่งไปที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เพื่อให้คุณครูที่นั่นช่วยทำเป็นอักษรเบรลล์ให้ ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง (ยิ้ม) เพราะคุณครูที่ช่วยแปล ท่านต้องดูแลทั้งสองโรงเรียน คือโรงเรียนของเรา 2 คน แล้วอีกโรงเรียนหนึ่งของเพื่อนที่มองไม่เห็นเหมือนกัน เราก็ต้องตามอ่านเพิ่มทีหลัง
“ตอนนั้นก็เลยต้องตั้งใจฟังในห้องเป็นพิเศษ ตามจดให้ทัน วิชาสังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ พอจดได้ทัน แต่คณิตศาสตร์บางข้อ โจทย์ยาวๆ เช่นยกกำลัง ก็จะไม่ค่อยทัน ถ้าไม่ทัน ค่อยส่งให้พิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ เพราะถ้าส่งหมดจะเยอะมาก ก็ไม่ทันแน่นอน หรือถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ให้คุณพ่ออ่านให้ฟัง ก็ต้องแก้ปัญหาอย่างนี้ หลังจากนั้นเทคโนโลยีเข้ามา ก็อัดเสียงอาจารย์ใส่เครื่องเล่น Mp 3 แล้วก็มาจดอีกรอบเพื่อเอาไว้อ่าน”
ฟังแล้วจดๆ อยู่อย่างนี้ จนในแต่ละวิชา หากวัดความสูงของกองเอกสารการเรียน สูงร่วมหนึ่งเมตร
“ก็เพื่อไล่ตามเพื่อนให้ทัน.. (ยิ้ม) แต่พอหลังๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นอ่านอัดเทปอย่างเดียว ไม่จดแล้ว เพราะมันซ้ำซ้อนหลายวิธีการ ด้วยเทคโนโลยีปรับไปด้วย เรามานั่งจดทุกวิชาแล้วก็มาอ่านทวนอีกที พอตอนจดมันก็ยังไม่ได้ทวน มันก็ซ้ำซ้อนขั้นตอน ช้า หลังๆ เลยปรับเปลี่ยนเป็นอัดเทป
“ที่ยากสุดเลยก็คือตอนสอบ เพราะข้อสอบจะมีทั้งปรนัยและอัตนัย ในกรณีที่เป็นปรนัยก็จะต้องส่งไปพิมพ์ก่อนแล้วค่อยให้เราสอบ ส่วนอัตนัย ต้องให้คุณครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ มาอ่านโจทย์ให้ฟัง เพราะตอนนั้นยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ คุณครูเขาก็จะต้องอ่านบอกทีละประโยคๆ ก็จะช้ามาก เพราะคุมสอบ 2 คน แล้วบางทีมีคุณครูมาคนเดียว พอคุณครูอ่านให้เราฟังจบ เราพูดคำตอบก่อนคุณครูท่านก็ต้องเขียนคำตอบของเราให้เสร็จก่อนแล้วถามเพื่อน แล้วเขียนให้เพื่อนอีกที หรือไม่ก็เขียนให้เพื่อนก่อนแล้วค่อยเขียนให้เรา
“คือขึ้นอยู่กับว่าใครนึกออกก่อน บางทีเพื่อนหรือเราพูดมาแล้วคิดไม่ออก ก็ค้างเอาไว้ก่อน ไปเขียนให้เพื่อนอีกคนหนึ่ง ก็ยากเหมือนกัน แต่ก็สนุกดีค่ะ แม้ว่ามันจะมีหลายขั้นตอน เราก็ต้องเลือกว่าวิชาไหนต้องทำอย่างไร”
นอกนั้น ระหว่างการศึกษาชั้นมัธยมต้นก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ปกติ เว้นเสียแต่วิชาพละ ศิลปะ และคอมพิวเตอร์ ที่เธอสามารถเรียนรู้ได้แต่ทฤษฏี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การใฝ่เรียนลดลงแม้แต่น้อย
“ก็เรียนทุกอย่างเหมือนเพื่อน ไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่ว่า
บางอันคุณครูท่านอาจจะปรับให้เข้ากับเรา อย่างเช่นกีฬาวิชาพละ ก็จะเหลือแค่เปลี่ยนเป็นทำรายงานส่ง ขณะที่คนอื่นสอบเล่นปิงปอง ปฏิบัติ เราก็แค่เขียนทฤษฎีให้ดูว่าทำอย่างไร ครูก็จะอธิบายว่าวิธีการจับไม้แบบปากกา แบบอะไร ประมาณนี้ และวิชาคอมพิวเตอร์ เราก็เรียนไม่ได้เหมือนกัน เพราะมองไม่เห็นภาพคอมพิวเตอร์ ก็อาศัยคุณครูจะช่วยติวเพิ่ม คือหนูจะรู้พวกทฤษฎี ฐานสองที่มันเป็นรหัส พวกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ว่าเป็นอย่างไร อันไหนเป็นหน่วยความจำ ก็ท่องๆ ไป บางอันที่ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้จริง ๆ ก็เว้นไว้ ต้องยอม
“อย่างวิชาศิลปะ ตอนนั้นก็ไม่ได้วาด วาดไม่เป็น จะใช้ทำอย่างอื่นมากกว่า เช่นเพื่อนอาจจะเรียนพวกปั้นดินน้ำมันปั้นนูนต่ำ แล้วก็เอาหนังสือพิมพ์แปะข้างบนแล้วลอกออกมาแล้วลงสี แล้วก็มีอย่างอื่นอีก เช่นพวกเรื่องสี เขาลงสีน้ำสีอะไร เราทำไม่ได้ เพราะหนูจะเรียนที่ไม่เหมือนคนอื่นตลอด ก็จะได้ทำพวกแปะแผ่นโมเสส แผ่นเล็ก ๆ เรียงกัน หลายๆ สี แทน
“แต่ว่ามันก็จะมีบางวิชาที่มันสูงขึ้นมา อย่างวิทยาศาสตร์ตอนนั้นก็ท็อป วิชาคณิต วิชาภาษไทย ภาษาจีนก็คะแนนสูง ก็ช่วยพยุงเกรดเราขึ้นมา ถ้าถามความรู้สึกส่วนตัว ก็ไม่ได้คิดว่าทำไมถึงต้องเรียนแตกต่าง เพราะว่าตอนนั้นคุณครูท่านก็ปรึกษาเราด้วยว่าจะทำยังไงดี ก็ถามความสมัครใจเราด้วย คือบางคะแนน หนูกับเพื่อนก็จะวัดด้วยอะไรที่มันแตกต่างกันในหลายๆ เรื่อง หลายๆ ด้าน อันไหนที่มันไม่ได้ เขาก็เปลี่ยนให้มันเป็นอย่างอื่นแทน หรือถ้าไม่เปลี่ยนก็ตัดไปเลย บางอันก็อาจจะเอาคะแนนไปรวมกับคะแนนกลุ่มที่ทำกับเพื่อนๆ อย่างวิชาคอมพิวเตอร์ที่ต้องทำแอนิเมชัน ก็ไม่ได้ช่วยเขา นั่งฟัง อย่างเดียว บางอันเราก็เป็นกำลังหลัก อย่างวิชาภาษา เราก็จะช่วยคิด
“ถ้าสำรองสุดๆ คือแทบไม่ได้ช่วยเลยจริง ๆ ก็จะช่วยออกเงินนะคะ”
หญิงสาวเล่าพลางหัวเราะร่วน เพราะแม้จะมีบ้างที่เธอต้องพยายามมากกว่าคนอื่น แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วรายรอบไปด้วยมิตรภาพ ความรัก ความเข้าใจในตัวเธอ โดยที่ไม่ล่วงรู้เลยว่าการศึกษาหาความรู้สำหรับผู้พิการทางสายตา ความเพียรพยายามอย่างเดียวไม่อาจจะสัมฤทธิผลผ่านพ้นไปได้ทุกอย่าง
“ก็เรียนมาเรื่อย ๆ จนถึงช่วงที่จะขึ้นชั้น ม.ปลาย คิดว่าตัวเองน่าจะพอโอเค ไปได้ เพราะวิชาหลักๆ คะแนนเราดีหมด ตามเพื่อนทันหมด จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องสามเหลี่ยมคล้าย เป็นการเรียนที่เป็นรูปภาพทั้งหมดขึ้นบนกระดาน เราก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจสามเหลี่ยมคล้ายเป็นยังไง คืออะไร กว่าจะทำความเข้าใจได้ก็ใกล้สอบแล้ว กว่าจะหาวิธีที่ทำให้เรารู้เรื่องนี้ ตอนสอบก็ทำไม่ทัน เพราะคิดช้า นั่นก็สอบตก ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าถ้าเกิดไปทางสายนี้ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายที่เราทำได้ดี เรียนสูงขึ้นมันจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น ภาพจะเยอะขึ้น ถ้าเรียนสูงกว่านี้มันไม่น่าจะได้ ตอนนั้นคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเรียนได้”
เมื่อคณิตศาสตร์เริ่มเลือนราง ไม่ชัดเจน วิชาวิทยาศาสตร์อีกหนึ่งวิชาที่ทำได้ดีก็ต้องพลอยปิ๋วไปด้วย
“ตรงนี้เราเฉยๆ เพราะก็ไม่ได้รู้สึกว่าชอบวิทยาศาสตร์หรือว่าคณิตศาสตร์อะไรมากขนาดนั้น เพราะว่ามาสายภาษา เราก็รู้สึกว่าเราก็เรียนภาษาได้
ช่วงนั้นก็ยังชอบเขียนกลอน กลอนตลกๆ เกี่ยวกับเรื่องเรียน กลอนชมคุณครูบ้าง เป็นประจำ แต่ว่าเพื่อนที่เรียนพร้อมกันอีกคน เขาอยากเรียนสายวิทย์มาก เพราะเขาชอบเลขและเก่งเลขมาแต่เด็ก แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจคิดเหมือนกัน ถ้าเขาเรียนสายคณิตศาสตร์ต่อไป มันไม่น่าจะได้
“คือบางคนอาจจะมองเรื่องที่ว่ามาทั้งหมด ว่ามันซับซ้อน มองว่ายาก แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะยากหรือมันจะซับซ้อนอะไร แม้กระทั่งตอนที่เข้ามาเรียนแล้วก็ไม่ได้คิดว่ามันจะยากหรือลำบากขนาดนั้น มันมองปัญหาข้างหน้ามากกว่า ว่าเดี๋ยวเราจะสอบอันนี้แล้วเราทำอย่างไรดี เราต้องหาวิธีอย่างไรว่าจะสอบได้ ไม่มีเวลามาคิดว่าทำไมมันยากจัง จะเลิกดีไหม ไม่ได้คิดถึงตรงนี้เลย คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะสอบได้ ทำอย่างไรถึงจะตามเพื่อนทัน
“เราก็ปกติและก็มีความสุขดี”
เมื่อหนังสือเปิดชีวิตก็พลิกฟื้นให้เห็นทางสว่าง
ชีวิตก็ดำเนินมาเรื่อย ๆ ปกติสุขตามประสาวัยเรียนอย่างที่เธอว่า จนกระทั่งชั้นมัธยมปีที่ 5...
“แต่ก็ไม่ได้เลือกชัดเจนไปตั้งแต่ ม.4 ว่า จบแล้วจะเรียนจะเข้าคณะอักษร แม้ว่าตอนเข้าชั้นมัธยมต้นจะมีให้กรอกในทะเบียนสะสมในสมุดพกว่าอนาคต วางแผนอยากจะเข้าศึกษาต่อคณะอะไรในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งพอย้อนกลับไปดู ก็เห็นตัวเองกรอกคณะอักษร ตอนเรียน ม.1 แต่เราคิดว่าไม่ใช่ความต้องการที่ชัดเจนจากตัวเราเองในตอนนั้น มันน่าจะเป็นค่านิยมมากว่า ฉันจะเข้าอักษรเพราะว่าอักษรมันเด่นหรืออะไรสักอย่างที่เป็นค่านิยมมากกว่า”
สาวน้อยกล่าวถึงความรู้สึกในตอนนั้นที่แม้จะมุ่งมาทางด้านภาษา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก่อนจะเล่าถึงจุดพลิกผันที่จับพลัดจับผลู ทำให้เธอก้าวเข้าสู่ถนนสายอักษรและตัวหนังสือ ณ วันนี้
“หลังจากนั้นก็เรียนขยับขึ้นมามัธยมปลายชั้นที่ 4 จนมาถึงชั้นมัธยมปลายชั้นที่ 5
พี่สาวต้องไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อยู่หอ พอพี่ไปเรียน ต้องพักอยู่หอ ก็กดดันเพิ่มมากขึ้น พี่ไม่อยู่ การทำการบ้านส่งครูและการพยายามเรียนให้ทันเพื่อน ก็ลำบากกว่าแต่ก่อน ไม่มีใครช่วยหารูปที่ครูต้องการ ไม่มีคนช่วยทำ My mapping แต่ก็ทำให้หัดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การหาทางรับผิดชอบการบ้าน และทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ทำให้รู้ถึงหัวอกพี่ที่ทั้งเรียนและต้องดูแลเราอีก
“เราก็เลยค่อนข้างกระตือรือร้นขึ้น ตัวเราใกล้จะจบแล้วด้วย แล้วอย่างไรต่อ มีคณะไหนที่เราสนใจบ้างหรือเปล่า ก็เริ่มถามกับตัวเองและหัดเล่นคอมพิวเตอร์เอง แล้วก็ไปลองหาว่ามีอะไรบ้างที่เราอยากเรียน ตอนนั้นก็มีพวกดนตรี ดุริยางคศิลป์ เพราะว่าเรียนเปียโนควบคู่กันมาตลอด แล้วก็มีจิตวิทยา ซึ่งตอนแรกพี่สาวเขาอยากเข้า แต่สุดท้ายไปเลือกอย่างอื่น เราก็สนใจ จิตวิทยาก็น่าเรียน อีกอันก็ปรัชญา แล้วก็มาเป็นด้านภาษา
“พอหาในคอมพิวเตอร์ ก็ได้เจอโครงการรับตรงพิเศษสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย ของคณะอักษรศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สนใจมาก ๆ เพราะดูชื่อน่าจะโหด ชอบท้าทาย (ยิ้ม) แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นทุนให้เรียนฟรี เพิ่งมารู้ตอนหลัง คือตอนนั้นไม่รู้ว่าถ้าเรียนจบแล้ว คนมองไม่เห็นที่เรียนต่อปริญญาตรี จะมีสิทธิ์ได้ทุนอะไรหรืออย่างไร แล้วทีนี้พอไปสอบถาม เขาก็บอกว่าโครงการนี้ คนที่เข้าไปจะต้องเรียนเอกภาษาไทยตลอด เปลี่ยนเอกไม่ได้ และถ้ารักษาเกรดได้ก็จะได้ทุนต่อ ช่วงแรกก็กังวลเหมือนกัน”
“แต่เฉพาะเรื่องเรียน เรื่องอื่น ๆ การปรับตัวไม่มีปัญหา แต่ก็เคยเข้าห้องเรียนผิดเหมือนกัน คือบางทีเดินขึ้นไปเอง ก็เข้าผิดห้อง เพราะคิดว่าอันนี้มันเป็นห้องสุดท้ายแล้ว แต่ปรากฏว่ามันต้องเดินต่อไปอีกประตูหนึ่ง ก็นั่งรออยู่นาน (หัวเราะ) บางทีเพื่อนเดินผ่านห้องมาเห็น อ้าว... ก็พาเราไป หรือบางทีนั่งรออยู่ คุณครูไม่มาเข้าสักที ก็รู้แล้วว่าผิดห้อง ก็เดินไปดู อย่างนั้น ก็สนุกดี เพราะว่ามหาวิทยาลัยกว้างก็จริง แต่ว่าเวลาเรียนก็จะเรียนอยู่ตึกเดิม ๆ ไม่กี่ตึกในช่วงปี 1 ที่เรายังไม่ได้เรียนนอกคณะ
“ปี 2-3 เริ่มไปเรียนนอกคณะ บางทีก็เจอเพื่อนที่อยู่อักษรด้วยกันมาเรียน เขาก็จะคอยช่วย หรือถ้าไม่มีเพื่อนที่อักษรมาเรียนด้วยกัน ก็มีเพื่อนที่คณะนั้นเองที่เขาเข้ามาช่วยเรา แต่บางทีก็เดินขึ้นไปแบบงงๆ ไม่รู้จักใคร แต่ว่าเราก็ต้องถามๆ เขาว่าใช่ห้องนี้หรือเปล่า ถ้าเกิดมีปัญหาจริง ๆ เราก็ถาม”
ณ รั้วมหา’ลัยแห่งนี้ สิ่งที่เธอชอบเริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยมีหนังสือเป็นสื่อกลาง...
“เรื่องเรียน เราก็เรียนวิเคราะห์หนังสือ
จากตอนแรกที่อ่านเฉยๆ คือเตรียมตัวช่วงปิดเทอมยาวๆ เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ช่วงนั้นอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะ อ่าน ว.ณ ประมวญมารค อ่านวรรณกรรมแปล แล้วก็มีอ่านของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ (กวีซีไรต์ ปี 2547) อะไรอย่างนี้ แล้วก็จะเป็นพวกนวนิยายของทมยันตี คืออ่านไปเรื่อย อะไรที่มันเป็นหนังสือเสียง หนูก็อ่าน มันเยอะ จำไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนวนิยายไม่ใหม่มาก เพราะว่าด้วยความที่เราไม่ค่อยรู้ว่าเรื่องไหนมันจะเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่มีใครมาแนะนำเรา เราก็จะเหวี่ยงแหเอา
“แล้วหนังสือเสียงมันก็ไม่ได้เยอะ เจออะไรก็อ่าน ๆ ไว้ หนังสือเสียงส่วนใหญ่ที่เขาเลือกมาอ่านมันก็เหมือนเขาคัดมาแล้ว ได้รับความนิยมส่วนหนึ่ง แล้วก็จะมีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ อย่างเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ แม้ว่าอาจจะดูเด็ก ๆ แต่รู้สึกว่ามันแฝงอะไรบางอย่าง อ่านเครียดๆ เกี่ยวกับชีวิต พวกหญิงคนชั่ว อะไรอย่างนี้ ก็อ่านเยอะด้วยความที่คิดว่าคณะอักษรเป็นคณะที่ต้องอ่านเยอะ แล้วตอนนั้นก็กลัว กลัวว่าจะไม่ทัน ก็ไล่อ่านอยู่อย่างนี้
“พอเข้ามาเรียนปี 1 ปี 2 ปี 3 ก็เริ่มวิเคราะห์หนังสือ มันก็ทำให้เราเห็นว่า หนังสือนี่มันมหัศจรรย์ แปลก เพราะว่าเราอ่านแล้วมีอารมณ์ร่วม อย่างพวกภาพ ปกติ ถ้าดูภาพยนตร์ เราจะไม่รู้พวกภาพหรือฉาก เราจะรู้แค่ว่าเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น 1-2-3 แต่ว่าพออ่านหนังสือมันจะมีบรรยายฉาก ภาพให้เราด้วย มันก็เลยทำให้เหมือนเข้าใจสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น จากปกติเรารับรู้แต่เฉพาะเสียงที่เราได้ยิน แต่ภาษาในหนังสือมันบรรยายภาพออกมาด้วย มันเลยทำให้เรามีภาพบางอย่าง มันอาจจะไม่ใช่ภาพจริง ๆ ก็ได้ แต่ว่ามันก็น่าจะใกล้เคียงระดับหนึ่ง
“นอกจากเราเห็นภาพแล้ว ก็ทำให้เราได้รู้สิ่งอื่น ๆ ด้วย ได้เข้าใจหลาย ๆ อย่างในโลกนี้ หรือว่าที่มันเป็นพฤติกรรมของคนอื่น กิริยาท่าทาง บางทีเราก็ไม่รู้คนอื่นเขาทำท่าทางอย่างไร แต่ว่าถ้าเราอ่านจากในหนังสือ มันจะทำให้เราพอนึกได้ว่า เขาทำกิริยาอะไรอย่างเวลาที่เขารู้สึกอย่างนี้ๆ ซึ่งตามปกติแล้วเราก็จะไม่รู้ เพราะมันไม่มีใครมาพูดให้เราฟังว่าตอนนี้ คนนี้เขาทำกิริยาอย่างนี้ แต่ว่าในหนังสือมันมี ก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ”
“ถึงได้บอกว่าหนังสือเป็นสิ่งมหัศจรรย์” หญิงสาวกล่าวย้ำ
“แล้วพอเรามาวิเคราะห์หนังสือ ทั้งในแง่วรรณศิลป์ ทั้งนิสัยตัวละคร ที่คณะอักษรเขาเรียน มันก็เลยทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าเออ มันเป็นสิ่งที่ง่ายซึ่งเราเข้าถึงได้ รับรู้ได้ แล้วตอนที่เราเรียนที่อักษร มันไม่มีปัญหาเหมือนอย่างตอนมัธยมที่เรารู้สึกว่า วิชานี้เราทำไม่ได้ วิชานี้เป็นรูป เราไม่เข้าใจเลย ทุกอย่างมันเป็นหนังสือ เรารับรู้ได้ทุกอย่าง ผ่านตัวหนังสือ เรารู้สึกว่าเราตามทัน เพราะว่าเราเข้าใจทุกอย่าง และอ่านอะไรทันกว่ามัธยมเยอะ ด้วยความที่ทุกอย่างมันเกี่ยวกับวรรณกรรม เกี่ยวกับหนังสือ ก็เลยรู้สึกว่างานด้านหนังสือน่าจะเป็นงานที่เราทำได้ ตอนนั้นก็คิดว่าอยากเขียนหนังสือ แต่ถ้าเขียนหนังสือ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก เราจะทำอย่างไร คิดพล็อตใหม่ ทำอย่างไรให้น่าสนใจ แต่ตอนนี้เราเริ่มรู้สึกแล้วว่าหนังสือเป็นสิ่งที่มันมีอิทธิพลต่อคน เขาไม่ได้อ่านแล้วจบเฉยๆ แต่ว่ามันส่งผลต่อความคิดของคน
“พอเราเริ่มคิดว่าจะเขียน ก็รู้สึกว่าการเขียนมันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แล้วมันก็ต้องเห็นภาพในหัว เพราะว่าเราจะจินตนาการอย่างไร ความยากของคือเรารู้คำ แล้วก็เข้าใจเรื่องเสียง แต่ว่าถ้าให้บรรยายภาพจริง ๆ ว่าหน้าคนหรือกริยาของคน คนกำลังเดินมา ให้จินตนาการฉาก ภาพสีสันของเก้าอี้ขึ้นมาจริง ๆ ในหัว รู้สึกว่าทำไม่ได้ คือเรื่องความคิดจะเขียนหนังสือมันมีมาตั้งแต่มัธยมแล้ว แต่ก็รู้ว่าติดตรงไหน ก็เลยต้องพับเก็บไปก่อน”
เป็นอีกครั้งที่ขีดจำกัดทางด้านการมองเห็น มีบทบาทในเส้นทางชีวิต กระนั้นเธอก็ยังไม่ย่อท้อหรือมองเป็นปัญหา กลับมุ่งหาทางอีกสายที่ทำได้แทน
“คือเราไม่ได้รู้สึกว่าโลกของเราแคบกว่าคนอื่น แล้วคือเราใช้อะไรตัดสินว่าโลกเราแคบหรือโลกเรากว้าง เรารู้สึกว่าเราก็ได้เรียนรู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น มีทั้งเรื่องที่สุข เรื่องที่เศร้า เรื่องที่ทำให้โกรธ เรื่องที่ทำให้กลัว หลายสิ่งหลายอย่าง รวมๆ กัน จนกระทั่งมันก็คือโลกนี้ มันไม่ได้แคบไปกว่าคนอื่น
“เราไม่ได้เข้าใจโลกด้านเดียวว่าโลกนี้มันมีแต่เรื่องที่มันสวยงาม เราก็ได้เรียนรู้โลกทุกมุมอย่างที่มันเป็น ทุกคนเป็น ด้านที่มันเศร้าที่สุด ด้านที่มันทำให้เรามีความสุขที่สุด
“จริงอยู่ที่เราบรรยายภาพไม่ได้จริง ๆ รู้สึกว่าทำไม่ได้ ก็เลยเก็บไว้ก่อน ทีนี้พอคิดว่าถ้าเขียนไม่ได้ แต่ว่าวิเคราะห์ได้ ก็น่าจะพอไปทางด้านนี้ได้อยู่ตอนนั้นก็คอยดูภาษาให้เพื่อนว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดี เพราะว่าเวลาเพื่อนๆ เขียนการบ้านดีกว่า บางทีเขาก็เอามาให้หนูช่วยดูก่อน ดังนั้น บางทีเราก็จะเห็น อันนี้ประโยคนี้มันไม่ดี ประโยคนี้มันน่าจะปรับอย่างนี้ๆ คือเราแก้ให้เขาได้ ก็เลยรู้สึกว่า ถึงเราจะเขียนไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ทำด้านอื่น เช่นตรวจแก้งาน น่าจะทำได้
“ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราลองทำงานสำนักพิมพ์ดีไหม ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 3 เพื่อนก็จะเริ่มพูดเรื่องงานว่าต่อไปทำงานอะไรดี เราก็ยังไม้รู้ แต่เริ่มคิดว่างานด้านสำนักพิมพ์น่าสนใจ แล้วเราก็น่าจะทำได้ ให้เราตรวจแก้ ถ้าแก้แค่ภาษามันน่าจะทำได้ไม่ยาก เหมือนกับว่าเราอ่านนิยายในเว็บ เราก็รู้สึกว่าการตรวจแก้ต้นฉบับมันก็คือคล้ายกับที่เราอ่านนิยายในเว็บไซต์แล้วเราก็แก้ไปทีละคำ ๆ ว่าตรงไหนมันผิด
“แล้วการที่เราตรวจแก้ ช่วยให้เราได้อ่านหนังสือด้วย
เพราะตัวเองก็อยากอ่าน แต่ว่าให้มารอหนังสือเสียง บางเล่มมันก็ไม่มีเป็นหนังสือเสียงสักที แต่ว่าถ้าเราทำงานด้านหนังสือ ด้านสำนักพิมพ์ เราก็จะได้อ่าน อ่านฟรีด้วย (หัวเราะ) พอเราอ่านไปเรื่อย ๆ เราก็คงรู้ว่าคนอื่นเขาเขียนพล็อตอย่างไร ฉากอย่างไร อะไรที่เราไม่สามารถรับรู้ ก็คือเหมือนเราก็จะได้เรียนจากการอ่านไปด้วย แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ นั่นคือสิ่งที่คิด”
อ่านต่อที่นี่
ที่มา :
http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000016590