สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ทางรอดของคนคะแนนน้อย



หลังจาก สทศ. ประกาศผลคะแนน O-NET และ GAT/PAT ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีการให้น้ำหนักมากใน TCAS รอบที่ 4 หรือรอบ Admission คือ O-NET 30% และ GAT/PAT อีก 50% รวมกันแล้วเป็น 80% ของสัดส่วนคะแนนทั้งหมดในรอบ Admission และหลังจากที่รู้คะแนนกันไปแล้วนี่เองที่ทำให้น้องๆ เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า คะแนนน้อยจะทำยังไงดี มีทางไหนพอทำได้บ้าง วันนี้เรามีตัวอย่างทางเลือกดีๆ มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
 


โควตา รับตรง ที่ไม่ใช้คะแนน O-NET GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ
แม้รอบ Admission จะใช้สัดส่วนคะแนน O-NET และ GAT/PAT เยอะมากก็จริง แต่ระบบ TCAS ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้น้องๆ มุ่งไปที่ Admission เพียงอย่างเดียว ยังมีการรับข้ามหาวิทยาลัยในรอบอื่นๆ ที่เป็นตัวเลือกสำหรับคนคะแนนน้อยอยู่ นั้นคือ TCAS รอบที่ 2 รอบที่ 3 และ รอบที่ 5 ซึ่งเป็นการรับแบบโควตา และการรับตรง ซึ่งบางโครงการ จากบางคณะ มหาวิทยาลัย ก็เลือกใช้เพียง GPAX หรือเกณฑ์อื่นๆ ที่น้องๆ ไม่จำเป็นต้องยื่นคะแนนเพื่อใช้ในการแข่งขัน และถ้าน้องๆ สงสัยว่ามีที่ไหนเปิดรับอยู่บ้างสามารถเข้าไปดูในโปรแกรมค้นหาโครงการรับตรง AdmissionDirect ได้
 


เรียนที่ไหนก็ได้ ขอแค่เป็นสาขาที่อยากเรียน
อีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะกับคนคะแนนน้อย รักการผจญภัย ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับมือกับสถานที่ใหม่ๆ วิถีชีวิตใหม่ๆ ที่ไม่คุ่นเคย ก็เลือกคณะ สาขาที่อยากเรียนนี่ล่ะ เพียงแต่อาจไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยดัง หรือมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน แต่พี่ขอบอกก่อนเลยว่าการเปลี่ยนแปลง การไปพบเจอกับสิ่งใหม่ๆ อาจทำให้เราได้มีโอกาสแบบที่ไม่คาดฝันก็ได้ ฉะนั้นหากพร้อมที่จะผจญภัย จงอย่าลังเลที่จะเลือกเรียนในคณะ สาขาที่อยากเรียน ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด
 


มองคณะใหม่ ที่มีความเป็นไปได้
หากน้องๆ ไม่พร้อมสำหรับการออกเดินทางไปเรียนในมหาวิทยาลัยไกลบ้าน และคิดว่ามหาวิทยาลัยที่เลือกไว้แต่แรกเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง ก็ลองมองหาคณะที่ก่อนหน้านี่มองข้ามไปดูบ้าง เพราะแต่ละคณะคะแนนมากน้อยต่างกัน แต่ถ้าน้องๆ เลือกเส้นทางนี้ อย่าลืมศึกษาความเป็นไปได้ในการหางานในอนาคตหลังจากเรียนจบเอาไว้ด้วย
 


เอกชนยังมี จะคะแนนเยอะหรือน้อยก็เรียนได้
มหาวิทยาลัยเอกชนก็เป็นที่พูดถึงในหมู่น้องๆ จำนวนมากหลังจากประกาศผลคะแนน เราอาจมองภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยเอกชนในอดีตที่ยังสู่มหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ในทันกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลักสูตรที่ปรับเพื่อรองรับ Thailand 4.0 และในหลายๆ สาขาของบางมหาวิทยาเอกชน ก็มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของน้องๆ ได้มากกว่าด้วย
 


ยึดมั่นในสิ่งที่เลือก รอปีหน้าก็ยังไม่สาย
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่คะแนนปีนี้น้อง แต่ยังไม่หมดหวังกับสิ่งที่เลือก ก่อนจะเลือกเส้นทางนี้ขอแนะนำว่าให้ทำทุกทางสำหรับการเข้าไปเรียนในคณะ สาขา มหาวิทยาลัยที่ต้องการก่อนจะได้ไม่เสียใจทีหลัง ถ้ายังต้องผิดหวัง เวลาสัก 1 ปี สำหรับการเตรียมตัวสอบเข้าโดยเฉพาะก็ช่วยได้ ในประเทศไทยอาจถูกมองเป็นเรื่องแปลกไปสักนิด แต่ในต่างประเทศเรื่องแบบนี้ถือว่าปกติเอามากๆ เลย ที่เด็กจะใช้เวลาสักปีในการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมกับหาประสบการณ์ด้านอื่นๆ ให้กับชีวิตด้วย