สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ต่อยอดแนวคิดพัฒนาความเป็นนวัตกร ณ SCG Open Innovation Center

   
           จากที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมครั้งที่ 17 เพื่อมุ่งผลักดันกลุ่มเยาวชนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ต่อยอดความคิด สร้างเครือข่าย เพื่อให้กลายเป็นธุรกิจนวัตกรรมได้จริง ทางสนช. จึงร่วมมือกับ SCG Open Innovation Center ศูนย์กลางการเปิดรับความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับภาครัฐ-เอกชน-การศึกษาทั่วโลก จัดกิจกรรมดูงานนอกสถานที่ต่อยอดแนวคิดพัฒนาความเป็นนวัตกรขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ SCG Open Innovation Center ปทุมธานี ก่อนที่จะนำผลงานมานำเสนอกรรมการเพื่อประเมินศักยภาพในการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรมจริงในเวทีการประกวด



           การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในด้านการเลือกใช้วัสดุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับชิ้นงาน การเรียนรู้การวางแผนธุรกิจแบบเป็นขั้นตอนในเชิงรูปธรรมมากขึ้น รวมไปถึงการอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและการทำงานเป็นเครือข่ายนวัตกรรมร่วมกันในด้านต่างๆ
 
           การอบรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือส่วนของการฟังบรรยายรู้จักกับ SCG แนวความคิดและมุมมองการวางแผนธุรกิจต่อยอดจากนวัตกรรม โดยเริ่มจากวิทยากรคุณศศิธร สีวะรา ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์ Open Innovation Center อธิบายให้กลุ่มเยาวชนรู้จัก SCG ตั้งแต่ความเป็นมาของบริษัท ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาของการเปิดศูนย์ Open Innovation Center แผนพัฒนาการตลาด การมองหากลุ่มเป้าหมาย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องของบริษัท รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมที่ทันสมัย



  หลังจากนั้น เป็นช่วงของการเดินชม Exhibition ต่างๆ ได้แก่ โซน Inspiration start here ที่อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของ SCG การประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการคิดแผนพัฒนาปรับปรุงบริษัท ในโซนนี้กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาและการวางแผนธุรกิจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของบริษัท
 
          โซนต่อมา Performance อธิบายถึงวัสดุต่างๆที่พัฒนาขึ้นที่มีความโดดเด่นตอบโจทย์ผู้บริโภค โซนนี้กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้ว่าวัสดุธรรมดาอย่างเช่น กระเบื้องเมื่อนำมาผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ไอเดียสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มราคาให้สูงขึ้นได้
 
           โซน Design for Sustainability การออกแบบสินค้าและการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้แล้ว ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต



          โซน Moving Edge การพัฒนา Solution คือพัฒนาต่อเนื่องจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ดีขึ้นไปอีกระดับ ตัวอย่างเช่น การผลิตเส้นใยผ้าจากเมล็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมวัสดุทดแทนยังเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ทนทานและเสมือนผ้าจริงได้อีกด้วย
 
           และในโซนสุดท้าย Drawing the Future Together นำเสนอ Technology Platform ในโซนนี้ กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้และเห็นเป็นภาพว่าการทำธุรกิจหนึ่งอย่าง การสร้างเครือข่ายนั้นสำคัญมาก ในหนึ่งธุรกิจจะสามารถต่อยอดพัฒนาได้อีกมากมาย หากว่ามีเครือข่ายที่ช่วยร่วมกันพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ไม่รู้จบ    
 
           กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาฯ เพื่อในอนาคตเมื่อกลุ่มเครือข่ายผู้เข้าร่วมสนิทสนมกันแล้วมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็จะสามารถร่วมกันนำความรู้ ความคิด และผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนมีต่างกัน ได้นำมาทำงานร่วมกันก่อให้เกิดนวัตกรรมร่วมกันได้ในที่สุด