ม.หอการค้าไทย เปิดผลวิจัยพฤติกรรมกลุ่มวัยรุ่น ในการรับรู้แบรนด์ทีวีดิจิทัล พบพฤติกรรมของวัยรุ่นเน้นการใช้สมาร์ทโฟน และดูย้อนหลังรายการที่ตนเองชอบ มากกว่ารอดูตามผังรายการ แนะการเร่งสร้างแบรนด์การจดจำ ควบคู่การพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพ
กระแสของการแข่งขันของทีวีดิจิทัล ยังคงดุเดือด ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแต่ละช่องต่างงัดกลยุทธ์เด็ด หวังชวนให้ประชาชนหันมาติดตามรับชมและจดจำแบรนด์ของช่องให้มากขึ้น พร้อมทั้งต่างเร่งพัฒนาคอนเทนต์เพื่อให้ตอบสนองผู้ชมในวัยต่างๆ โดยกลุ่ม "วัยรุ่น" ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่แต่ละช่องต่างหาคอนเทนต์เด็ดๆ มาเพื่อมัดใจคนกลุ่มนี้ให้มากยิ่งขึ้น
"เวลาที่มักจะดูย้อนหลังคือเวลา 2 ทุ่ม – เที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่วัยรุ่นจะมีกิจกรรมในการดูทีวีผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ใช่แค่ดูผ่านจอทีวีปกติ หากสถานีดิจิทัลอยากจะสื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่นผ่านแพลตฟอร์มสื่อใหม่ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ ในหการสื่อสารเพราะเขาเปิดรับสื่ออยู่ "
หากดูในเรื่องของคอนเทนต์รายการนั้น 3 อันดับหลัก จะเป็นในส่วนของบันเทิงตามวัยของเขาที่ชม คือ ละครไทย(ซีรีย์ไทย) ภาพยนต์ต่างไทย/ต่างประเทศ รองลงมาคือ การ์ตูน ที่น่าสนใจคือข่าวและวิเคราะห์ข่าวมีถึงร้อยละ 18 ซึ่งหากผู้ผลิตมีการปรับปรุงความน่าสนใจ ให้มีความสนุกกึ่งวาไรตี้ ก็จะสามารถดึงกลุ่มวัยรุ่นนี้ได้ เพราะตอนแรกที่คนจะมองคือคนไม่สนใจข่าวเลย ซึ่งจริงๆแล้วเขาสนใจ แต่เพียงไม่ใช่ข่าวแบบผู้ใหญ่ดู หรือการนำเสนอยังไม่โดนใจเขา หรือทำให้ย่อยให้เข้าใจง่ายขึ้น ถึงแม้เขายังจำเลขช่องไม่ได้ แต่มันก็ไม่จำเป็น เพราะเขาเลือกรายการที่จะดูย้อนหลัง
สำหรับปัญหาการรับรู้การจำเลขช่องไม่ได้นั้น ดร.มานะ มองว่า ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นที่ยังไม่เป็นเลขเดียวกันทุกแพลตฟอร์ม และการสัมพันธ์กันระหว่างช่องจริงกับเลขช่องนั้นไม่สัมพันธ์กัน แต่พอมีการเรียงเลขช่อง เลขนั้นก็เปลี่ยนไปทำให้คนสับสนจากเลขช่อง กับเลขจริง
ถึงแม้ว่า ตอนหลังแม้จะมีการบังคับให้เรียงทุกแพลตฟอร์ม แต่คนก็ยังสับสนอยู่ เพราะตัวเลขไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องการจดจำเลขช่องนั้นก็ต้องใช้เวลาในการโปรโมทให้คนจำเลขช่องได้ นอกจากสร้างแบรนด์ให้คนจดจำโลโก้ ต้องทำให้คนจำเลขช่องให้ได้ ให้คนดูนึกออกทันทีว่าจะดูช่องนี้ ต้องเลขนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องการแจกกล่องของ กสทช. ในเมืองอาจจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ในต่างจังหวัดจะมีปัญหามากขึ้น เพราะยอดคนดูยังน้อย และไร้การจดจำ เขาจะจำแต่ช่องที่อยากดู
ส่วน อนาคตนั้น การเพิ่มแพลตฟอร์มด้านสมาร์ทโฟน เป็นสิ่งสำคัญ การเพิ่มแพคเกจการดูย้อนหลังเป็นกลยุทธ์ของแต่ละช่องที่ต้องนำไปคิด ขณะที่กลุ่มคนวัยอื่นๆ ช่องทางการรับชมทางสมาร์ทโฟนอาจจะความต่าง อาจจะยังช้ากว่ากลุ่มวัยรุ่น แต่ในหลายๆกลุ่มก็มีการใช้แต่ยังไม่มีการดูย้อนหลังเยอะเท่าปริมาณกลุ่มวัยรุ่นแต่ก็มีการปรับตัวมากขึ้น
"ผลการสำรวจในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมในการเสพสื่อของคนรุ่นใหม่ ที่มีทางเลือกและมีอิสระในการกำหนดวิธีการและช่องทางในการเลือกที่จะรับชมสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้น สถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นนี้ ต้องพัฒนาทั้งเนื้อหารายการ รูปแบบการเข้าถึงสื่อ และสร้างความสะดวกในการรับชมผ่านทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น " ดร.มานะ กล่าว
ส่วนทิศทางปี 2559 นั้น คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย มองว่า การแข่งขันนั้นยังมีเหมือนเดิม ในเรื่องของละคร วาไรตี้ ส่วนข่าวก็ยังแข่งกันอยู่แต่ยังไม่มีความแตกต่างโดดเด่นในแต่ละช่อง เนื้อหาในแข่งขันยังมีการเจาะกลุ่มเป้าหมายยังไม่ชัด มันยังเหมือนกันหมด ยังไม่มีการทำข่าวเน้นว่าช่องนี้คือช่องผู้หญิง ข่าวจะเน้นเรื่องของผู้หญิงเป็นหลัก แต่ยังเป็นลักษณะการเสนอข่าวที่เปิดข่าวช่องไหนดูได้เหมือนกันหมดอยู่
ขณะที่ น.ส.กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ม.หอการค้าไทย บอกว่า นอกจากการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบในการรับชมรายการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชมแล้ว แบรนด์ของสถานีโทรทัศน์ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่สถานีต้องให้ความสำคัญ เพียงตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว จะไม่เพียงพอต่อการเอาชนะใจลูกค้า โดยอันดับแรกควรจะต้องมุ่งเน้นให้เกิดการจดจำโลโก้และเลขช่องได้ เห็นได้จากผลการสำรวจครั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจการจดจำเลขช่องกับการวัดเรตติ้งของ กสทช.ในช่วงเวลาเดียวกัน จะเห็นว่าสถานีที่ผู้ชมจดจำเลขช่องได้จะมีเรตติ้งที่สูงกว่าสถานีช่องอื่นๆ
ทั้งนี้ ผลสำรวจ ในด้านพฤติกรรมการรับชมรายการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลของวัยรุ่น พบว่า ผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นมีการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลมากที่สุดร้อยละ 59 รองลงมาคือสมาร์ทโฟนร้อยละ 41.8 คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คร้อยละ 29 และแท็บเล็ตร้อยละ 24
โดยผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 86 ดูรายการย้อนหลัง ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งช่องทางยอดนิยมในการดูรายการย้อนหลังของวัยรุ่นคือ Youtube ร้อยละ 73 Line TV ร้อยละ 36 และเว็บไซต์ของสถานีร้อยละ 22
สำหรับช่วงเวลาที่ดูรายการโทรทัศน์มากที่สุดคือ 20.01-24.00 น. ร้อยละ 69 ประเภทรายการ ที่วัยรุ่นชื่นชอบมากที่สุดคือละครไทยร้อยละ 47 ภาพยนตร์ร้อยละ 39 และการ์ตูนร้อยละ 38
ที่มา : http://www.pptvthailand.com/news/22517