สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เทคนิคเตรียมสอบ PAT5


PAT5 วิชาความถนัดทางวิชาชีพครู เป็นวิชาที่สำคัญมากสำหรับน้อง ๆ ที่มีความต้องการเรียนสายครู ซึ่งน้อง ๆ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการสอบวิชานี้ วันนี้เรามีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเตรียมตัวสอบ PAT5 ความถนัดทางวิชาชีพครูมาฝากกันอีกเช่นเคย ไปดูกันเลยดีกว่าว่าในวิชานี้เรามีอะไรมาฝากน้อง ๆ กันบ้าง

PAT5 สอบอะไรบ้าง


1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. จิตวิทยาครู
4. คณิตศาสตร์


เทคนิคการทำข้อสอบ PAT5

ทำในส่วนที่ใช้เวลาไม่นาน สามารถทำได้ในเวลาที่รวดเร็วก่อน พาร์ทที่ใช้เวลามาก ควรทำหลังสุด
            ให้ทำในส่วนที่ใช้เวลาไม่นาน สามารถทำได้ในเวลาที่รวดเร็วก่อน เพราะข้อสอบมีจำนวนเยอะ แต่มีเวลาจำกัด หากน้องมัวแต่นั่งทำข้อที่ต้องใช้เวลาคิด และวิเคราะห์นาน ให้เวลากับส่วนนั้นมากเกินไป น้องๆ อาจจะต้องสูญเสียคะแนนในส่วนอื่นที่ควรจะได้ไป อยากให้น้องๆ จำไว้ว่าทุกข้อมีสัดส่วนคะแนนเท่ากัน เลือกใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ตรรกศาสตร์รูปภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่อยากแนะนำให้น้องๆ ทำก่อน น้องๆ บางคนอาจจะคิดว่ายาก ดูแล้วไม่เห็นจะรู้เรื่อง ว่าจากรูปนี้ แล้วควรจะไปรูปไหน แต่ตรรกศาสตร์รูปภาพ จริงๆ แล้วไม่ยาก หากน้องๆ รู้หลักในการทำจะสามารถทำข้อสอบข้อที่อยู่ใกล้เคียงกันได้เป็นส่วนใหญ่ 
            อีกส่วนที่แนะนำให้ทำก่อน คือ จิตวิทยา และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับครู โดยเฉพาะจิตวิทยาครู เพราะเป็นส่วนที่ทำได้ไม่ยาก ข้อสอบส่วนใหญ่จะยกสถานการณ์ต่างๆ มา แล้วถามน้องๆ ว่า หากน้องๆ เป็นครู น้องๆ จะทำอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้ เช่น เด็กที่มีผลการเรียนไม่ดี น้องๆ จะแก้ปัญหายังไง ให้เปลี่ยนโปรแกรมการเรียนเลยดีไหม หรือจะค้นหาสาเหตุที่ทำให้เด็กมีปัญหา แล้วแก้ให้ตรงจุด หรือเด็กติดอินเทอร์เน็ตควรทำยังไง ไม่ต้องทำอะไรหากไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน หรือพูดคุยถึงการใช้ที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าข้อสอบแนวนี้แม้น้องๆ จะไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งก็สามารถทำได้
            ใช้ความรู้สึกในการนำทางน้องๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ครูควรทำ ส่วนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับครู สิ่งที่ออกบ่อยๆ และจำไว้ไม่เสียหลาย คือ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุรุสภา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพครูครับ ซึ่งในส่วนนี้มีเทคนิคคำท่องมาช่วยน้อง ๆ ในการจำ คือ 20 อายุ คุรุสภา ปริญญาตรี 1 ปีฝึกสอน 

             และส่วนที่อยากแนะนำให้น้องทำเป็นส่วนสุดท้าย คือ ตรรกศาสตร์ทั่วไป ในส่วนนี้ที่แนะนำให้ทำหลังสุด เพราะค่อนข้างจะใช้เวลามาก โจทย์ยาว บางครั้งซับซ้อน  ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยแก้ๆ ไป เทคนิคที่แนะนำให้น้องๆ ทำในส่วนนี้คือ การวาดรูป การเขียนตาราง เพราะไม่อย่างนั้นน้องๆ จะไม่เห็นภาพ และก็จะตอบไม่ได้ ข้อควรระวังสำหรับข้อสอบในส่วนนี้คือ อ่านอย่างระมัดระวังน้องๆ เพราะถ้าน้องๆ ข้ามอะไรไป คำตอบที่ได้อาจจะผิดเพี้ยน หรือบางทีอาจจะไม่ได้คำตอบเลย

พาร์ทสังคมไม่ยาก อิงจากสถานะการณ์ปัจจุบัน
             อีกส่วนที่จะทำได้ไม่ยากมากนัก ข้อสอบสังคมศึกษา รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ และถ้าน้องอ่านผ่านตาเพียงครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถทำได้ไม่ยาก อย่างน้อยน้องๆ จะสามารถตัดตัวเลือกได้ แต่ในส่วนของสังคมศึกษาใน PAT 5
ค่อนข้างต่างกับสังคมศึกษาในสนามสอบอื่นๆ เพราะสนามสอบอื่นๆ จะออกเนื้อหาในบทเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ PAT 5 ไม่เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ PAT 5 ออกเป็นส่วนใหญ่ คือ ข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน ข่าวการศึกษา ข่าวเด่น ข่าวดังในช่วงเวลานั้นๆ หรือความรู้รอบตัว เช่น โครงสร้างการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว อีโบลา โรค ALS และกิจกรรม Ice Bucket Challenge เป็นต้น

พาร์ทภาษาไทยเน้นการอ่าน วิเคราะห์ และการอ่านจับใจความ
             ภาษาไทยเป็นอีกส่วนที่ทำได้ไม่ยาก โดยภาษาไทยใน PAT 5 จะเน้นเรื่องการใช้ภาษา โดยเฉพาะการอ่านและวิเคราะห์ การอ่านจับใจความเป็นส่วนใหญ่ ข้อสอบภาษาไทยโดยมากจะมีเนื้อเรื่องยาวๆ ให้น้องๆ อ่าน แล้วถามว่า ประเด็นหลักของเรื่องคืออะไร สาระสำคัญของเรื่องอยู่ตรงไหน นอกจากนี้ก็จะมีถามเกี่ยวกับเรื่องสำนวนและสุภาษิต การเรียงลำดับความ การใช้เหตุผล การโต้แย้ง เป็นต้น

พาร์ทคณิตศาสตร์ ไม่ยากอย่างที่คิด เป็นคณิตศาสตร์พื้นฐาน บวกลบคูณหาร เทียบบัญญัติไตรยางค์ และเลขอนุกรม
            หลายคนแค่เห็นคำว่า "คณิตศาสตร์" ก็คงทำหน้ายี้เหม็นเบื่อ หรือโอดครวญว่าทำไม่ได้ หรือไม่เก่ง ต้องแย่แน่ๆ แต่น้องๆ อย่าพึ่งตีตนไปก่อนไข้ ถ้าน้องๆ ได้เห็นข้อสอบจริงๆ คิดว่าน้องคงจะยิ้มได้ เพราะข้อสอบคณิตศาสตร์ใน PAT 5 ไม่ยากอย่างที่น้องคิด ไม่มีเวกเตอร์ แคลคูลัส ตรีโกณมิติ เป็นคณิตศาสตร์พื้นฐาน บวกลบคูณหาร เทียบบัญญัติไตรยางค์ และเลขอนุกรม ไม่ยากเลย


ขอบคุณข้อมูลจาก : Pantip
                          Socithai