สอบเข้ามหาวิทยาลัย

ซูนึง (수능).. การสอบเข้ามหาวิทยาลัยสุดโหดของเกาหลี ที่กำหนดความฝันและอนาคต



           ช่วงนี้มีภาพยนตร์เรื่อง "Reach for the Sky ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า" เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวการ ซูนึง (수능) หรือสอบเข้าสู่มหาวิทยาลัยของประเทศเกาหลี ที่โหดเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้การสอบเกาเข่าของประเทศจีน โดยตามติชีวิตประจำวันของนักเรียนเกาหลีที่ต้องผิตและเตรียมพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัย เพราะถือว่าเป็นวันที่สำคัญและสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้เลย


 

ซูนึง (수능) วันสำคัญ.. วันกำหนดชีวิต


           ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหลายคนรอคอย สิ่งที่เตรียมตัวมาตลอดปี (หรืออาจมากกว่านั้น) จะสิ้นสุดในวันนี้.. เพราะเป็นวันสอบ ซูนึง (수능) หรือการสอบเอ็นทรานซ์เข้าสู่มหาวิทยาลัยของประเทศเกาหลีใต้

           การสอบซูนึง มีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 650,000 คนในทุกปี เพื่อเข้าชิงมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเกาหลี และมีนักเรียนประมาณ 1% เท่านั้นที่ผ่านเข้าสู่จุดหมายในมหาวิทยาลัยที่ตั้งความฝันไว้ นั่นคือความโหดและหิน ที่มาพร้อมความกดดันที่นักเรียนทุกคนต้องเจอ



           สำหรับการเรียนการสอนที่ประเทศเกาหลีใต้นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ภาคเรียน แต่จะเริ่มเปิดเรียนภาคเรียนแรก ในเดือน มีนาคม - กรกฎาคม (ช่วงฤดูใบไม้ผลิ - ฤดูร้อน) ส่วนภาคเรียนที่ 2 จะเรียนในเดือนกันยายน - ธันวาคม (ช่วงฤดูใบไม้ร่วง - ฤดูหนาว)

           การแบ่งแผนการเรียนก็จะไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก คือมีแผนการเรียนหลักคือ วิทยาศาสตร์ และ ศิลปศาสตร์ 

           ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ของชั้นปีสุดท้ายในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทางโรงเรียนจะปิดช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวเข้าสู่สมรภูมิรบทางการศึกษาที่สำคัญ นั่นคือ ซูนึง หรือ College Scholastic Ability Test (CSAT) โดยปีนี้จัดสอบในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้
 

ทำความรู้จัก CSAT หรือ ซูนึง กันดีกว่า!


           การสอบ College Scholastic Ability Test (CSAT) หรือที่รู้จักว่าซูนึง นั้น เป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศ เริ่มจัดสอบครั้งแรกเมื่อปี 1994 ซึ่งจัดสอบโดย Korea Institute of Curriculum and Evaluation (KICE) 

           สำหรับวิชาที่ใช้ในการสอบนั้นมีทั้งหมด 6 วิชาหลัก ได้แก่

           - ภาษาประจำชาติ (National Language) มีทั้งหมด 45 ข้อ 100 คะแนน เวลาสอบ 80 นาที
           - คณิตศาสตร์ (Mathematics) มีทั้งหมด 100 คะแนน เวลาสอบ 100 นาที
           - ภาษาอังกฤษ (English language) มี 45 ข้อ 100 คะแนน เวลาสอบ 70 นาที
           - ประวัติศาสตร์เกาหลี (Korean History) และ สังคมศึกษา / วิทยาศาสตร์ / อาชีวศึกษา (Social Studies / Science / Vocational Education) มีทั้งหมด 20 คำถาม 50 คะแนน เวลาสอบ 102 นาที
                      * บังคับเลือกเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์เกาหลี วิชาอื่นๆ เลือกตามแผนการเรียนของตนได้
           - และภาษาต่างประเทศ (Foreign language / Hanja) มี 30 คำถาม 50 คะแนน เวลาสอบ 40 นาที




           โดยในทุกๆ วิชาก็จะมีรายละเอียดการสอบที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

           - ในรายวิชาคณิตศาสตร์ จะแบ่งออกเป็น 2 ชุดคือ 가 และ 나 โดยสามารถเลือกสอบได้
                      - โดยข้อสอบ ฉบับ 가  (กา) จะมีเนื้อหาทางด้านแคลคูลัสเชิงอนุพันธ์และปริพันธ์ (Differential and Integral Calculus), เรขาคณิต, เวกเตอร์, ความน่าจะเป็น และสถิติ
                      - ส่วนฉบับ 나 (นาน) จะเป็นคณิตศาสตร์ 2, แคลคูลัส, ความน่าจะเป็น และสถิติ
           - วิชาประวัติศาสตร์เกาหลี เป็นวิชาที่สำคัญ หากไม่ทำการสอบคะแนนทั้งหมดจะเป็นโมฆะ
           - วิชาสังคมศึกษา มีเนื้อหาการสอลแบ่งเป็น ชีวิตและจริยธรรม, จริยธรรมและความคิด, ภูมิศาสตร์เกาหลี, ภูมิศาสตร์โลก, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก, ประวัติศาสตร์โลก, กฎหมายและการเมือง, สังคมและวัฒนธรรม, และเศรษฐศาสตร์ โดยสามารถเลือกสอบ 2 หัวข้อจากเนื้อหาทั้งหมด
           - วิชาวิทยาศาสตร์ มีเนื้อหาการสอบคือ ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, โลกและดาราศาสตร์ โดยแต่ละวิชามีทั้งหมด 2 ฉบับ (เช่น เนื้อหาฟิสิกส์ มีการสอบ ฟิสิกส์ 1 และ ฟิสิกส์ 2) โดยสามารถเลือกสอบ 2 หัวข้อจากเนื้อหาทั้งหมด
           - อาชีวศึกษา จะแบ่งออกเป็น วิทยาศาสตร์การเกษตร, อุตสาหกรรม, พาณิช7ย์, สมุทรศาสตร์, และคหกรรม โดยในน้องๆ สามารถเลือกสอบได้ 1 หัวข้อจากเนื้อหาทั้งหมด
           - ภาษาต่างประเทศ แบ่งออกเป็น ภาษาเยอรมัน, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาสเปน, ภาษาจีน, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษารัสเซีย, ภาษาอาหรับ, ภาษาเวียดนามพื้นฐาน และ อังจา (อักษรจีน-เกาหลี) โดยในน้องๆ สามารถเลือกสอบได้ 1 หัวข้อจากเนื้อหาทั้งหมด

           โดยหลังจากสอบเสร็จแต่ละวิชานั้น สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเราทำได้ประมาณกี่คะแนน เพราะคำตอบและกระดาษคำตอบที่ถกต้องจะเผยแพร่หลังจากวิชานั้นสอบเสร็จสิ้น


( ตัวอย่างคำถามวิชาภาษาอังกฤษ ของการสอบ ซูนึง หรือ CSAT)



            นอกจากเนื้อหาการสอบที่เข้มข้นแล้ว การสอบทุกอย่างจะสอบภายใน 1 วันเท่านั้น โดยแบ่งตารางสอบออกเป็นดังนี้

           - ภาษาประจำชาติ  เริ่มสอบตอน 08.40 - 10.00 น.
           - คณิตศาสตร์ เริ่มสอบตอน 10.30 - 12.10 น.
           - ภาษาอังกฤษ เริ่มสอบตอน 13.10-14.20 น.
           - ประวัติศาสตร์เกาหลี และ สังคมศึกษา / วิทยาศาสตร์ / อาชีวศึกษา เริ่มสอบตอน 14.50 - 16.32 น.
           - ภาษาต่างประเทศ เริ่มสอบตอน 17.00 - 17.40 น.
 

ซูนึง.. สำคัญมากขนาดไหน?


           การสอบ CSAT หรือ ซูนึง ถือเป็นการสอบที่กำหนดชะตาชีวิตของเด็กนักเรียนเกาหลี เนื่องจากเป็นการสอบ "ครั้งเดียวจบ" และที่เกาหลีใต้นั้นไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชนรองรับเหมือนไทย หากพลาดไปก็มีทางเลือกคือรอบสอบใหม่อีกครั้ง หรือเรียนต่อที่ต่างประเทศ หรือไม่เรียนต่อเลย 

           นอกจากการแข่งขันกับตนเอง ที่ต้องสู้กับความกดดันจากเพ่ื่อน ครอบครัว โรงเรียนแล้ว ยังคงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับคู่แข่งนับแสนที่พร้อมจะแย่งมหาวิทยาลัยที่เราต้องการ แค่ก้าวพลาดหรือทำผิดเพียงข้อเดียว คะแนนหายไปไม่กี่ทศนิยม ก็ทำให้มีโอกาสหลุดมหาวิทยาลัยที่ฝันได้เลยทีเดียว 

           จากการสอบที่โหด หิน จึงทำให้การเตรียมตัวต้องเข้มข้นกว่าปกติ ต้องรู้ว่าตนเองอยากเป็นอะไร อยากเรียนอะไร และวางแผนอนาคตล่วงหน้าว่าต้องเรียนที่ไหนที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญในสาขาที่ต้องการเรียนต่อ และสืบเจาะลึกว่าถ้าหากเรียนจบแล้วประกอบอาชีพนั้นๆ แล้วจะประสบความสำเร็จหรือเป็นที่ยอมรับต้องทำอย่างไร.. เรียกได้ว่าเข้มและโหดตั้งแต่การเตรียมตัวจนถึงการสอบเลยทีเดียว




           รวมถึงการติว หรือการกวดวิชา ก็เรียกได้ว่าหนักไม่แพ้กัน คือเข้าเรียนตั้งแต่เช้า ออกจากสถาบันกวดวิชาก็สามารถเข้านอนได้เลย คือเริ่มเรียนประมาณ 7 - 8 โมงเช้า และเลิกประมาณ 4 ทุ่ม บางคนเลิกแล้วก็ยังคงมีการติวต่อหรือไปอ่านหนังสือต่อตามห้องสมุด (บางห้องสมุกของเกาหลีใต้เปิดถึงเที่ยงคืน หรือเปิด 24 ชั่วโมง)

           จากสภาวะทั้งหมดที่กดดัน ความคาดหวัง และการแข่งขันที่ตึงเครียดสูง จึงให้เกือบทุกปีมีปัญหาการฆ่าตัวตาย เพราะเครียดจากการสอบให้เห็นอยู่เสมอ

           นอกจากความเข้มข้นในการเตรียมตัวแล้ว วันสอบซูนึง นั้นก็สำคัญมาก คือ ตลาดหลักทรัพย์ และห้างสรรพสินค้า จะเปิดช้ากว่าเดิม 1 ชั่วโมง รวมถึงจะไม่มีเครื่องบินบินหรือลงจอดประมาณ 30 นาที ในช่วงวิชาการฟังภาษาอังกฤษ เพื่อไม่ให้รบกวนการสอบ อีกทั้งรถบัส รถไฟฟ้า และบริการสถานะต่างๆ ก็พร้อมบริการส่งนักเรียนถึงสถานที่สอบกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศให้ถึงทันเวลา หรือสามารถขอความช่วยเหลืจากตำรวจเพื่อให้ส่งถึงสถานที่สอบได้อีกด้วย อีกทั้งสำนักข่าวต่างๆ ก็นำเสนอข่าวและเกาะติดตลอดเวลา เป็นข่าวใหญ่ไม่แพ้ข่าวทางด้านการเมืองเลยทีเดียว

 

กำลังใจจากเธอนั้นสำคัญ.. จริงๆ นะ :)


           จากความกดดันทั้งหมดที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าต้องเกิดความเครียดและความกดดัน.. กำลังใจถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ โดยในช่วงก่อนสอบนี้ ก็มักจะมีศิลปินหรือไอดอลที่ชื่นชอบทำเซอร์ไพร์สให้กำลังใจถึงโรงเรียน (ยกตัวอย่างคลิปด้านล่างนี้ ที่ Jeong Sewoon ผู้เข้าแข่งขันจากรายการ Produce 101 Season 2 ซึ่งปัจจุบันได้เดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยวไปแล้ว ได้ไปเซอร์ไพรสและให้กำลังใจผู้โชคดีถึงโรงเรียนหญิงล้วนเลยทีเดียว) หรือในวันสอบซูนึงก็มีการอัปเดต Social Network เพื่อให้กำลังใจกับน้องๆ ที่เข้าสอบทุกคน

           เหนื่อยแค่ไหน ถ้าไอดอลที่เราชื่นชอบมาให้กำลังใจแบบนี้ ก็มีพลังในการสอบมากกว่าเดิมแล้ว ว่าไหม ? ;)



 


           และในวันสอบ บรรยากาศหน้าสถานที่สอบก็ครึกครื้นเปรียบเสมือนผู้เข้าสอบเป็นศิลปินเหมือนกัน นั่นคือก็จะมีรุ่นพี่มหาวิทยาลัยและรุ่นน้องมาให้กำลังใจ ยกป้ายเชียร์ทั้งป้ายปกติ หรือป้ายไฟ โบกธงเชียร์ พร้อมเครื่องมือสันทนาการพร้อม ได้บรรยากาศการรับน้องขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว.. ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ผู้เข้าสอบไม่เกิดอาการที่เครียดหรือวิตกก่อนสอบมากเกินไปนั่นเอง 
 

           พอถึงระยะเวลาการสอบ กิจกรรมสันทนาการก็จะหยุดไป กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองหลายๆ คนนั่งขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ลูกหรือบุตรหลานของตนเองนั้นสอบได้ หรือติดตามมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจ พร้อมส่งพลังจิตเพื่อเป็นกำลังใจในการสอบนั่นเอง นอกจากหน้าโรงเรียนตามศาลเจ้าต่างๆ ก็จะเต็มไปด้วยผู้ปกครองไม่แพ้กัน
 

- - - - - - - - - - - -

           และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการสอบที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี ที่ดูไปแล้วแตกต่างจากประเทศไทยมากพอสมควร เพราะในบ้านเรายังไม่มีความกดดันหรือการแข่งขันที่สูงขนาดนี้ ดังนั้นถือว่าเราค่อนข้างที่จะโชคดีที่เรามีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ, มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยเปิด รวมทั้งยังมีรับตรงและระบบ TCAS อีกหลายรอบที่รอน้องๆ เป็นนิสิตและนักศึกษาใหม่อยู่นั่นเอง (ถึงแม้การสอบต่างๆ จะเหลือเพียงครั้งเดียว และสอบหลังจากน้องๆ จบ ม.6 ก็ตาม)

           ถึงแม้ตอนนี้ TCAS ยังคงเป็นรอบยื่นแฟ้มสะสมผลงานและไม่มีการสอบอยู่นั้น แต่รอบที่ 2 เป็นต้นไปก็จะเริ่มใช้คะแนนในการคัดเลือกแล้ว ทางทีมงาน Admission Premium และ พี่ มศว พาน้องสอบ ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน เตรียมตัว วางแผนตนเองให้พร้อมกับการสอบที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยนะ

           สุดท้ายขอให้ความฝันเป็นจริง.. ได้เรียนในคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ สาขาที่ฝันนะ :)
 

 

        หมายเหตุ : สำหรับใครที่สนใจชมภาพยนตร์ "Reach for the Sky ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า" สามารถติตตามรอบฉายได้ทาง https://www.facebook.com/DocumentaryClubTH



ข้อมูลประกอบการเขียนบทความ : 
           - https://waymagazine.org/classroom12/ 
           - http://www.nubeever.com/2011/11/16/suneung-college-scholastic-ability-test/
           - https://en.wikipedia.org/wiki/College_Scholastic_Ability_Test_(South_Korea)
           - https://www.theatlantic.com/education/archive/2016/11/south-korean-seniors-have-been-preparing-for-today-since-kindergarten/508031/