สอบเข้ามหาวิทยาลัย

บทเรียน "ดีเจเก่งถอยชน" สะท้อนโลกสื่อยุคใหม่ ตอกย้ำหน้าที่ "นักข่าว"

UploadImage

             ข่าวคนดังในสังคมถอยรถชนเก๋งคันหนึ่งถูกผู้สื่อข่าวพบเห็นและบันทึกภาพเหตุการณ์พร้อมคำบอกเล่าของคู่กรณีจนกลายเป็นกระแสข่าวดังชั่วข้ามคืนสื่อทุกแห่งทั่วประเทศหยิบยกประเด็นนี้มานำเสนอเป็นข่าวใหญ่ตลอดสัปดาห์เหตุการณ์นี้สะท้อนพื้นที่ข่าวและบทบาทของสื่ออย่างไรท่ามกลางโลกยุคใหม่อ่านมุมมองเหล่านี้จากความคิดเห็นของนักวิชาการและอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์  คณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย

กรณีเหตุการณ์คลิปข่าวดีเจเก่งถอยรถชนยาริส ทำให้เกิดภาพสะท้อนหลายอย่างในสังคมโดยเฉพาะในวงการสื่อ มองประเด็นเรื่องนี้อย่างไร?
 
             ในกรณีของดีเจเก่งเกิดขึ้นแตกต่างจากเดิม คือเมื่อก่อนแพลตฟอร์มของสื่อมีค่อนข้างจำกัด มีทีวีแค่ 5-6 ช่อง แต่ทุกวันนี้มีช่องทีวีมากมายเต็มไปหมด และที่สำคัญเรามีโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายทอดสื่อสารต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อก่อนสื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร บอกว่าอะไรเป็นข่าว อะไรไม่ใช่ข่าว ซึ่งอันนี้คือในอดีต แต่ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนมีช่องทางสื่อสารของตัวเอง สามารถบอกได้ว่านี้คือประเด็นที่ฉันอยากสื่อสารกับเพื่อน อยากจะบอกต่อ เป็นประเด็นที่อยากจะแสดงความคิดเห็น  
             เพราะฉะนั้นแล้ว ช่องทางในการสื่อสารของทุกคนมีมากขึ้น และช่องทางการเสพสื่อก็มีมากขึ้น มากกว่าเดิมด้วย เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่แปลกใจที่ประเด็นในโลกออนไลน์ทุกวันนี้เป็นประเด็นหลักขึ้นมามากมาย สื่อมวลชนกระแสหลักกลับมากระโดดหยิบเอาประเด็นในโลกออนไลน์ไปนำเสนอ 
             แต่ปัญหาหลักคือการที่สื่อมวลชนนำเอาประเด็นในโลกออนไลน์ไปนำเสนอ ต้องพึงตรวจสอบ พึงกลั่นกรอง และทำให้มันรอบด้านมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าพอเราแต่ละคนเป็นในเชิงของปัจเจกชน เชิงของคนธรรมดาทั่วไป ถ่ายทอดจากมือถือ ถ่ายทอดผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ มันมีมุมมองของแต่ละคน ซึ่งมันเป็นมุมมองของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว บางคนอาจจะเห็นมุมนี้ เห็นความจริงแบบนี้ อีกคนเห็นความจริงอีกแบบหนึ่ง 
             ถ้าในฐานะสื่อมวลชน ต้องดึงเอาหลายๆ อย่างรวบรวมแล้วมากลั่นกรอง เรียบเรียงว่าอะไรมันถูกต้อง อะไรมันขาดแง่มุมไหนไป โดยเฉพาะในเรื่องของประเด็นข่าว ถ้ามันมีแง่มุมเดียวจากคนที่อยู่ตรงนี้ แล้วคนอีกมุมหนึ่งเห็นอะไรไปบ้าง ต้องไปตรวจสอบ ต้องไปกลั่นกรองก่อนนำเสนอ ไม่ใช่หยิบก๊อบปี้-แปะ แต่เมื่อไหร่ที่ก๊อบปี้-แปะ สื่อมวลชนก็ไม่ได้ต่างไปจากบุคคลธรรมดาที่มีการนำเสนอ
อย่าลืมนะครับว่า สื่อมวลชนมืออาชีพมีเครดิตความน่าเชื่อถือของความเป็นสื่ออยู่ ความเป็นนักข่าวอยู่ ลักษณะเด่นของนักข่าวคือการกลั่นกรอง เช็กข่าวก่อน เพราะฉะนั้นแล้ว "เมื่อสื่อมวลชนไปหยิบยกประเด็นในโลกออนไลน์มา อย่าเพิ่งเน้นในเรื่องความเร็ว ให้เน้นในเรื่องของความถูกต้องน่าจะดีกว่า รอบด้านให้มากกว่า ล้วงลึกให้มากกว่า" มันจะทำให้ประเด็นที่ออกมาจากสื่อมวลชนดูน่าเชื่อถือและเชื่อมั่น เพราะฉะนั้น "พอเปิดดูในโลกออนไลน์แล้วคนหันไปเชื่อ พอกลับมาสื่อปกติแล้วเลียนแบบเหมือนกันเลย เชื่อไปเลย สุดท้ายแล้วหากข้อมูลมันผิดพลาดไป ใครจะรับผิดชอบ" !!!
 
อนาคตของสื่อจะเป็นอย่างไร ใครเป็นคนตั้งหรือจุดประเด็น?
 
            ในอนาคตจะเป็นสองอย่างครับ ทั้งในส่วนของสังคมโลกออนไลน์จุดประเด็น แล้วนักข่าวตามประเด็นและเป็นประเด็นที่ดีด้วย อาทิ เมื่อหลายปีก่อนเรื่องกรณีเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 โดยเริ่มประเด็นมาจากห้องหว้ากอของพันทิป แล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นมีหนังสือพิมพ์ไปหยิบนำเอาประเด็นมาขยายผล มาตรวจสอบต่อ มาเช็กต่อ มามีการขยายผลของประเด็นที่อยู่ในโลกออนไลน์จนสามารถทำให้ข่าวชิ้นนั้นได้รางวัลอิศรา ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลที่ดีที่อยู่ในประเด็นเชิงสืบสวนของไทยในปีนั้นได้ แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีประเด็นเยอะแยะที่อยู่ในโลกออนไลน์ถ้าหยิบมาแล้วขยายผล ก็สามารถเป็นประเด็นข่าวสืบสวนที่ดีได้ 
             อย่างไรก็ตาม ก็จะมีประเด็นข่าวอีกจำนวนหนึ่งที่นักข่าวทำขึ้นมาเองแล้วในโลกออนไลน์หยิบไปพูดคุย หรือเอามาช่วยเสริม หาประเด็นต่างๆ เพิ่มเข้ามาได้ อย่างเช่น นักข่าวทำข่าวประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกมา แล้วเจอเรื่องในมุมนี้ แล้วในโลกออนไลน์ก็จะไปเสริมในมุมนี้ และในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักข่าวมืออาชีพกับนักข่าวพลเมือง แล้วก็ประชาชนทั่วๆ ไป แต่บทบาทอาจจะมีความแตกต่างกัน 
              สุดท้ายแล้วบทบาทที่สำคัญคือ นักข่าวมืออาชีพต้องกลั่นกรอง ต้องตรวจสอบ ต้องทำข่าวให้รอบด้าน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และในขณะเดียวกันก็จะมีซัพพอร์ตเตอร์จากในส่วนของนักข่าวพลเมืองจากคนต่างๆ ที่ส่งเข้าไป อันนี้ก็อาจจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างนักข่าวที่เป็นมืออาชีพกับประชาชนคนที่เสพข่าวทั่วๆ ไป
 
สิ่งที่ต้องพึงระลึกถึงก่อน "ถ่าย-โพสต์-โชว์-แชร์" คืออะไรบ้าง?
 
               สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรคำนึงถึงคือทุกคนสามารถเล่าเรื่องราวในมุมมองของตัวเองได้แต่ต้องไม่ก้าวละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ไปหมิ่นประมาทคนอื่น คือทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ แต่อย่าดัดแปลงข้อมูลหรือตัดต่อเรียบเรียงข้อมูลใหม่ หรือหมิ่นประมาทกล่าวหาคนโน้นคนนี้ เพราะมันมีกฎหมายเรื่องพวกนี้อยู่ ต้องพึงระวังด้วย สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ และในประเทศหลายแห่งก็มีกรณีแบบนี้เหมือนกัน 
               มีการหยิบรูปถ่ายหรือว่าถ่ายคลิปวิดีโอต่างๆไปล่วงละเมิด ไปแอบถ่ายในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นแล้วเอามาโพสต์ มาแชร์ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งผิดกฎหมายแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องพึงระวังว่าทุกคนเป็นสื่อได้ในยุคนี้ที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย เพราะมันเป็นทั้งพลังที่บวกและพลังที่ลบด้วย เปรียบเสมือนมีดที่เราสามารถจะเอาไปประกอบอาหารหรือนำไปเป็นอาวุธแทงคน ซึ่งโทรศัพท์มือถือหรือสื่อใหม่ก็เหมือนกับมีด เราจะใช้ประโยชน์ในด้านบวกหรือลบขึ้นอยู่กับตัวเรา มันไม่ได้ผิดที่ตัวมีด แต่มันผิดที่ตัวคน
 
ที่มา มติชน ออนไลน์