จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระนามเดิม: หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ; พระราชสมภพ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475) เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และโดยพระชนมายุจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์
เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ปีเดียวกันนั้น ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 (ภายหลังคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
“การพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญเท่ากับชาติ ถ้าไม่พยายาม พัฒนาคนให้อยู่ในสภาพที่อยู่ดีกินดี มีการศึกษา และอาชีพ คนก็ไม่สามารถพัฒนาชาติให้เจริญได้ การพัฒนาคนจึงเท่ากับ การพัฒนาประเทศ
ถ้าใครมีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้สูงสุดแค่ไหน ก็ให้เขาเรียน ไปจนถึงที่สุด แต่คำว่าการศึกษานั้น ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในโรงเรียนเสมอไป ยังมีทางเลือกอีกหลายทาง ทั้งสายอาชีพ ทั้งการอบรม โดยผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งการฝึกงานโครงการศิลปาชีพ”
แนวพระราชดำริพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ
ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา
วันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
พระราชประวัติทางด้านการศึกษา
พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์มีอายุได้ 4 ขวบ ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศไทย จะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคม ไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังพระบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จนจบชั้น มัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้เรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดี และเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วย
พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงหม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำ สำนักเซนต์ เยมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้โดยได้ทรงพาครอบครัว ทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้น หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
ในประเทศอังกฤษหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษหลังจากนั้นไม่นานพระบิดาย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศเดนมาร์กและประเทศ ฝรั่งเศส ตามลำดับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโน และตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัย การดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
พระราชกรณียกิจ "ด้านการศึกษา"
ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษา ทรงส่งเสริมด้านการศึกษา ด้วยทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาอยู่เนืองๆ ทรงตระหนักถึงความสำคัญว่า ผลของการศึกษาในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคต พระราชทานทุนการศึกษา และส่งเสริมการพัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ ทรงมีกระแสพระราชดำรัส ด้วยความห่วงใยในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติ เด็กไทยควรมีความรู้ เกี่ยวกับความเป็นมาของประเทศชาติ ว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงมาสู่ปัจจุบันได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ราษฎรที่มีบุตรมากและยากจนซึ่งทรงพบทั่วไปในพระราชอาณาจักร ทรงห่วงใยราษฎรตามชนบทที่ขาดการศึกษาเป็นอย่างมาก และทรงมุ่งหวังที่จะให้ราษฎรไทยเป็นประชากรที่มีคุณภาพ พึ่งตนเองได้ ตลอดจนไม่ถูกหลอกลวงโดยผู้ที่มุ่งหวังเอารัดเอาเปรียบผู้ที่มีการศึกษาน้อย ดังนั้นเมื่อได้มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรและทรงทราบว่าครอบครัวใดมีบุตรที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนแต่ครอบครัวนั้นไม่สามารถส่งบุตรให้ศึกษาต่อจากภาคบังคับได้ ก็จะพระราชทานทุนการศึกษาแก่บุตรของครอบครัวนั้น ๑ คน โดยพิจารณาเด็กที่มีความสามารถพอจะศึกษาให้จบอย่างน้อยหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งเป็นเกณฑ์ เพื่อที่จะกลับมาเป็นที่พึ่งของครอบครัวในการทำมาเลี้ยงชีพ และส่งเสียให้สมาชิกครอบครัวรายอื่นๆได้รับการศึกษาต่อไป ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กเหล่านี้แล้วเป็นจำนวนหลายพันรายทั่วประเทศ
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.coj.go.th/day/queen/ , http://silapacheep.ohm.go.th