สอบเข้ามหาวิทยาลัย

พระราชประวัติด้านการศึกษา “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” รัชกาล ที่ 10

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 65 พรรษา เว็บไซต์ AdmisionPremium.com ได้จัดทำพระราชประวัติด้านการศึกษา ที่พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับสิ่งที่รัก เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้ และเป็นแรงบันดาลใจในการเรียน

 


ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2499 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ต่อมาโรงเรียนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังจากนั้นจึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ


เสด็จฯไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช 2509 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นชัสเชกส์ ประเทศอังกฤษ และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ได้เสด็จฯไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2513



 
เข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่ประเทศออสเตรเลีย
นับแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย และสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอ ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ ทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของทหารและตำรวจเป็นนิจ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาต่อในวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2513 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2514

พุทธศักราช 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา นับตั้งแต่ภาคแรกแห่งการศึกษาเป็นต้นไป หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพุทธศักราช 2519

 
  


สำหรับการศึกษาอบรมทางการทหาร พุทธศักราช 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบิน ได้แก่ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง และหลักสูตรส่งทางอากาศ



 
ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2520 - 2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2522-มกราคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบเอ เอช-1 เอช คอบรา ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 1 ชั่วโมง

เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2523 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ ยู เอช-1 เอช และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยู เอช-1 เอ็น ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน 249.56 ชั่วโมง

เดือนกันยายน - ตุลาคม ปีเดียวกัน ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ ของกองทัพบกไทย จำนวนชั่วโมงบิน 54.50 ชั่วโมง

เดือนธันวาคม 2523 - กุมภาพันธ์ 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Siai-Marchetti SF 260 MT จำนวนชั่วโมงบิน 172.20 ชั่วโมง

เดือนมีนาคม - กรกฎาคม 2524 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T-37 จำนวนชั่วโมงบิน 240 ชั่วโมง

พ.ศ.2527 - 2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งราชอาณาจักร




นับตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศลในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนา จึงมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อสมทบทุนเพื่อการกุศลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
 

ขอขอบคุณ :
ภาพประกอบจาก : หนังสือ “๗๐ สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา” กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2559 โดยกรมศิลปากร
ข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์