ในชีวิตของเด็กนักเรียนหรือวัยเรียน คงหนีการสอบไปไม่ได้ แล้วน้องๆ เคยเป็นกันไหมที่อ่านหนังสือไปเต็มที่ก่อนสอบ แต่พอถึงเวลาสอบจริงกลับพบว่าข้อสอบที่เจอ คือเรื่องที่เราดันไม่ได้อ่านหรือจำได้แค่ลางๆ แล้วไอ้ที่เราอ่านมา มันก็ไม่ออกสอบ แล้วยิ่งเป็นข้อสอบที่รู้สึกว่าไม่มีสอนในคาบเรียน ก็จนมุม นั่งปาดน้ำตากันไปสิ
แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งเหงื่อตกรีบลุกออกจากห้อง เพราะบทความนี้เราจะมาแบ่งปันเคล็ดลับ
9 เทคนิค เดาข้อสอบขั้นเทพ ที่จะช่วยให้น้องๆ สามารถทำข้อสอบที่ไม่แน่ใจได้แบบมีจินตนาการและเหตุผลรองรับ ส่วนเทคนิคที่เรานำมาฝากจะเจ๋งแค่ไหน ตามมาดูได้เลย
1. เทคนิคการตัดช็อยส์
การตัดช้อยส์เป็นวิธีการเดาข้อสอบพื้นฐานที่ทุกๆ คนจะต้องใช้อยู่เสมอ โดยการเลือกช้อยส์หรือคำตอบที่ไม่ถูกต้องแน่ๆ หรือไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน การตัดช้อยส์เป็นการเพิ่มความน่าจะเป็นที่จะเลือกคำตอบถูกเพิ่มขึ้นจาก 25% (ในกรณีที่เดา) เป็น 66% 50% หรือ 100% ได้ในกรณีที่สามารถตัดช้อยส์แล้วเหลือเพียงคำตอบเดียว
2. ช้อยส์ที่มีความขัดแย้งกันเอง มักมีช้อยส์นึงที่ถูก
เมื่อน้องๆ เจอโจทย์ที่ให้ช้อยส์หรือคำตอบที่ขัดแย้งกันเอง โดยทั่วไปมักจะมีข้อใดข้อนึงถูก เช่น น้องมั่นใจว่าคำตอบในโจทย์ข้อหนึ่งเป็นจำนวนเต็มแน่ๆ แล้วมีช้อยส์ 1) x เป็นจำนวนเต็มคู่ 2) x เป็นจำนวนเต็มคี่ คำตอบที่ถูกต้องมักจะเป็นช้อยส์ใดช้อยส์หนึ่งในสองช้อยส์นี้อย่างแน่นอน
3. การประมาณคำตอบ
การประมาณคำตอบเป็นเทคนิคที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ที่จะช่วยให้น้องๆ สามารถตัดช้อยส์ในข้อสอบได้หลายข้อเลยทีเดียว เช่น โจทย์บอกว่า ผู้ชาย 3 คนสร้างบ้าน 3 หลังเสร็จในระยะเวลา 5 วัน ถามว่าผู้ชาย 2 คนสร้างบ้าน 4 หลังเสร็จในระยะเวลากี่วัน ในข้อนี้น้องๆสามารถประมาณได้เลยว่า คำตอบต้องไม่น้อยกว่า 5 วันแน่ๆเพราะ คนก็น้อยลง จำนวนบ้านที่ต้องสร้างก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะใช้เวลาลดลง
4. ช้อยส์ที่คำตอบเหมือนกัน จะไม่มีข้อใดถูก
ในการทำข้อสอบ ในบางครั้งช้อยส์ที่โจทย์ให้อาจมีความหมายเหมือนกันได้ ซึ่งหมายความว่าช้อยส์ทั้งสองช้อยส์นั้นเป็นช้อยส์หลอกนั่นเอง เช่น อาจเจอช้อยส์ที่ว่า 1) ช่วยให้ผ้าแห้งเร็ว 2) ช่วยลดระยะเวลาในการทำให้ผ้าแห้ง ทั้งสองช้อยส์นี้มีความหมายเหมือนกันดังนั้นจึงสามารถตัดสองช้อยส์นี้ออกได้ทั้งคู่ (ช้อยส์นี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ในโจทย์จริงช้อยส์จะมีความยากกว่านี้นะครับ)
5. ลองวาดรูป
เทคนิคนี้ใช้บ่อยในการทำโจทย์คณิตศาสตร์เรื่องภาคตัดกรวยและเรขาคณิตวิเคราะห์ และอาจนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆก็ได้ เช่น โจทย์ให้หาจุดตัดของกราฟ y=-x+5 กับ y=x+3 จากการวาดกราฟคร่าวๆ ทำให้สามารถบอกได้ว่าจุดตัดอยู่ในจตุภาคที่ 1 ดังนั้นช้อยส์ที่คำตอบอยู่ในจตุภาคอื่นๆ ก็สามารถตัดออกไปได้
6. เลือกคำตอบที่ตอบมาน้อยที่สุด
ในการทำข้อสอบนั้น น้องๆ อาจข้ามข้อที่ยังไม่มั่นใจในคำตอบ หรือยังหาคำตอบไม่ได้ไปก่อน หลังจากนั้นให้กลับมาทำในข้อสอบที่ข้ามไป ถ้าหากทำไม่ได้แนะนำให้เลือกเดาคำตอบที่ตอบไปน้อยที่สุด เช่น ข้อสอบมี 100 ข้อ โดยส่วนใหญ่ผู้ออกข้อสอบมักจะพยายามเฉลี่ยคำตอบให้ตอบ ก ข ค ง พอๆ กัน ดังนั้นคำตอบไหนที่ยังตอบไม่ถึง 25 ข้อ ก็ควรจะเดาคำตอบนั้น อย่างน้อยๆ ก็อาจดีกว่าการสุ่มเลยที่มีโอกาสถูกเพียงแค่ 25%
7. แทนค่าช้อยส์
การแทนค่า มีประโยชน์อย่างมากในการทำข้อสอบ เพราะนอกจากจะช่วยเช็คคำตอบแล้ว ในบางครั้งอาจทำให้ได้คำตอบเร็วกว่าการคิดแบบตรงๆ เลยละ แต่อย่าลืมพยายามตัดช้อยส์ก่อนนำช้อยส์ไปแทนค่าในโจทย์นะ จะช่วยให้การทำข้อสอบเร็วและแม่นยำขึ้น
8. ใช้ข้อสอบข้ออื่นให้เป็นประโยชน์
ในการทำข้อสอบโดยเฉพาะข้อสอบยาก โจทย์อาจมีบทความสั้นๆ มาเป็นข้อมูลให้ก่อนถามคำถามเกี่ยวกับบทความนั้นๆ ในบางครั้งบทความเหล่านี้นอกจากจะเป็นคำถามสำหรับเราแล้ว ยังเป็นข้อมูลที่ให้ความรู้สำหรับเราด้วยซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดช้อยส์ในข้อสอบข้ออื่นก็เป็นได้
9. เดาใจคนออกข้อสอบ
บางครั้ง ข้อสอบบางข้ออาจจะออกไม่ดีทำให้มีช้อยส์ที่กำกวมและอาจเป็นคำตอบได้หลายช้อยส์ ถ้าหากน้องๆ ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง แนะนำให้เดาใจคนออกข้อสอบโดยการคิดว่า ถ้าหากคนออกข้อสอบต้องการให้ตอบคำตอบนี้ คำถามควรจะถามว่าอะไร แล้วคำตอบไหนที่คำถามที่คนออกควรจะถาม ตรงกับคำถามในโจทย์ ข้อนั้นแหละคือคำตอบ