สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เชิญอ่านเด้อ! 10 เรื่องน่ารู้ “บุญเดือนห้า” หรือตรุษสงกรานต์ของชาวอีสาน


จากบทความที่แล้ว ที่เราได้นำเสนอ 10 เรื่องน่ารู้ “ประเพณีวันว่าง” สงกรานต์ของภาคใต้ และ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสงกรานต์ภาคเหนือ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับประเพณีสำคัญสำหรับคนไทยในทุกภูมิภาคอย่าง ประเพณีสงกรานต์ กันมากยิ่งขึ้น

และในบทความนี้ เราจะมาสืบต่อความรู้กันที่ภาคตะวันออกของไทยหรือภาคอีสานนั่นเอง โดยกิจกรรมวันปีใหม่ไทยของชาวอีสานจะน่าสนใจแค่ไหน ติดตามได้ที่ 10 เรื่องน่ารู้ “บุญเดือนห้า” หรือตรุษสงกรานต์ของชาวอีสาน ว่าแล้วก็ตามมาดูกันเลยเด้อออออ 

UploadImage
1. ภาคอีสานมีกิจกรรมประเพณีสงกรานต์เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ของประเทศ โดยมีกำหนดงาน 3 วัน คือ วันที่ 13-15 เมษายน จะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน โดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเป็นการเริ่มต้นปีหรือศักราชใหม่

2. ชาวอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" "ตรุษสงกรานต์" “บุญฮดสรง” “บุญรดน้ำ” และ “บุญสงกรานต์” มีบางจังหวัดที่ใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชา จะออกเสียงเรียกวันสงกรานต์ตามภาษาเขมรว่า “ตรดสงกรานต์”

3. “บุญสงกรานต์” ของชาวอีสานมีธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่เคร่งครัด เรียกว่า “ฮีตสิบสอง” (“ฮีต” ก็คือ จารีต “สิบสอง” คือ เดือนทั้ง 12)

4. สมัยโบราณ ก่อนถึงวันตรุษสงกรานต์ จะมีผู้รู้ในท้องถิ่นเดินประกาศแก่ชาวบ้านทั่วไปให้ทราบกำหนดวันสงกรานต์ ชื่อนางสงกรานต์ รวมถึงการบอกพยากรณ์เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหารและจำนวนนาคให้น้ำในปีนั้นๆ เพื่อให้ชาวบ้านทุกชุมชนได้เตรียมตัวเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป

5. ชาวอีสานจะจัดทำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดและมีการละเล่นมหรสพพื้นบ้านต่างๆ ในบริเวณลานวัดนั้น อย่างสนุกสนานตลอด 3 วัน

UploadImage
6. มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษ เรียกว่า “ซักอนิจจา” หรือ “ชักอนิจจา”

7. ระหว่างเทศกาลสงกรานต์จะมีการเล่น “เรือมตรด” หรือ “รำตรุษ” เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่ง โดยขบวนเรือมตรดจะเดินร้องรำตามจังหวะดนตรีผ่านไปตามหมู่บ้าน เนื้อร้องมักกล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของวันตรุษสงกรานต์ รวมถึงเป็นการร้องบอกบุญ ยกย่องชมเชยเจ้าของบ้าน

8. เมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนและจัดเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้าเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ และมีการจัดเตรียมน้ำอบน้ำหอมไปที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำญาติผู้ใหญ่เพื่อขอขมาลาโทษ

9. วันสุดท้ายของเทศกาล ชาวอีสานจะทำบุญหมู่บ้าน โดยการปลูกปะรำพิธีกลางหมู่บ้าน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์ในตอนเย็น รุ่งเช้ามีการทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั่วหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล เป็นการต้อนรับโชคชัยในวันขึ้นปีใหม่

10. มีการจัดงาน สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน เป็นงานใหญ่ที่จัดเพื่อร่วมทำบุญปีใหม่ระหว่างไทยกับลาว ที่อำเภอเมืองและอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม 

UploadImage
UploadImage

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ :
http://kanchanapisek.or.th
www.trueplookpanya.com
www.manager.co.th
www.thaifest.org
http://i-san.tourismthailand.org
http://oknation.nationtv.tv
http://library.cmu.ac.th
www.thaifest.org
www.tiewpakklang.com