เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ นักวิชาการด้านการศึกษา กลุ่มคณะบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ออกมาคัดค้าน กรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันได้ โดยมองว่า ทำให้เด็กที่เรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเรียน 5 ปี เสียสิทธิ์ ว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะโรงเรียนเอกชนก็เปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรีคณะ/สาขาอื่นมาเป็นครู อีกทั้งการคัดเลือกครูตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ก็เปิดกว้างรับเด็กที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นมาสมัครสอบแข่งขันเป็นครูได้ แต่ครั้งนี้ถือว่าดีกว่า เพราะให้มีการสอบที่วัดความเป็นครูรวมอยู่ด้วย ซึ่งแม้ผู้ที่จบจากสาขาอื่น จะสอบขึ้นบัญชีเป็นครูผู้ช่วยได้ แต่ก็ยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ทันทีต้องเข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนดก่อน
รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ประเด็นนี้ ถือเป็นเรื่องสิทธิในการสอบ
ส่วนประเด็นที่เด็กเรียนครู หลักสูตร 5 ปี จะได้สอบช้ากว่าเด็กที่เรียน 4 ปี เป็นเรื่องมาตรฐานการเรียน ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ที่นักวิชาการเสนอมามากคือ ให้ทบทวนการผลิตครูทั้งระบบ ว่า
การผลิตครูจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนเหมือนสมัยก่อนหรือไม่ สถาบันผลิตครูต้องไปหารือร่วมกับคุรุสภา ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานการผลิตครู
หากคิดว่า สามารถผลิตครูให้ได้มาตรฐาน ตามที่คุรุสภากำหนดภายใน 4 ปี ก็เปิดสอน 4 ปี อย่านำประเด็น 4 ปี 5 ปีมาเถียงกัน เรื่องนี้อยากให้เราช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่โวยวายอย่างเดียว
ขอบคุณข่าวจาก
Matichon Online