ในโรงเรียนมัธยมแทบทุกที่ทั่วโลก จะต้องมีนักเรียนวัยรุ่นที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายทางการเมืองต่างๆ และการแสดงออกทางความคิดต่อประเด็นที่เกิดขึ้นนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางความรู้สึกที่ไม่ดี เกิดความสับสน วิตกกังวล เด็กบางคนอาจจะกลัวถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม กลัวไม่ได้รับการยอมรับ หรือสูญเสียสิทธิต่างๆ ถ้าหากพูดคุยและแสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นออกไป
แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากการพูดคุยหรืออภิปรายประเด็นทางสังคมในชั้นเรียนจะทำอย่างเป็นปกติ เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กได้คิด มีความรู้สึกปลอดภัยและมีพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเหมาะสม บรรดาคุณครูจากทั่วโลก ได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์การรับมือกับเรื่องนี้ว่า “แม้เด็กๆ ส่วนมากหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม แต่นั่นก็ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับครูที่จะต้องหาวิธีการช่วยเหลือและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้น และนี่คือ
10 เคล็ดลับ การพูดคุยประเด็นเหตุการณ์บ้านเมืองในโรงเรียน ที่คุณครูจากทั่วโลกได้แบ่งปันให้นำไปใช้กับนักเรียนของคุณ”
1.ทำให้เป็นเรื่องปกติในชั้นเรียน
ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องยาก ที่จะทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่ถกถียงกันอยู่ในสังคมให้ดูเป็นเรื่องปกติ แต่การสร้าง
ขั้นตอนปฏิบัติในชั้นเรียน (Classroom procedures) สามารถช่วยให้การสนทนาและการอภิปรายประเด็นต่างๆ เหล่านั้น เป็นไปอย่างราบรื่น
โดยในช่วงเริ่มต้นปีการศึกษา ให้คุณครูสร้างแนวทางหรือหลักเกณฑ์สำหรับ Class discussions ขึ้นไว้เป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน เช่น อะไรคือลักษณะการเป็นผู้ฟังที่ดี? ทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกอยากรับฟังและทำความเข้าใจ? จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีนักเรียนบางคนแสดงออก หรือรู้สึกร่วมมากเกินไป? จากนั้นติด Guidelines เหล่านั้นไว้ในห้องเรียน และหมั่นทบทวนเป็นระยะๆ หรือแปะ Guidelines นี้ไว้ตลอดการอภิปราย ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกแปลกแยก คลายความกังวล และช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วม
2.ต้องแน่ใจว่า นักเรียนทุกคนได้รับข้อมูลพื้นฐานตรงกัน
เพราะไม่ใช่ว่านักเรียนทุกคนจะสนใจเรื่องการบ้านการเมือง หรือสามารถเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ได้เหมือนกันดังนั้น ก่อนเริ่มต้นบทสนทนาในชั้นเรียน ครูควรให้ข้อมูลพื้นฐานหรือข้อสรุปอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับประเด็นที่จะคุยไว้ก่อน เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจได้ตรงกันว่ากำลังพูดถึงเรื่องไหนนั่นเอง
3.ให้คำอธิบายและความชัดเจนในประเด็นต่างๆ
บ่อยครั้งที่อารมณ์ของเด็กนักเรียนมาจากความสับสน หวาดกลัว และการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง นักเรียนจึงคาดหวังข้อมูลที่ชัดเจนจากครูของพวกเขา ดังนั้น อย่าลืมบทบาทหน้าที่ของการเป็นครู ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือของเด็ก แม้ว่าบางครั้งคุณจะไม่สามารถตอบคำถามนักเรียนได้ แต่คุณก็สามารถค้นหาคำตอบไปพร้อมกับนักเรียนได้ และในกรณีที่ค้นหาข้อมูลแล้วพบว่าเรื่องดังกล่าวที่ได้รับมาเป็นข่าวปลอม ก็ให้เด็กๆ ฝึกประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวนั้นไปในตัว
4.หลีกเลี่ยงการโต้แย้งและปะทะคารม
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรืออภิปรายในชั้นเรียน แน่นอนว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นการแบ่งปันความคิดเห็นในหลากหลายแง่มุม ตราบเท่าที่อยู่ภายใต้บริบทของการจัดการชั้นเรียนที่ดี แต่เมื่อเด็กนักเรียนเริ่มหงุดหงิดการโต้วาทีหรือการอภิปรายนั้น ก็สามารถนำไปสู่ความขัดแย้ง มีปากเสียงจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทได้ในที่สุด เพื่อเป็นการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากการแลกเปลี่ยนไอเดียเพื่อเปลี่ยนใจฝ่ายตรงข้าม ครูควรกำหนดบทสนทนาไว้ว่ามีเป้าหมายเพียงเพื่ออยากให้นักเรียนร่วมกันทำความเข้าใจในประเด็นที่คุยมากกว่า
5.ครูวางตัวเองเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก
ในชั้นเรียน ให้ครูวางตัวเองเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่การชักจูงหรือชี้นำความคิดของนักเรียน แต่เป็นการให้พื้นที่อิสระแก่นักเรียน ในการพัฒนาความคิดตัวเอง ผ่านการสนทนาหรืออภิปรายหัวข้อต่างๆ โดยที่นักเรียนจะรู้สึกว่าการแสดงออกทางความคิดของตัวเองนั้นปลอดภัย และจะไม่มีปัญหาอะไรตามมา
6.สะท้อนสิ่งที่ได้ยินและสนับสนุนให้นักเรียนทำเช่นเดียวกัน
การทวนสิ่งที่คุณได้ยินจากนักเรียนกลับไปอย่างเข้าใจง่าย จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำให้นักเรียนเข้าใจอารมณ์และความคิดของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นหรือเหตุการณ์ที่กำลังพูดคุยกันอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงความเข้าใจต่อสิ่งที่เด็กๆ พูดหรือแสดงออก ซึ่งครูควรจะทำตามเทคนิคนี้ให้นักเรียนเห็นเป็นปกติ และส่งเสริมให้เด็กทำการทวนสิ่งที่ได้ยินก่อนอภิปรายตอบกลับเพื่อนร่วมชั้นด้วยเช่นกัน
7.ให้พื้นที่นักเรียนได้แสดงความรู้สึก
ถ้าหากนักเรียนเริ่มมีความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี หลายๆ ครั้งที่ผู้ใหญ่พยายามจะให้เด็กทำตัวร่าเริงสดใส เมื่อเห็นว่าเด็กเหล่านั้นกำลังรู้สึกแย่หรือเสียใจ ซึ่งเป็นการสื่อว่า พวกผู้ใหญ่ต้องการที่จะขจัดความรู้สึกกังวลของตัวเองออกไปมากกว่าช่วยเหลือเด็กให้อยู่กับความรู้สึกนั้นได้
ดังนั้น เมื่อเด็กๆ แสดงความเห็นต่อกันอย่าง “เธอไม่มีสิทธิ์รู้สึกแบบนั้นนะ” ครูก็ควรยอมรับอารมณ์ของเด็ก และส่งเสริมให้มีการแสดงออกอย่างถูกต้อง รวมถึงสนับสนุนให้พวกเขารู้จักการแยกแยะและยอมรับความรู้สึกของเพื่อนด้วย จงจำไว้ว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันและเราไม่รู้ว่าประสบการณ์ชีวิตที่เด็กๆ แต่คนพบเจอมาเป็นอย่างไร เมื่อคุณกำหนด Classroom norms ขึ้นมา ก็ควรให้ระเบียบต่างๆ อยู่ภายใต้การคำนึงถึงความแตกต่างและประสบการณ์ของเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญ
(บทความ
ห้องเรียนแนวใหม่ เพื่อการพัฒนาภาวะทางอารมณ์)
8.ให้เวลาและอิสระในการแสดงสิ่งที่คิด
ให้เวลากับนักเรียนเพื่อเขียนหรือสร้างผลงานที่สะท้อนความคิดต่างๆ อย่างเป็นอิสระ เน้นย้ำให้เด็กๆ รู้ว่า การเสนอแนะหรืออภิปรายลักษณะนี้ เป็นการฝึกให้นักเรียนมีอิสระทางความคิด แน่นอนว่ามันจะไม่มีผลกับเกรด และครูก็ต้องยินดีรับฟังผลตอบรับหรือความคิดของเด็กๆ ในเรื่องวิธีการที่จะปรับปรุงและพัฒนาการอภิปรายในชั้นเรียนด้วยเช่นกัน
9.ช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่รู้สึกลำบากและกังวลใจ
ถ้ามีนักเรียนคนไหนที่ดูเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ หรืออารมณ์เสียเป็นพิเศษ อาจจะเพราะมีปัญหาที่บ้าน ครูอาจจะต้องใส่ใจและให้คำปรึกษากับเด็กคนนั้นเป็นการส่วนตัว หรือหากคุณรู้ว่ามีบางอย่างที่ไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ ก็อาจขอความช่วยเหลือยังแหล่งอื่นๆ ในชุมชน เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสิ่งที่จำเป็นในการมาเรียนได้อย่างสบายใจต่อไป
10.ให้งานกลุ่มที่เกี่ยวกับการอภิปราย
โครงงานในชั้นเรียน สามารถช่วยสร้างความสามัคคีและการเข้าร่วมกลุ่มทางสังคมในห้องเรียนได้ มันแสดงให้เด็กๆ เห็นว่า แม้เราจะมีการโต้เถียงหรือการแสดงความเห็นไม่ตรงกันนั้น แต่เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้
เราหวังว่าเคล็ดลับทั้ง 10 ข้อนี้ จะทำให้น้องๆ และคุณครูสามารถพูดคุยกันในห้องเรียน ทั้งเรื่องการเมือง สังคม หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างราบรื่น หรือแม้ไม่ใช่กับการพูดคุยเรื่องเหตุบ้านการเมือง ก็นำไปปรับใช้กับการเรียงเชิงวิพากษ์ ที่ต้องการความเห็น หรือมุมมองที่หลากหลาย ให้ความสำคัญกับทุกความรู้สึกอย่างเท่าเทียม ไม่มีผิดไปเสียทุกอย่าง หรือถูกไปทุกสิ่ง แล้วห้องเรียนของเราจะสนุกขึ้นอีกล้านเปอร์เซ็นต์
ข้อมูลจาก
TEDEd