สอบเข้ามหาวิทยาลัย

“ 5 อาชีพด้านกีฬา ” เปลี่ยนความหลงใหล ให้เป็นอาชีพสุดเจ๋ง!!

นอกจาก สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา จะช่วยสร้างน้องๆ ให้เป็นนักกีฬาอาชีพแล้ว ยังพัฒนาให้เราสามารถทำงานในสาขากีฬาได้หลากหลายตามความชอบและความถนัดอีกด้วย และนี่คือ “5 อาชีพสุดเจ๋งด้านกีฬา” ที่เราจะมาแนะนำให้น้องๆ เอาไปประกอบการตัดสินใจโดยไม่ต้องกังวลว่าเลือกเรียนสาขาที่ชอบแล้วจบไปจะไม่มีงานทำ

 
UploadImage
 
 
1. โค้ช/ผู้ฝึกสอนกีฬา (Coach) 
น้องๆ คนไหนใฝ่ฝันจะเป็นนักกีฬาแต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย หรือสนใจอยากทำงานอยู่เบื้องหลังเพื่อนำพาให้นักกีฬาหรือทีมประสบความสำเร็จมากกว่า พร้อมกับชอบความท้าทาย สามารถใช้หลักการความรู้เพื่อวางแผนรูปแบบการฝึกกีฬาแต่ละประเภทให้ประสบผลสำเร็จ และสามารถจัดโปรแกรมการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละคนได้ อาชีพโค้ชนักกีฬาจะเป็นเส้นทางที่เหมาะสมกับน้องๆ มากที่สุด

UploadImage
 
2. เทรนเนอร์ (Trainer)
อาชีพมาแรงในยุคที่ผู้คนต่างหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อย่าง Trainer แน่นอนว่าเป็นอาชีพที่ตลาดงานยังขาดแคลนคนที่มีความรู้ซึ่งจบสาขานี้โดยตรง ด้วยความสามารถทางด้านกีฬาและการได้รับความรู้ที่ถูกหลัก น้องๆ สามารถทำงานเป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส สปอร์ตคลับ สถานศึกษา องค์กรกีฬา หรือเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวก็ได้

UploadImage
 
3. นักวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport Scientist)
ทุกทีมกีฬาต่างก็ต้องมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำอย่างน้อย 1 คน เพื่อช่วยดูแลนักกีฬาและทำงานร่วมกับโค้ช โดยใช้หลักวิชาการที่ได้เรียนมาดูแลนักกีฬาในทุกด้าน ทั้ง โภชนาการ เทคนิคกีฬา จิตวิทยา ตลอดจนการดูแลสุขภาพร่างกายนักกีฬาอย่างเป็นขั้นตอน อาจแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนงานเอกสาร การหาข้อมูล และจัดทำข้อมูล จดบันทึกความคืบหน้าของงานต่างๆ และส่วนงานนกลางแจ้ง คือการฝึกและให้ความรู้กับนักกีฬา

 UploadImage

4. นักเวชศาสตร์การกีฬา (Sports medicine)
อาชีพนี้อาจฟังดูคล้ายกับ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่จะเน้นในด้านของการป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กับนักกีฬาทั้งในสภาวะปกติและในระหว่างการฝึกซ้อม เพื่อช่วยเสริมสมรรถภาพทางกายของนักกีฬาให้อยู่ในสภาวะสมบูรณ์พร้อมที่สุด รวมทั้งทำการทดสอบร่างกายตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ เพื่อประเมินสมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางการกีฬา นักเวชศาสตร์การกีฬาส่วนมากจะทำงานบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือประจำตามทีมกีฬา รวมถึงเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการในสาขาต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเวชศาสตร์การกีฬา

UploadImage

5. นักจิตวิทยาการกีฬา (Sports Psychology)
เพราะจิตใจ ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อความสามารถทางกายภาพและนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในตนเองโดยตรงของนักกีฬา ดังนั้น จิตวิทยาทางการกีฬา หรือ Sports Psychology จึงเป็นอีกสาขาหนึ่งในวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีความจำเป็นสำหรับนักกีฬาทุกๆ คนในการแข่งขัน และสำหรับในประเทศไทย ผู้ที่เชี่ยวชาญหรือทำงานด้านจิตวิทยาทางการกีฬาในประเทศไทยยังถือว่ามีจำนวนน้อยมาก

UploadImage

น้องๆ หลายคนที่ชื่นชอบและมีความสนใจด้านกีฬา ไม่ว่าจะชอบเล่นกีฬา ชอบดูการแข่ง หรือชอบนักกีฬาก็ตาม(ฮา) หากคิดว่าการทำสิ่งเหล่านี้หรือคลุกคลีอยู่กับมันแล้วมีความสุข ก็อย่าลังเลที่จะเลือกอนาคตของตัวเองโดยเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยทางสายกีฬาหรือสายสุขภาพ และอย่าเพิ่งเป็นกังวลว่าตัวเองกล้ามไม่ใหญ่ หุ่นไม่เฟิร์ม หรือเล่นกีฬาไม่เก่งขนาดติดทีมชาติ เพราะสาขา วิทยาศาสตร์การกีฬา นี้ เป็นสาขาอาชีพที่แนวโน้มตลาดการทำงานจะขยายวงกว้างและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากวงการกีฬาอาชีพทั้ง ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล หรือแม้แต่สายสุขภาพอย่างฟิตเนส ที่พัฒนาขึ้นและได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย

หลักสูตรที่เกี่ยวข้องด้าน
สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา  

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 

คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา       มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา   มหาวิทยาลัยบูรพา

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย    มหาวิทยาลัยมหิดล

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ      มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

วิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา       มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดูมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเพิ่มเติม คลิกที่นี่