สอบเข้ามหาวิทยาลัย

โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คุรุทายาท)

 
UploadImage

จากที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  ทั้งนี้ให้ดำเนินโครงการฯ ในช่วง 3 ปี คือในช่วง พ.ศ.2559-2561 ก่อน   ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไป พ.ศ.2562-2572 ให้นำไปบรรจุในแผนปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่  29 มีนาคม 2559 
 
สำหรับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นการนำร่องการผลิตครูระบบจำกัดรับ (ระบบปิด)   ในสาขาวิชาและพื้นที่ที่เป็นความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครู ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) โดยดึงดูดคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครู ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น และเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นครูที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพและมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู แล้วบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและลดปัญหาเรื่องการโยกย้าย



เงื่อนไข
  • จบการศึกษาแล้ว  บรรจุในภูมิลำเนาเดิม เน้นเขตพื้นที่การศึกษาที่ตนเองมีภูมิลำเนาเป็นลำดับแรก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน 2 ปี ตามกฎหมายเลือกตั้ง) , หากในเขตพื้นที่ไม่มีคนสมัคร จะพิจารณาผู้สมัครในจังหวัดเดียวกันเป็นลำดับต่อไป
  • กรณีรับทุน ป.ตรี(เด็กชายขอบ) หากรับทุนขอลาออกจากการเป็น นศ. หรือไม่ยอมเข้ารับราชการ ต้องชดใช้ทุนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยปรับอีก 1 เท่า
  • กรณีไม่ได้รับทุน ป.ตรี หากขอลาออกจา นศ. หรือไม่ยอมเข้ารับราชการ ต้องชดใช้เงิน 200,000 บาท
  • บรรจุเป็นครูเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี จะมีสิทธิ์ขอย้าย
  • รับราชการแล้ว 3 ปี จึงสามารถสอบชิงทุน ป.โท ต่างประเทศ 50 ทุน และทุน ป.โท ในประเทศ 50 ทุน (10 รุ่น ทุนปี 62-71)
  • กรณีทุน ป.โท ในประเทศ มีข้อผูกพัน ต้องปฏิบัติงานเป็นเวลา 1 เท่าของเวลารับทุน(2 ปี) หากไม่ปฏิบัติงาน ต้องชดใช้ทุนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยปรับ 1 เท่า 
  • กรณี ทุน ป.โท ต่างประเทศ มีข้อผูกพัน ต้องปฏิบัติงานเป็นเวลา 2 เท่าของเวลารับทุน(4 ปี) หากไม่ปฏิบัติงาน ต้องดใช้ทุนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยปรับอีก 1 เท่า 
  • กลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับโครงการ
    • รับ นศ. เรียนหลักสูตร 5 ปี ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์อุตสาหกรรม
    • รับ นศ. ที่จบสายวิชาชีพ แล้วต่อ ป.บัณฑิต ในสาขาวิชาขาดแคลน คือ
                  - สาขาช่าง วิชาชีพต่างๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างเครื่องกลโรงงาน เกษตรกรรม การประมง เป็นต้น
                 - สาขาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เช่น โยธา ไฟฟ้า อุตสาหการ
                 - สาขาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น)
  • กรณีกู้ กยศ. ต้องทำสัญญายินยอมให้หักเงินเดือนล่วงหน้า
UploadImage
 

และเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศรับสมัครไปแล้วทั้งสิ้น  4,079 คน ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก มีกิจกรรมจัดขึ้นช่วงเดือนก.ค  - ต.ค 59  ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สมัครมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นครูอัตราจ้างหรือพนักงานราชการในสาขาต่างๆ ก็มีสิทธิ์สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้ด้วย

สำหรับหลักการในการเข้าร่วมโครงการ จะรับเด็กที่จบ ม.6 แต่หากรอดำเนินการก็จะใช้เวลากว่า 5 ปี จึงจะจบการศึกษา จึงได้เริ่มต้นโครงการในปีแรกเป็นรุ่นพิเศษ โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 นิสิตนักศึกษาครูหลักสูตรระดับปริญญาตรี (5 ปี) ที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2558 โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ในระดับชั้นปีที่ 1 ถึงภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 5 ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00

กลุ่มที่ 2 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการผลิตครู 5 ปี  ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00

กลุ่มที่ 3 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ระดับปริญญาตรี ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครูระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู  ไม่ต่ำกว่า 3.00

กลุ่มที่ 4 ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ที่ ก.ค.ศ.รับรอง โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ระดับปริญญาตรี ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก ไม่ต่ำกว่า 3.00

ในการสมัคร ผู้สมัครทุกคนสามารถระบุเลือกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ 3 อันดับ โดยเลือกให้ตรงกับภูมิลำเนาของตนเอง    ซึ่งสามารถเลือกประเภทสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. ซึ่งรับได้จำนวน 3,845 คน หรือสถานศึกษาอาชีวศึกษา สังกัด สอศ. รับได้จำนวน 224 คน หรือสำนักงาน กศน.จังหวัด ซึ่งรับได้จำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้น 4,079 คน ส่วนในปีหน้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเข้าร่วมโครงการด้วย ( นั่นหมายถึง ปี 2560 )

ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการในปีแรกทั้ง 4 กลุ่ม จะต้องสอบคัดเลือกใน 3 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ครบทั้ง 3 วิชา โดยต้องได้คะแนนในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และได้คะแนนรวมของ  3 วิชา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60  จึงจะนำคะแนนมาพิจารณาคัดเลือกตามอันดับที่เลือกไว้และบรรจุเข้ารับราชการต่อไป


โดยรายละเอียดระเบียบการรับสมัครนั้น สามารถติตามดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ หรือ สทศ.

ระเบียบการรับสมัคร ประจำปี 2559 ที่ผ่านมา คลิกที่นี่

ส่วนประกาศรับสมัครประจำปีการศึกษา 2560 นั้น ยังไม่มีประกาศออกมานะคะ สำหรับผู้ที่สนใจให้ติดตามเว็บไซต์ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ http://www.admissionpremium.com/