สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รมว. กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือ เด็กเรียนมาก ท่องจำมากกว่าคิดวิเคราะห์

UploadImage

โดยในการหารือร่วมกัรระหว่างเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเด็นหลักจะอยู่ที่เรื่องการที่เด็กนักเรียนในปัจจุบันได้เรียนมากไป และระบบการเรียนการสอนยังคงสอนให้เด็กจำมากไป คิดวิเคราะห์ไม่เป็น

พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้เข้าพบพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือและให้ข้อเสนอการแก้ไขการศึกษาชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุม MOC กระทรวงศึกษาธิการ  โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมรับฟังและหารือ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการหารือว่า ตัวแทนเครือข่ายดังกล่าวได้มาหารือร่วมกันในประเด็นหลักๆ คือ การที่เด็กนักเรียนในปัจจุบันได้เรียนมากไป และระบบการเรียนการสอนยังคงสอนให้เด็กจำมากไป คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการในเวลานี้ เช่น นโยบายการปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียน ที่จะลดเวลาเรียน-เพิ่มเวลารู้ ในช่วงภาคบ่าย, นโยบายการปฏิรูปการศึกษา, นโยบายการลดภาระงาน/กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครูและนักเรียน, นโยบายการสอนให้เด็กใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจ มากกว่าใช้ความรู้สึกตามกระแสสังคม

นอกจากนี้ ได้หารือร่วมกันถึงการพัฒนาครูอย่างไรที่จะสามารถสอนเด็กให้สอดคล้องกับแนวนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะว่าไปแล้ว 90% ที่ได้หารือกันวันนี้ ตรงกับทิศทางที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการในเวลานี้อยู่แล้ว เพียงแต่เลือกวิธีปฏิบัติและนำข้อเสนอแนะมาปรับใช้

ส่วนประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานั้น ส่วนตัวเห็นว่าหลักสูตรปัจจุบันก็ยังคงเหมาะสมอยู่ และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรไม่ใช่ทำกันง่ายๆ แต่ต้องอาศัยผู้รู้จำนวนมาก จึงเห็นตรงกันว่าต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตร ที่จะต้องให้การเรียนการสอนมีความทันสมัยมากขึ้น และชี้ให้เห็นว่าเมื่อเด็กเรียนตามหลักสูตรไปแล้ว ตรงกับช่องทางความถนัดของตนเองด้านใดบ้าง เพื่อให้เด็กมีความคิดที่จะเลือกเส้นทางตามความถนัด ทั้งสาขาวิชาที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือออกไปทำงาน ดังนั้นหากเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนแล้วได้ผล ก็อาจไม่ต้องปรับหลักสูตรก็ได้

สำหรับข้อเสนออื่นๆ เช่น เด็กไทยทุกคนควรได้มีโอกาสเรียนภาษาต่างประเทศอีก 1 ภาษา อาจเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน ฯลฯ ก็ตรงกับแนวคิดที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการในเวลานี้ตามนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร



ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี