สอบเข้ามหาวิทยาลัย

รองคณบดีรามาฯชงเพิ่มเกรดเกียรตินิยมเป็น 3.75

UploadImage

ปรับเกณฑ์นักศึกษาคว้า “เกียรตินิยม” เข้มขึ้น เผยเด็กเก่งจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีวัดผลภาคปฏิบัติ
                เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยกรณีที่ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ขอให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทบทวนการประเมินในรายวิชาต่างๆ หลังพบว่าในปีการศึกษา 2557 มีผู้ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 ครึ่งหนึ่งของนักศึกษาทั้งคณะที่เหลือ 2 ใน 3 เป็นเกียรตินิยมอันดับ 2 และมีจำนวนน้อยมากที่ไม่ได้รับเกียรตินิยมว่า ปีการศึกษา 2557 มีผู้ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต 180 คน แบ่งเป็นเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 33 คน เกียรตินิยมอันดับ 2 จำนวน 38 คน ถือเป็นตัวเลขปกติ โดยในปีที่ผ่านๆมา ตัวเลขผู้ไดรับเกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 รวมกันอยู่ที่ประมาณ 50% ของจำนวนบัณฑิตทั้งหมด โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้กำหนดเกณฑ์กลางไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ต้องได้รับเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.5 อันดับ 2 ไม่ต่ำกว่า 3.25 อย่างไรก็ตาม เด็กที่สอบเข้าเรียนในคณะแพทย์ศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นเด็กเก่ง แต่ละรายวิชาจะได้เกรด A อยู่แล้ว จึงไม่ได้หมายความว่ามหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน
                นพ.สุวัฒน์กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเข้มข้นตามมาตรฐานที่แพทยสภากำหนด แต่ก็ยอมรับว่าจำนวนผู้ที่ได้รับเกียรตินิยมมีมากเกินไป และขณะนี้กำลังหาวิธีลดจำนวนผู้ได้รับเกียรตินิยมลง ซึ่งจะต้องปรับวิธีการทดสอบ โดยในภาควิชาการไม่มีปัญหา เพราะยึดตามหลักคะแนนที่เด็กทำได้ แต่ส่วนที่จะไปดูแลให้เข้มข้นคือการสอบในภาคปฏิบัติ ที่อาจต้องปรับเรื่องการประเมิน จากเดิมที่ให้นำคะแนนมารวมกับภาควิชาการทำให้เด็กได้เกรด A มาเป็นผลสอบ มาเป็นผลสอบ “ผ่าน” กับ “ไม่ผ่าน” โดยไม่นำคะแนนปฏิบัติมามีผลต่อการตัดเกรดในวิชาอื่นๆ
                “ยอมรับว่าตัวเลขนักศึกษาที่ได้รับเกียรตินิยมมีมาก และได้กันง่ายเกินไป กลายเป็นค่านิยมของนักศึกษาแพทย์ว่าเรียนแล้วต้องได้เกียรตินิยม ซึ่งไม่ถูกต้อง กลายเป็นเกียรตินิยมเฟ้อ ที่ผ่านมาผมเคยเสนอให้มหาวิทยาลัยปรับการให้เกียรตินิยม จากเดิมที่กำหนดเกณฑ์กลางมาเป็นเลือกนักศึกษาที่ได้คะแนนสูงที่สุด 5 อันดับแรกของคณะเท่านั้น แต่คณะอื่นๆไม่เห็นด้วย ข้อเสนอนี้จึงไม่ได้รับการตอบรับ แต่ปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไข โดยผมอยากเสนอให้คณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับคะแนนเกียรตินิยมเป็น 3.75 เพื่อให้เด็กที่ได้เกียรตินิยมเป็นเด็กที่เก่งจริงๆของแต่ละรุ่น” นพ.สุวัฒน์กล่าว
                นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับเกียรตินิยมในแต่ละปีมีความใกล้เคียงกัน โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ยึดการประเมินแบบอิงเกณฑ์ เพราะเด็กที่สอบเข้ามาเรียนมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง แบ่งเป็นกลุ่มเด็กเก่งมาก อาทิ กลุ่มที่ชนะการแข็งขันโอลิมปิกวิชาการ เด็กที่สอบผ่านระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เป็นต้น หากใช้การประเมินแบบอิงกลุ่ม จะทำให้เด็กที่เรียนในระดับกลางๆมีปัญหา ซึ่งการประเมินแบบอิงเกณฑ์ดังกล่าวทให้มีผู้สอบได้เกียรตินิยมจำนวนมาก แต่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ยืนยันว่าการเรียนการสอนเป็นไปตามมาตรฐานแน่นอน และเท่าที่ดูจากการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเฉพาะทางที่ผ่านมา ผู้ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯจะสอบผ่านทุกคน
                “เข้าใจว่าตอนนี้สังคมรู้สึกว่าเด็กคณะแพทย์ได้เกียรตินิยมเฟ้อเกินไป ซึ่งในคณะแพทย์ก็ได้พูดคุยกัน และตรงกับช่วงที่คณะแพทย์ก็ได้พูดคุยกัน และตรงกับช่วงที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กำลังปรับหลักสูตรใหม่ที่ต่างจากเดิม เน้นกระบวนการคิดวิเคราห์ประเมินผมมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่ได้รับเกียรตินิยมลดลงโดยอัตโนมัติ” นพ.ประสิทธิ์กล่าว



ข่าวและภาพจาก : มติชน