สอบเข้ามหาวิทยาลัย

10 ธันวาคม วันสิทธิมนุษยชน


 วันสิทธิมนุษยชนตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม มีการเฉลิมฉลองทั่วโลก
 
 
UploadImage
 

    สิทธิมนุษยชน (Human Right) นั้น หมายถึง สิทธิในความเป็นมนุษย์ทั่วๆไป อย่างถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมถือว่ามี สิทธิอันติดตัวมาพร้อมกับการที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์อยู่แล้ว อันถือเป็นที่ยอมรักในสากลนานาชาติ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ หรือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) ก็ได้เขียนไว้ในเรื่อง สิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ในกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ นั่นคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ก็ยังได้บัญญัติถึง หลักสิทธิมนุษยชน ว่าด้วยเรื่องสิทธิและ เสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งบัญญัติถึง สิทธิพื้นฐานของพลเมืองไทย

ความเป็นมาของวันสิทธิมนุษยชน

           ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ตระหนักว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดสันติภาพแลความเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลก ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น เพื่อเป็นองค์การโลกที่จะคุ้มครองมนุษยชาติให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491  และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) 

         หลังจากนั้นสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเมื่อ พ.ศ. 2495 ให้ร่างตราสารสิทธิมนุษยชนขึ้น 2 ฉบับ โดยให้ใช้ชื่อว่า กติกา (convenant) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมืองฉบับหนึ่ง และอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยผ่านการรับรองเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2519 ตามลำดับ และต่อมาได้มีมติประกาศให้ปี ค.ศ. 1995-2004 เป็นทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษาของสหประชาชาติ

          ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้กันมาในอดีต ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษชนไว้เป็นบางส่วน จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ได้เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ค่อนข้างจะสมบูรณ์ เช่น "มาตราที่ 4  ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง" ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 ที่กล่าวไว้ว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสรเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" นับได้ว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" เพิ่งได้รับการบัญญัตืในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นครั้งแรก ดังนั้น การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

          นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังได้บัญญัติองค์กรอิสระ เรียกว่า "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน" เข้าไว้ด้วยในมาตรา 199 และ 200 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีจำนวน 11 คน มาจากการสรรหา อยู่ในวาระ 6  ปี มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

   1. ตรวจสอบและรายงานการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี

   2. เสนอมาตราการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงาน ต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

   3. เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฏหมาย กฏหรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

           สหประชาชาติได้แสดงความห่วงใยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ผู้ไร้ที่อยู่ในประเทศ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มศาสนา ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และสื่อมวลชน ต่อการกระทำทารุณเด็ก การใช้แรงงานเด็ก การเกณฑ์เด็กเป็นทหาร เด็กกำพร้าเด็กเร่ร่อน เด็กข้างถนน โสเภณีเด็ก เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา การลักลอบค้าอาวุธสงครามขนาดเล็ก กับระเบิด การทำทารุณต่อนักโทษ ความแออัดในเรือนจำ การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักโทษ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.lib.ru.ac.th