สถาบัน Credit Suisse ได้จัดทำรายงานความร่ำรวยระดับโลกประจำปี 2016 และพบว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากที่สุด ด้วยเหตุว่าอัตราทรัพย์สินในประเทศกว่า 74.5 เปอร์เซ็นต์ ถูกควบคุมโดยบุคคลที่ร่ำรวยอยู่บนยอดปิรามิดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมดเท่านั้น
ส่วนในประเทศอินเดียและประเทศไทย มหาเศรษฐีระดับท็อป 1 เปอร์เซ็นต์ที่ว่า ครอบครองทรัพย์สินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่ารวมทรัพย์สินทั้งประเทศขณะที่ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศบราซิล ก็เกิดความไม่เท่าเทียมของการครอบครองทรัพย์สินในลักษณะเดียวกัน ด้วยอัตราทรัพย์สิน 50 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในมือของคน 1 เปอร์เซ็นต์
ในภาพรวมแล้ว รายงานนี้บอกเราว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจยังเป็นปัญหาหลักใน ‘เกือบทุกภูมิภาคของโลก’ “พวกเราคาดว่ามีประชากรกว่าครึ่งของโลกที่ยากจน และมีทรัพย์สินรวมกันต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารวมทรัพย์สินทั้งหมด ขณะที่เหล่าผู้ที่มั่งคั่งที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ครอบครองทรัพย์สินกว่า 89 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ท็อป 1 เปอร์เซ็นต์นั้นครอบครองไปมากกว่าครึ่งของทรัพย์สินของทั้งโลก”
เมื่อเทียบกับรายงานของปีที่แล้ว Credit Suisse ได้ระบุว่าสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระดับรายได้มากที่สุดในโลกในด้านของการเพิ่มฐานะทางการเงินต่อครัวเรือน ขณะที่สวิสเซอร์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดต่อหัวประชากร
ขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักรก็ได้ครองตำแหน่งประเทศที่สูญเสียฐานะทางการเงินของครัวเรือนมากที่สุด เนื่องด้วยการผลการลงคะแนน Brexit และค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลงหลังจากนั้น โดย Credit Suisse คาดการณ์ว่าการตัดสินใจออกจากอียู ทำให้สหราชอาณาจักรสูญเสียฐานะทางการเงินไปกว่า 1.5 ล้านล้านปอนด์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : The MATTER , www.independent.co.uk