พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เป็นพิธีการที่มีความหมายยิ่งสำหรับบัณฑิตทุกคนที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญทางด้านการศึกษาซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องคือ การเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ และพระราชทานพระบรมราโชวาทอันทรงคุณค่าแก่บัณฑิต เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพในสาขาวิชาต่างๆ ที่ได้ร่ำเรียนมา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ระหว่างปี พ.ศ.2493-2541 พระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่บัณฑิตเป็นประจำทุกปีนับเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งในชีวิตซึ่งบัณฑิตทุกคนยังจารึกไว้ในความทรงจำและน้อมนำไปปฏิบัติจริง
“…สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาและอนุปริญญาในวันนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีด้วย เพราะการที่บรรลุถึงผลขั้นสุดท้ายของการศึกษา เช่นที่ได้ปฏิบัติมานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและน่าสรรเสริญ แต่ขอให้นึกอยู่เสมอว่า เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว ยังมีคนเป็นจำนวนมากที่เอาใจใส่เฝ้าดูการกระทำของท่านอยู่ต่อไป ใครทำดีก็ได้รับคำชมเชยและสรรเสริญ ใครทำไม่ดีเขาก็จะพากันติ และพลอยติชมถึงสถานศึกษาของท่านด้วย ชื่อมหาวิทยาลัยของท่านคือ “จุฬาลงกรณ์” จะติดตัวท่านไปด้วยเสมอไม่ว่าจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่ว ฉะนั้น ทุกๆ ครั้งที่ท่านจะกระทำสิ่งใดลงไปจงคิดแล้วคิดอีก ทบทวนดูทั้งทางได้ทางเสียให้แน่ชัดเสียก่อน “จุฬาลงกรณ์” หาได้เป็นแต่เพียงชื่อของมหาวิทยาลัยนี้เท่านั้นไม่ ยังเป็นนามของผู้พระราชทานกำเนิดของสถานที่แห่งนี้ด้วย ฉะนั้น จึงเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้…”
พระปฐมบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่บัณฑิตจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2493 ได้ให้ข้อคิดที่เปี่ยมด้วยความหมายยิ่งถึงคุณค่าของบัณฑิต แม้จะจบการศึกษาไปแล้ว แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของสถาบันการศึกษาจะติดตัวบัณฑิตทุกคนไปตลอดชีวิต
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีต่อมา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2494 ทรงเน้นถึงความสำคัญของบัณฑิตซึ่งมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษา
“…การที่ท่านได้รับปริญญาบัตร เพียงแต่เป็นเครื่องชี้แสดงว่าได้ผ่านการศึกษารับความรู้ชั้นหนึ่งที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่คำว่า “บัณฑิต” นั้น ย่อมมีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ควรแก่นามว่า “บัณฑิต” นั้น นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องเป็นผู้มีจิตใจสูง มีศีล มีธรรม มีสติสัมปชัญญะ อดทนอดกลั้น ประพฤติแต่สิ่งที่ชอบที่ควร วางตนให้สมเกียรติ เป็นผู้ที่ควรแก่การนับถือเป็นแบบอย่าง…”
พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแก่บัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่ข้อคิดเตือนใจจากพระบรมราโชวาทยังคงใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งบัณฑิตทุกคนยังจดจำรำลึกไว้ด้วยความประทับใจตลอดไป